ไอเดียเพิ่มสวนแก้ปัญหาน้ำท่วม ชนะรางวัล​ Greener Bangkok Hackathon 2022

UDDC ​​เสนอเร่งสร้างสวนใน พื้นที่ 6 โซน กทม. พระโขนง-บางนา วิกฤตสุด พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว 24 ตร.ม./คน ประชาชนเข้าถึงสวนใน 15 นาที ‘แฮกเกอร์’ เสนอใช้พื้นที่ร้านสะดวกซื้อสร้างสวนขนาดเล็ก กระจายทั่วกรุง 

วันนี้​ (6​ พ.ย.​ 2565)​ ที่งานประกาศรางวัล​ Greener Bangkok Hackathon 2022​ ผศ.นิรมล​ เสรีสสกุล​ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนา​เมือง​ (UDDC)​ กล่าวว่า​ พื้นที่สีเขียวใกล้บ้านคือส่วนสำคัญที่จะช่วยการเข้าถึงสวนสาธารณะได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสวน 15 นาทีของ​ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ​ ที่จะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสวนสาธารณะได้ในเวลา 15 นาที

“เมือง​ 15​ นาที​ เป็นนโยบาย​เมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วทำกันทั่วโลก ที่จะให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะในเวลา​  15​ นาที​โดยหลายเมืองเริ่มต้นจากการเลือกทำสวนสาธารณะก่อน” 

ผศ.นิรมล

ผศ.นิรมล​ กล่าวอีกว่า​ ปัจจุบัน คนกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียว 7 ตารางเมตรต่อคน​ ซึ่งยังต่ำกว่ามาตรฐานโลกที่ควรมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคน การจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือมีสวนเพิ่มมากขึ้นมี 3 โจทย์ใหญ่ที่ต้องทำคือ 1. การหาที่ดิน 2. งบประมาณ​ และ 3. จะทำจะเริ่มทำที่ตรงไหนก่อน

สำหรับการหาพื้นที่มาทำสวนมองว่าไม่ใช่เรื่องยาก​ หากใช้พื้นที่ของภาครัฐหรือพื้นที่ของกึ่งรัฐ​ ยกตัวอย่างเช่นถ้าหากนำที่ดินใต้ทางด่วนใน​ กทม.มาทำสวนจะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ 8.9 ตารางเมตรต่อคน​ ซึ่งใกล้เคียงกับมาตรฐานโลก​ แต่หากรวมพื้นที่วัดสนามกอล์ฟ​ ส่วนราชการอื่น ๆ มารวมอีกก็จะได้ 13 ตารางเมตรต่อคนซึ่งเกินกว่ามาตรฐาน

ถึงแม้จะสามารถนำที่ดินดังกล่าวมาทำมาทำสวนจนทำให้มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวเกินกว่ามาตรฐาน​ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้คนกรุงเข้าถึงสวนได้​ใน 15 นาทีเพราะคำนวณแล้วทำได้เพียงแค่ 30 นาที​ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ต้องมีการ​แฮกกาธอน​ รวบรวมความคิดข้อเสนอจากคนกลุ่มต่าง ๆ หาทางทำให้เข้าถึงสวนได้ภายใน 15 นาทีด้วย 3 มาตรการคือ 1. มาตรการผังเมือง 2. มาตรการกฎหมายและ 3. มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ โดยมีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 90 ทีม 66 ข้อเสนอ​ พบความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำที่ดินทั้งของรัฐและเอกชนรวมแล้ว 21 รูปแบบ​ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนกรุงเทพได้ถึง 24.5 ตารางเมตรต่อคนจึงเข้าถึงสวนได้ภายในระยะเวลา 15 นาที

โดยจากการทำ Mapping ข้อมูลพื้นที่สีเขียวใน​ กทม.​ จะพบว่าพื้นที่ 6 โซนที่ยังขาดสวนสาธารณะและเป็นพื้นที่มีชุมชนแออัดได้แก่ 1. พระโขนง​ บางนา 2.วังทองหลาง 3. สวนหลวง 4.บางกอกน้อย 5. ภาษีเจริญ​ บางแค​ และ 6.บางกอกใหญ่​ ธนบุรี

