เครือข่ายดูแลต้นไม้ จับมือ กทม.จัดแข่งขันปีนต้นไม้ หวังเพิ่มรุกขกรในไทย

 

นายกสมาคมรุกขกรรม เผย 10 ปีนี้ แนวโน้มรุกขกรในไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ ด้าน ‘ชัชชาติ’ ตั้งเป้าให้มีรุกขกรในทุกเขต ชี้สำคัญกับการสร้างพื้นที่สีเขียว ระบุ กทม.มีสวนสาธารณะจำนวนมาก อาจใช้เป็นพื้นที่ฝึก

18 ธ.ค.2565 สมาคมรุกขกรรมไทย สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมแข่งขันปีนต้นไม้ Thailand Branch Out 2022 ณ สวนป่าเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร เพื่อค้นหา “รุกขกร”หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดแต่งดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี ประจำปี 2565 และเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อทำให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับงานรุกขกรดูแลต้นไม้ได้รู้จักกัน ซึ่งที่ผ่านมาหลังจากการแข่งขัน รุกขกรไทยได้รับเชิญเข้าแข่งขันระดับสากลในต่างประเทศ และส่งผลให้จำนวนรุกขกรในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้นและทำให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ และได้รับความร่วมมือจากรุกขกรนานาชาติ มาช่วยพัฒนารุกขกรไทย เพื่อเพิ่มพูนทักษะและความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริง 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องนี้สำคัญ และเราพูดมานาน กทม.ก็มักถูกตำหนิว่า ตัดต้นไม้สั้นเกินไป ความตั้งใจต้องมีรุกขกรทุกเขต ก่อนจะตัดต้นไม้ ต้องถามรุกขกรก่อนว่าตัดอย่างไรให้ต้นไม้อยู่รอด หากตัดเยอะไปก็อาจจะส่งผลให้ต้นไม้ตาย หากตัดน้อยไปอาจไม่ได้แก้ปัญหาและอาจมีโอกาสที่ต้นไม้จะหักและส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมไปถึงการเลือกต้นไม้  

กทม.ตั้งใจอยากให้มี รุกขกรทุกเขต โดยมองว่าต้นไม้เป็นทรัพย์สมบัติของเมืองที่มีคุณค่า ถ้าเกิดดูแลให้ดี ก็จะอยู่กับเมืองและสร้างร่มเงา ช่วยกรองฝุ่นและสร้างอากาศดี ๆ ต้องดูแลต้นไม้แบบเพื่อน เป็นสมบัติที่ต้องดูแลให้ดี กทม.จะแก้ปัญหาการตัดให้ดีที่สุดพยายามจะเพิ่มรุกขกรให้มาอบรมกับสมาคมรุกขกรรมไทยร่วมกัน และจริง ๆ กทม.ก็มีสวนสาธารณะที่อาจใช้เป็นพื้นที่ในการฝึกหลายแห่ง และตอนนี้มีโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ตอนนี้มีผู้ร่วมปลูกแล้ว 1 ล้าน 6 แสนต้น และหากในจำนวนนี้ไม่มีรุกขกรมาดูแลก็จะแย่อีก 

“คุยกับชาวฮ่องกง เขาบอกว่าฮ่องกงมีรุกขกรเกือบ 2 พันคน ทั้งที่ประเทศเขาเล็กกว่าเราตั้งเยอะ จริง ๆ ผมเองก็ไม่ได้มองว่าแค่ กทม.มันจะต้องมองทั้งประเทศนั่นแหละ รุกขกรทั่วประเทศ อาจจะเป็นงานในอนาคตก็ได้ เพราะอนาคตเรื่องพื้นที่สีเขียว ต้นไม้สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เลย เป็นอาชีพอนาคต สำหรับคนที่รักธรรมชาติ ต้องการการผจญภัย”

อนุกุล สอนเอก นายกสมาคมรุกขกรรมไทย กล่าวว่า ตลอดการจัดกิจกรรมมีการจัดอบรมเชิงเทคนิคเกี่ยวกับเรื่องของการวัดมวลต้นไม้ เทคนิคการกู้ภัยบนต้นไม้ขั้นสูง รวมถึงการจัดการแข่งขัน Thailand Branch Out ซึ่งเป็นการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย การแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 20 คน 

“จะเห็นได้ว่า งานรุกขกรรม ในรอบ 10 ปีมานี้มีการพัฒนาไปค่อนข้างไกลมาก และเราคาดหวังว่า สมาคมรุกขกรรมไทย และสมาคมเครือข่าย ยินดีให้ความร่วมมือกับการพัฒนางานทางด้านรุกขกรรม รวมถึงพัฒนาบุคลากร เกี่ยวกับเรื่องงานของต้นไม้เพื่อดูแลพื้นที่สีเขียวในอนาคต”

นิ นิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมแข่งขันครั้งนี้ กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกของเธอในการเข้าร่วม อาจจะไม่ได้รางวัลแต่คาดหวังว่าจะได้ทักษะเพิ่มเติมจากการร่วมกิจกรรมครั้งนี้เพื่อไปต่อยอดการทำงานในอนาคตของเธอได้

นอกจากกิจกรรมแข่งขันปีนต้นไม้ ยังมีกิจกรรม city park volunteer อาสาสมัครดูแลต้นไม้ และกิจกรรมปีนต้นไม้สำหรับเด็กและประชาชนทั่วไป รวมถึงการออกบูธ โดยองค์กรเครือข่ายและผู้สนับสนุนและสาธิตอุปกรณ์เกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ด้วย

ปัจจุบันมีการร่วมมือกันพัฒนางานด้านรุกขกรรมอย่างต่อเนื่องมานับเป็นปีที่ 5 ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีรุกขกรและผู้ปฎิบัติการบนต้นไม้ที่มีความรู้และประสบการณ์สอบผ่านการรับรองโดยสมาคมรุกขกรรมไทยกว่า 50 คนในจำนวนนี้มีรุกขกรจากหน่วยงานต่างๆของกรุงเทพมหานครจำนวน 5 คน และมีรุกขกรไทยที่ได้รับการรับรองจาก International Society of Arboriculture (ISA) จำนวน 3 คน 

ซึ่งแม้ประเทศไทยเริ่มรู้จักอาชีพ “รุกขกร”มากขึ้นแต่ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการในประเทศจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวน รุกขกร รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้เพียงพอ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active