‘สุชัชวีร์’ ขอเป็นผู้ว่าฯ ทำกรุงเทพฯ ให้ “เขียว-เข้าถึง-มีอากาศ” ที่ดีกว่าเดิม

สำรวจวิสัยทัศน์ ‘ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ‘มุ่งพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นมรดกให้ลูกหลาน’

The Active Podcast ชวน #ปลุกกรุงเทพฯ สำรวจนโยบาย 7 ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคอลัมน์พิเศษ “Green Vision : วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” จากความร่วมมือกับ “สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง” พูดคุยกับ ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ​ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ฉายาทายาทไอสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก

การบริหารจัดการสังคมสีเขียว ‘ตั้งแต่ต้นชนปลาย’

ศ.สุชัชวีร์ ระบุว่า พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่หลายแห่งไม่ได้รับการดูแลรักษาและเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นระยะสั้นจะต้องปรับให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก และเมื่อเข้าไปใช้แล้วต้องได้รับความสะดวก ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลาง จะเห็นว่ามีพื้นที่ว่างเปล่า เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน ถึงเวลาที่จะต้องนำมาพัฒนาจริงจัง และการแก้ปัญหาระยะยาว พื้นที่ส่วนใหญ่ของ กทม. เป็นพื้นที่ของเอกชน หลายคนกังวลเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากว่าเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ได้ และเป็นพื้นที่สีเขียว จะได้รับสิทธิ์ลดภาษีที่ดินฯ

“การส่งเสริมพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนทำได้ ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า ที่ดินในบ้าน ตอนนี้ กทม. มีการทำปุ๋ยหมัก เราก็จะเอาปุ๋ยหมักที่มีไปแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ที่ต้องการทำพื้นที่สีเขียว และในฐานะที่ กทม. เป็นพื้นที่รายใหญ่ซื้ออาหารสำหรับโรงเรียน 437 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 292 แห่ง โรงพยาบาล 11 แห่ง ยังมีศูนย์บริการสาธารณสุข และศูนย์ย่อยอีก ถ้าเกิดประชาชนปลูกผัก กทม. จะรับซื้อ เป็นการคิดครบจบในตัว ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว”

ดูแล-รักษา-ปกป้อง พื้นที่สีเขียว ให้คงอยู่เคียงคู่เมือง

ศ.สุชัชวีร์ มองว่า พื้นที่ชั้นในสามารถสร้างตึกสูงได้ตามเงื่อนไขผังเมือง เพราะมีพื้นที่หนาแน่น ทำให้ระบบสาธารณูปโภคและความปลอดภัยดูแลได้ทั่วถึง เหมือนหลายประเทศทั่วโลก แต่มหานครหลายแห่งเมื่อถัดจากพื้นที่ชั้นในก็มีป่า มีพื้นที่สีเขียว สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือพบว่า การก่อสร้างที่ผิดกฎหมายมีเยอะ ต่อจากนี้จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน หากพบว่ามีการใช้ประโยชน์ที่ผิดไปจากผังเมือง ใช้เทคโนโลยีตัดสินคัดออก และพิจารณาได้เลยว่า ไม่สามารถสร้างได้

“ทุกวันนี้มีข้อถกเถียงกันว่า พื้นที่สีเขียวจริงๆ ของกรุงเทพฯ มีเท่าไหร่ หรือพื้นที่สีเขียว เขียวลาย ที่ต้องอนุรักษ์ถูกบุกรุกไปแล้วกี่แห่ง จึงจำเป็นต้องรู้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อน แล้ววิเคราะห์ปัญหาจริงๆ ว่ามันคืออะไร เมืองต้องมองในภาพรวมทั้งหมด การรักษาพื้นที่สีเขียวของเมืองโดยรวมสำคัญมาก เพราะมันคือความอยู่รอด เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ ต้องมีพื้นที่รับน้ำ ยกตัวอย่างพื้นที่เฉพาะเขตถ้าเขาจะสร้างอาคารมันห้ามไม่ได้ ถ้าเขาทำตามกฎหมาย แต่ให้เงื่อนไขได้ว่าถ้าเกิดใครอยากก่อสร้างอาคาร และเพิ่มพื้นที่สีเขียวไม่ว่าจะเป็นแนวนอน หรือแนวตั้งเราจะให้สิทธิพิเศษในการสร้างอาคารให้สูงขึ้น วิธีนี้เป็นวิธีสากลที่ดึงดูดให้ทุกคนมาร่วมกับเรา และเมื่อบวกลบคูณหารมาแล้ว ทุกคนได้ประโยชน์เหมือนกัน”