ด้าน​ รศ.ทวิดา​ กมลเวชช  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครจะสามารถนำพื้นที่ที่อยู่ในข้อเสนอเหล่านั้นมาใช้ได้หรือไม่​ ไม่สามารถตอบได้ 100% แต่จะกลับไปดูกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ติดขัดและพยายามแก้เพื่อให้เปิดพื้นที่เหล่านั้นทำได้ปัจจุบันมีการตั้งคณะกรรมการนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองขึ้นมาหรือ Bangkok policy Lab​ ข้อเสนอจากงานนี้​จะถูกนำไปใช้จริงซึ่ง กทม.ได้หาพื้นที่ที่จะทำสวนเพิ่มมาแล้ว 15 แห่ง​ ตามนโยบายส่วน 15 นาที เบื้องต้นเห็นด้วยกับการที่จะต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อ เพิ่มและพัฒนาสวนสาธารณะ​ โดยตั้งเป้าว่า ปี 2566 จะเริ่มดำเนินการได้และสับและต้องประเมินผลในปี 2568 โดยตั้งเป้าให้คนกรุงได้มีพื้นที่สีเขียว 24 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งถ้ากองทุนไม่ได้ผลก็ยุบได้

นิสิต คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ทีม HipStect

ภูมิรพี ไทยสีหราช นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากทีม HipStect ชนะการประกวดผลลัพธ์ด้านการออกแบบนำเสนอแนวคิดการทำสวนสาธารณะที่มีประโยชน์ใช้สอยเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมรอระบายไปพร้อมกัน โดยการใช้สวนสาธารณะเป็นพื้นที่หน่วงน้ำฝน เช่น ขุดที่ดินลงไปให้เป็นแอ่งและทำสโลปเป็นพื้นที่นั่งในช่วงที่ฝนไม่ตกก็จะกลายเป็นพื้นที่สันทนาการใช้สอยร่วมกันของคนในชุมชน แต่เมื่อฝนตกลงมาก็จะกลายเป็นที่กักเก็บน้ำ  น้ำก็จะไหลลงมารวมอยู่ตรงนี้เป็นบ่อน้ำ แล้วก็สามารถจะระบายออกไป เมื่อเมื่อฝนหยุดหรือพร้อมที่จะระบายออกได้นอกจากนี้ยังออกแบบหลังคาสะพานลอย หรือป้ายรอรถเมล์เป็นหลังคากักเก็บน้ำ หากหลาย ๆ พื้นที่รวมกันก็จะช่วยหน่วงน้ำฝนที่ตกลงมาได้

ขณะที่ จิรายุส วงศ์เจริญสถิตย์ นิสิตคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมสวนพร้อมก่อ สุดหล่อพร้อมยัง ชนะรางวัลผลลัพธ์ด้านกลไกและการบริหารจัดการ เสนอแนวคิดร้านสะดวกสวน ซึ่งมองว่าร้านสะดวกซื้อมีอยู่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และในพื้นที่แออัด บางร้านสะดวกซื้อบางแห่งเมื่อแยกประเภทแล้วมีทั้งขนาดกลางขนาดเล็กขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่พอที่จะสามารถทำเป็นสวนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ หากบริษัทเอกชนให้ความร่วมมือแต่ภาครัฐต้องมีมาตรการจูงใจภาคเอกชน เช่น มาตรการทางภาษีหรืออื่น ๆโดยจะออกแบบเป็นสวนหย่อมขนาดเล็กมีที่นั่ง ต้นไม้ หรือจะมีเครื่องออกกำลังกายและเครื่องเล่นเด็ก​

นิสิต คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ทีมสวนพร้อมก่อ สุดหล่อพร้อมยัง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active