สำรวจวิสัยทัศน์ ‘ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ‘มุ่งพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นมรดกให้ลูกหลาน’
The Active Podcast ชวน #ปลุกกรุงเทพฯ สำรวจนโยบาย 7 ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคอลัมน์พิเศษ “Green Vision : วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” จากความร่วมมือกับ “สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง” พูดคุยกับ ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ฉายาทายาทไอสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก
การบริหารจัดการสังคมสีเขียว ‘ตั้งแต่ต้นชนปลาย’
ศ.สุชัชวีร์ ระบุว่า พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่หลายแห่งไม่ได้รับการดูแลรักษาและเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นระยะสั้นจะต้องปรับให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก และเมื่อเข้าไปใช้แล้วต้องได้รับความสะดวก ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลาง จะเห็นว่ามีพื้นที่ว่างเปล่า เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน ถึงเวลาที่จะต้องนำมาพัฒนาจริงจัง และการแก้ปัญหาระยะยาว พื้นที่ส่วนใหญ่ของ กทม. เป็นพื้นที่ของเอกชน หลายคนกังวลเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากว่าเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ได้ และเป็นพื้นที่สีเขียว จะได้รับสิทธิ์ลดภาษีที่ดินฯ
“การส่งเสริมพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนทำได้ ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า ที่ดินในบ้าน ตอนนี้ กทม. มีการทำปุ๋ยหมัก เราก็จะเอาปุ๋ยหมักที่มีไปแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ที่ต้องการทำพื้นที่สีเขียว และในฐานะที่ กทม. เป็นพื้นที่รายใหญ่ซื้ออาหารสำหรับโรงเรียน 437 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 292 แห่ง โรงพยาบาล 11 แห่ง ยังมีศูนย์บริการสาธารณสุข และศูนย์ย่อยอีก ถ้าเกิดประชาชนปลูกผัก กทม. จะรับซื้อ เป็นการคิดครบจบในตัว ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว”
ดูแล-รักษา-ปกป้อง พื้นที่สีเขียว ให้คงอยู่เคียงคู่เมือง
ศ.สุชัชวีร์ มองว่า พื้นที่ชั้นในสามารถสร้างตึกสูงได้ตามเงื่อนไขผังเมือง เพราะมีพื้นที่หนาแน่น ทำให้ระบบสาธารณูปโภคและความปลอดภัยดูแลได้ทั่วถึง เหมือนหลายประเทศทั่วโลก แต่มหานครหลายแห่งเมื่อถัดจากพื้นที่ชั้นในก็มีป่า มีพื้นที่สีเขียว สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือพบว่า การก่อสร้างที่ผิดกฎหมายมีเยอะ ต่อจากนี้จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน หากพบว่ามีการใช้ประโยชน์ที่ผิดไปจากผังเมือง ใช้เทคโนโลยีตัดสินคัดออก และพิจารณาได้เลยว่า ไม่สามารถสร้างได้
“ทุกวันนี้มีข้อถกเถียงกันว่า พื้นที่สีเขียวจริงๆ ของกรุงเทพฯ มีเท่าไหร่ หรือพื้นที่สีเขียว เขียวลาย ที่ต้องอนุรักษ์ถูกบุกรุกไปแล้วกี่แห่ง จึงจำเป็นต้องรู้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อน แล้ววิเคราะห์ปัญหาจริงๆ ว่ามันคืออะไร เมืองต้องมองในภาพรวมทั้งหมด การรักษาพื้นที่สีเขียวของเมืองโดยรวมสำคัญมาก เพราะมันคือความอยู่รอด เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ ต้องมีพื้นที่รับน้ำ ยกตัวอย่างพื้นที่เฉพาะเขตถ้าเขาจะสร้างอาคารมันห้ามไม่ได้ ถ้าเขาทำตามกฎหมาย แต่ให้เงื่อนไขได้ว่าถ้าเกิดใครอยากก่อสร้างอาคาร และเพิ่มพื้นที่สีเขียวไม่ว่าจะเป็นแนวนอน หรือแนวตั้งเราจะให้สิทธิพิเศษในการสร้างอาคารให้สูงขึ้น วิธีนี้เป็นวิธีสากลที่ดึงดูดให้ทุกคนมาร่วมกับเรา และเมื่อบวกลบคูณหารมาแล้ว ทุกคนได้ประโยชน์เหมือนกัน”
