ชาวบางกะปิ ค้านการเคหะฯ สร้าง “มิกซ์ยูส คลองจั่น”

ผู้ว่าการเคหะฯ​ แจง ใช้พื้นที่สร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ด้านชาวบ้านไม่เชื่อ เพราะที่ดินมีศักยภาพทำเลทอง หวั่นถมทะเลสาบ ไม่มีพื้นที่รับน้ำ ปอดกลางกรุง หาย

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 ที่การเคหะแห่งชาติ สำนักงานใหญ่ เขตบางกะปิ มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ‘ร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนริมทะเลสาบคลองจั่น’ ภายใต้โครงการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาโครงการแบบผสมผสาน (mixed-use) ตามเส้นทางโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงหลักการและเหตุผลของโครงการว่าจากแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีที่มุ่งให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประกอบกับภารกิจของการเคหะแห่งชาติที่สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองตามแนวระบบขนส่งมวลชนให้สอดคล้องกับบริบทของเมือง ซึ่งการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยดังกล่าว จะมุ่งลดความเหลื่อมล้ำให้บุคคลผู้มีรายได้น้อยเช่าใช้ประโยชน์อยู่อาศัยแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีการซื้อขาย ท่ามกลางรูปแบบที่อยู่อาศัยคุณภาพดี ในราคาที่สามารถแบกรับภาระได้

“โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา อยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว ยังไม่มีบ้านเป็นของตนเอง​ จะสามารถเช่าอยู่ เพื่อนั่งรถไฟฟ้าไปทำงานในเมือง หางานทำ สร้างอาชีพ เก็บเงิน และสร้างบ้านเป็นของตนเองได้” 

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ

ทั้งนี้โครงการ mixed-use ริมทะเลสาบคลองจั่น หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า บึงลำพังพวย จะมีการสร้างอาคารสูงจำนวน 15 อาคาร โดยจะมีการถมทะเลสาบและขุดทะเลสาบให้ลึกขึ้น 35 เมตร บรรยากาศในเวทีประชาพิจารณ์ มีชาวชุมชนบางกะปิ และชุมชนบึงกุ่ม ต่างผลัดเปลี่ยนลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว

สมพงษ์ ช่างเรือ ชาวชุมชนบางกะปิ กล่าวว่า มี 3 เหตุผลในการคัดค้านโครงการดังกล่าว 1) การเคหะฯ ได้มีหนังสือที่ มท5609/2543 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2542 ถึงผู้ว่ากรุงเทพมหานครว่า การเคหะฯ จะร่วมมือกับกรุงเทพมหานครจัดสร้างสวนสาธารณะเป็นที่พักผ่อนและเก็บกักน้ำโครงการแก้มลิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระชนมายุ 72 พรรษาแล้ว จะมาเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จะดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

2) พื้นที่บริเวณบึงลำพังพวย ตามกฎกระทรวงผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานครกำหนดให้เป็นพื้นที่บึงรับน้ำ ไม่สามารถนำไปพัฒนาเป็นโครงการที่พักอาศัยได้และ 3) ตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2532 ว่าด้วยเรื่องการขึ้นทะเบียนบึง สระ และแอ่งน้ำของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อสงวนไว้เป็นที่รับน้ำ หากจะนำไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่น จะต้องจัดหาพื้นที่รับน้ำทดแทน ในปริมาตรไม่น้อยกว่าเดิม

ขณะที่ นภาพร กิตติธร ชาวเคหะชุมชนคลองจั่น ตั้งข้อสังเกตว่าในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ที่ทำโดยบริษัทที่ปรึกษา รายงานว่ามีประชาชนเห็นด้วยกับโครงการถึง 69.5% ในขณะที่ไม่เห็นด้วยเพียง 30.5% หมายความว่าอย่างไร ตัวอย่างข้อมูลประชากรมีเพียงพอหรือไม่ 

ทั้งยังมองว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินศักยภาพ หรือทำเลทองสำหรับสร้างคอนโดระดับไฮเอนด์ ไม่ใช่สำหรับผู้มีรายได้น้อยแน่นอน การเคหะฯ มีวาระซ้อนเร้นหรือไม่ ซึ่งไม่น่าใช่ภารกิจของการเคหะแห่งชาติ แต่เป็นการสร้างเพื่อหารายได้ของการเคหะแห่งชาติหรือไม่ 

ขณะที่ทะเลสาบที่จะมีการถมเพื่อสร้างคอนโดฯ เป็นแหล่งน้ำของชุมชนบริเวณนี้ เป็นแหล่งรองรับน้ำท่วม และเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ ซึ่งหากมีการก่อสร้าง จะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นจะมีทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในอีก 60 วัน และครั้งที่ 4 จะมีขึ้นอีกภายใน 120 วัน ซึ่งในเวทีครั้งที่ 2 วันนี้ ประชาชนยกมือลงมติ “ไม่เห็นด้วย” และขอคัดค้านโครงการดังกล่าว 100%

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active