Safety Engineer หลักวิศวกรรมความปลอดภัย ก่อสร้างไม่กระทบต้นไม้

ศ.สุชัชวีร์ ชี้ว่า ปัญหาเรื่องการตัดต้นไม้เหี้ยน มาจาก 1.ความถี่น้อย นานทีมาตัดก็ต้องตัดเผื่อระยะเวลาไม่ให้ยาวไว 2.ไม่มีความรู้ รุกขกรจะไปตัดต้นไม้ทุกต้นเป็นไปไม่ได้ แต่กรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีรุกขกรมาช่วยดูแลและอบรมให้เจ้าหน้าที่ของ กทม. ได้รู้ว่าจะตัดยังไงให้เหมาะสมกับต้นไม้แต่ละสายพันธุ์ โดยจะจัดให้มีการอบรมฟรี

“ในงานก่อสร้างต้องใช้วิศกรรมด้านความปลอดภัยโดยเฉพาะ (safty engineer) เวลาจะก่อสร้างอะไร เช่น จะปูพื้นถนนทางเท้า จุดที่มีต้นไม้ ต้องดูเรื่องความปลอดภัยของต้นไม้ด้วย ซึ่งจะมีหลักการระบุชัดเจนว่าต้องเว้นระยะเท่าไหร่ และถ้ายึดหลักการดูแลต้นไม้เป็นมาตรฐาน ก็จะมี KPI ไม่ว่าใครจะมาทำอะไรใกล้ต้นไม้ก็ต้องยึดหลักตรงนี้”

เปลี่ยนน้ำเสีย เป็นน้ำใส ให้ทุกคนเข้าถึงแม่น้ำได้มากขึ้น

“ฝั่นธน วันนี้ไม่มีคลองสะอาดแล้ว ค่าอีโอดีเกินมาตรฐาน เน่ามาก” ศ.สุชัชวีร์ มองว่าเป็นเพราะ กทม. ปล่อยน้ำให้นิ่ง ระบบการเปิดปิดระบบประตูน้ำไม่สอดรับกับน้ำขึ้นน้ำลงกับแม่น้ำเจ้าพระยา นโยบายของเขา คือจะทำให้ระบบเปิดปิดประตูน้ำระบบผันน้ำเป็นระบบอัตโนมัติแบบสิงคโปร์ (water flooding singapore) เพื่อให้ตรวจเช็คได้ว่า ประตูน้ำเปิดปิดเท่าไหร่ ระดับน้ำขึ้นลงเป็นอย่างไร

พร้อมกันนี้ ตั้งเป้าปรับปรุงเส้นทางเดินเรือ โดยมองว่าเมื่อไหร่ที่เรือเข้าไปถึงบ้านเรือนที่ติดริมแม่น้ำได้ประโยชน์แล้ว เกิดการค้าขายได้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความเจริญ

ส่วนโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่รู้จักกันในนาม โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ศ.สุชัชวีร์ ในฐานะอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบศึกษาโอกาสการพัฒนาโครงการฯ นี้ กล่าวว่า ต่อไปโครงการใดๆ ก็ตามจะต้องยึดเสียงของประชาชนเป็นหลัก ต่อให้มหาดไทยเห็นชอบแล้วก็ตาม แต่จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ใหม่

“อยากให้ทุกคนมองเห็นเมืองที่พัฒนาแล้ว ทุกคนเป็นใหญ่จริงๆ ในหลายประเทศมีการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำได้ เช่น วิ่ง ขี่จักรยาน เดินผ่านแม่น้ำได้ ไม่ว่ายากดีมีจน ให้เข้าถึงแม่น้ำได้ ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรค่อยไปว่ากัน”

ใช้เทคโนโลยีเคลื่อนเมือง มุ่งสู่ความยั่งยืน

ศ.สุชัชวีร์ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน มุ่งใช้เทคโนโลยีบริการประชาชนและเปลี่ยนแปลงเมือง โดยจะทำให้ประชาพิจารณ์ต้องเข้ามาอยู่ในระบบมือถือทั้งหมด

“เฟสบุกยังแชร์ข้อมูลโดยเลือกกลุ่มประชากรตามโลเคชันได้ เราก็จะทำให้ทุกคนเข้าถึงไวไฟได้ 1.5 แสนจุดฟรีทั่ว กทม. และทำให้ทุกคนได้เข้าถึงนโยบายของรัฐ มีสิทธิ์ออกเสียง ผ่านเทคโนโลยี”

“พร้อมส่งต่อมรดกให้ลูกหลานผ่าน ระบบการศึกษาที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชนชาติ มอบกรุงเทพฯ ที่เขียวมากกว่าเดิม เข้าถึงมากกว่าเดิม มีอากาสบริสุทธิ์มากกว่าเดิม ให้คนกรุงเทพฯ ให้ลูกๆ หลานๆ เราทุกคน”

ติดตามรับฟังเนื้อหาเพิ่มเติมของ ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ​ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ที่ คอลัมน์ “Green Vision วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” โดยความร่วมมือของ The Active และ สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ได้ในรายการ The Active Podcast และ ThaiPBS Podcast

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้