Safety Engineer หลักวิศวกรรมความปลอดภัย ก่อสร้างไม่กระทบต้นไม้
ศ.สุชัชวีร์ ชี้ว่า ปัญหาเรื่องการตัดต้นไม้เหี้ยน มาจาก 1.ความถี่น้อย นานทีมาตัดก็ต้องตัดเผื่อระยะเวลาไม่ให้ยาวไว 2.ไม่มีความรู้ รุกขกรจะไปตัดต้นไม้ทุกต้นเป็นไปไม่ได้ แต่กรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีรุกขกรมาช่วยดูแลและอบรมให้เจ้าหน้าที่ของ กทม. ได้รู้ว่าจะตัดยังไงให้เหมาะสมกับต้นไม้แต่ละสายพันธุ์ โดยจะจัดให้มีการอบรมฟรี
“ในงานก่อสร้างต้องใช้วิศกรรมด้านความปลอดภัยโดยเฉพาะ (safty engineer) เวลาจะก่อสร้างอะไร เช่น จะปูพื้นถนนทางเท้า จุดที่มีต้นไม้ ต้องดูเรื่องความปลอดภัยของต้นไม้ด้วย ซึ่งจะมีหลักการระบุชัดเจนว่าต้องเว้นระยะเท่าไหร่ และถ้ายึดหลักการดูแลต้นไม้เป็นมาตรฐาน ก็จะมี KPI ไม่ว่าใครจะมาทำอะไรใกล้ต้นไม้ก็ต้องยึดหลักตรงนี้”
เปลี่ยนน้ำเสีย เป็นน้ำใส ให้ทุกคนเข้าถึงแม่น้ำได้มากขึ้น
“ฝั่นธน วันนี้ไม่มีคลองสะอาดแล้ว ค่าอีโอดีเกินมาตรฐาน เน่ามาก” ศ.สุชัชวีร์ มองว่าเป็นเพราะ กทม. ปล่อยน้ำให้นิ่ง ระบบการเปิดปิดระบบประตูน้ำไม่สอดรับกับน้ำขึ้นน้ำลงกับแม่น้ำเจ้าพระยา นโยบายของเขา คือจะทำให้ระบบเปิดปิดประตูน้ำระบบผันน้ำเป็นระบบอัตโนมัติแบบสิงคโปร์ (water flooding singapore) เพื่อให้ตรวจเช็คได้ว่า ประตูน้ำเปิดปิดเท่าไหร่ ระดับน้ำขึ้นลงเป็นอย่างไร
พร้อมกันนี้ ตั้งเป้าปรับปรุงเส้นทางเดินเรือ โดยมองว่าเมื่อไหร่ที่เรือเข้าไปถึงบ้านเรือนที่ติดริมแม่น้ำได้ประโยชน์แล้ว เกิดการค้าขายได้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความเจริญ
ส่วนโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่รู้จักกันในนาม โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ศ.สุชัชวีร์ ในฐานะอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบศึกษาโอกาสการพัฒนาโครงการฯ นี้ กล่าวว่า ต่อไปโครงการใดๆ ก็ตามจะต้องยึดเสียงของประชาชนเป็นหลัก ต่อให้มหาดไทยเห็นชอบแล้วก็ตาม แต่จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ใหม่
“อยากให้ทุกคนมองเห็นเมืองที่พัฒนาแล้ว ทุกคนเป็นใหญ่จริงๆ ในหลายประเทศมีการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำได้ เช่น วิ่ง ขี่จักรยาน เดินผ่านแม่น้ำได้ ไม่ว่ายากดีมีจน ให้เข้าถึงแม่น้ำได้ ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรค่อยไปว่ากัน”
ใช้เทคโนโลยีเคลื่อนเมือง มุ่งสู่ความยั่งยืน
ศ.สุชัชวีร์ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน มุ่งใช้เทคโนโลยีบริการประชาชนและเปลี่ยนแปลงเมือง โดยจะทำให้ประชาพิจารณ์ต้องเข้ามาอยู่ในระบบมือถือทั้งหมด
“เฟสบุกยังแชร์ข้อมูลโดยเลือกกลุ่มประชากรตามโลเคชันได้ เราก็จะทำให้ทุกคนเข้าถึงไวไฟได้ 1.5 แสนจุดฟรีทั่ว กทม. และทำให้ทุกคนได้เข้าถึงนโยบายของรัฐ มีสิทธิ์ออกเสียง ผ่านเทคโนโลยี”
“พร้อมส่งต่อมรดกให้ลูกหลานผ่าน ระบบการศึกษาที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชนชาติ มอบกรุงเทพฯ ที่เขียวมากกว่าเดิม เข้าถึงมากกว่าเดิม มีอากาสบริสุทธิ์มากกว่าเดิม ให้คนกรุงเทพฯ ให้ลูกๆ หลานๆ เราทุกคน”
ติดตามรับฟังเนื้อหาเพิ่มเติมของ ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ที่ คอลัมน์ “Green Vision วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” โดยความร่วมมือของ The Active และ สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ได้ในรายการ The Active Podcast และ ThaiPBS Podcast