เปิดเว็บตามติด 216 นโยบายชัชชาติ ใต้งบฯ 1.2 พันล้านบาท

สำรวจพบ “ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น ฝึกอาชีพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่อยู่อาศัย” มีความคืบหน้า พร้อมเปิดตัวแอปฯ ชวนประชาชนปลูกต้นไม้กับ ‘ชัชชาติ’

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 13/2565 ณ อาคารธานีนพรัตน์ กทม.2 ดินแดง ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการติดตามผลงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 9 ดี 216 นโยบาย ซึ่งทุกหน่วยงานนำเข้าข้อมูลโดยบันทึกโครงการ รายละเอียดการดำเนินงาน เป้าหมาย และขั้นตอนการดำเนินงานในระบบ BMA Digital Plans พร้อมปรับปรุงสถานะการดำเนินงานให้เป็นปัจจุบัน และประชาชนสามารถติดตามสถานะของนโยบายผ่านทาง เว็บไซต์ ติดตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล นำผลงานทั้งหมดของกรุงเทพมหานครมาแสดงในระบบด้วย ไม่เพียงเฉพาะ 216 แผนปฏิบัติการ และต้องแยกวัตถุประสงค์ให้ชัด คือ แยกสำหรับติดตามงาน และให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้

ทีมข่าวสำรวจข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการพบว่า เรื่องที่มีความคืบหน้าในทางนโยบายและการจัดสรรงบฯ เช่น การขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย การพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น การฝึกอาชีพยุคใหม่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ชัชชาติ
ตามติดนโยบาย

ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นว่า ตอนนี้มีแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ (Mobile app) เป็น LINE Official Account เหมือน Traffy Fondue คือใช้ความสำเร็จของ Traffy Fondue ทำแอปพลิเคชัน “ปลูกอนาคต” ตรงตามนโยบายของท่านผู้ว่าฯ คือปลูกต้นไม้วันนี้แต่ปลูกเพื่ออนาคตให้ลูกหลาน วิธีการคือเข้าไปเพิ่มเพื่อนใน LINE ใส่คำค้นหา @tomorrowtree

“ตอนนี้สามารถบันทึกข้อมูลต้นไม้ที่เราปลูกได้ สามารถปลูกที่บ้านเอง ถ่ายรูป เลือกพันธุ์ไม้ มีแผนที่ ปักโลเคชั่น ในส่วนการใช้งานจะมีฟีเจอร์เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ และจะแสดงกิจกรรมที่ กทม. จัดด้วย สามารถมาร่วมปลูกกับ กทม. ได้ เช่น ทุกวันอาทิตย์จัดผู้ว่าฯ สัญจร มีปลูกที่ไหน วันไหนปลูกที่ไหนบ้าง ก็มาร่วมกับ กทม. ได้ ข้อดีที่เราทำคือ มีต้นไม้ของคุณ คือปลูกเสร็จต้องไปดูแลด้วย คือต้นไม้ที่ไปปลูกที่ไหนมาก็จะมีประวัติของเราที่เคยปลูก สามารถติดตามและอัพเดทสถานะได้”

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า กิจกรรมปลูกต้นไม้ดำเนินไปได้ด้วยดี และเป็นกิจกรรมที่คึกคัก ตอนนี้มีผู้จองร่วมปลูกต้นไม้ประมาณ 1.6 ล้านต้น

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางปฏิบัติการพิจารณาการใช้ที่ดินเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ จากกรณีที่เอกชนยินยอมให้กรุงเทพมหานครใช้ที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยจะได้รับการยกเว้นจัดเก็บภาษีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศ และจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าหน่วยงานมิได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินที่รับบริจาคดังกล่าว เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการรับที่ดินเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ หารือความคุ้มค่าและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้สอดคล้องกับระเบียบและข้อกฎหมายปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุดกับกรุงเทพมหานคร

“เรื่องเอกชนให้ที่สาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรืออาจจะเพื่อเป็นการลดภาษี การที่ กทม. รับมอบที่ดิน ก็ต้องสูญเสียรายได้จากภาษีด้วย ดังนั้น กทม. ต้องคิดให้รอบคอบ จึงให้ตั้งคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การรับมอบ และกลั่นกรองให้คุ้มกับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณทุกคนที่อยากจะบริจาคพื้นที่ให้ ทั้งพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่ที่เป็นบึงน้ำ ขณะนี้ กทม. จะรับเรื่องไว้ก่อนและให้คณะกรรมการพิจารณาต่อไป”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้