สำรวจวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว กับ ‘พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หวังได้ไปต่อ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มต้นไม้ เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างมหานครแห่งความยั่งยืน
The Active Podcast ชวน #ปลุกกรุงเทพฯ สำรวจนโยบาย 7 ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคอลัมน์พิเศษ “Green Vision : วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” จากความร่วมมือกับ “สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง” พูดคุยกับ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง สะท้อนความสำเร็จการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและรักษาสิ่งแวดล้อม สะท้อนมาถูกทางแล้วและจะพัฒนาต่อ
เพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 10,000 ไร่ สู่เป้าหมาย 10 ตร.ม./คน
พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เพิ่มพื้นที่สีเขียว จาก 5 ตร.ม./คน เป็น 7 ตร.ม./คน แล้ว แต่ยังไม่พอใจ ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกราว ๆ 10,000 ไร่ ให้เป็น 10 ตร.ม./คน ตามมาตรฐานของ WHO หรือมากกว่านี้ และเชื่อว่าจะใช้เวลาอีกเพียงแค่ 2-3 ปี เท่านั้น จะทำให้ได้ตามเป้าหมาย
ที่ผ่านมา นอกจากทำสวนขนาดใหญ่ เช่น สวนเบญจกิติ แล้วแต่ยังมีแนวคิดที่จะทำให้เกิดสวนใกล้ชุมชนให้มากกว่านี้ ต้องการเอาสวนเข้ามาอยู่ในชุมชน จึงได้จัดทำ pocket park หรือสวนกระเป๋า ขนาดย่อมทั้งหมด 6 แห่งเพิ่มเติม เช่น สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ จะเห็นได้ว่าประชาชนยินดีให้ความร่วมมือ และชุมชนใกล้สวนได้ใช้ประโยชน์จริง บางสวนมีสนามเด็กเล่น หากพ่อแม่มาเดินออกกำลังกาย น้อง ๆ มาเล่นเครื่องเล่นเด็ก แต่บางครั้งไปที่สวนใหญ่เดินทางไกล เราก็พยายามทำสวนขนาดเล็กขนาด 2-10 ไร่ ให้เข้าง่ายขึ้น เช่น สวนจากภูผาสู่มหานที ที่เขตจตุจักร
“หากจะทำเพิ่มเติม ปัญหาคือที่ดินแพง เราขาดแคลนที่ดิน ก็มีประชาชนจิตสาธารณะ หลายคนพูดว่าคนที่มีฐานะดี ๆ มีที่ดินเยอะ ๆ แทนที่จะเสียภาษีที่ดินแพง ก็ไปปลูกกล้วยแทน ซึ่งไม่ได้ใช้งานสาธารณะ เราก็มีความพยายามจะไปคุยกับเจ้าของที่ดินหลายเจ้า แต่เขาก็ยังไม่ยินดีให้เอามาทำ อาจเพราะอยากเก็บที่เอาไว้ทำอย่างอื่น จากนี้ต้องพยายามทำความเข้าใจ และเพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น FAR โบนัส เราก็คุยกับอสังหาฯ เช่น หากจะสร้างคอนโด สิ่งก่อสร้าง ถ้าทำพื้นที่สีเขียวได้สัก 20% เราจะให้ส่วนลดหลายอย่าง เช่น ลดภาษี หรือการช่วยดูแลความสะดวก ทำถนน ติดไฟให้เพื่อจูงใจเขา”
พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอประชาชน เร่งรัดให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม
“บางคนมาช่วยคิด เสนอแนวความคิด ไม่คิดเงินเลย เราก็รับฟังและช่วยเขา ซึ่งโครงการ Green Bangkok 2030 ก็มีแนวคิดที่จะดึงเอาประชาชนมาช่วยกันคิด เพื่อทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และสวยงามสอดรับกับลักษณะทางกายภาพในพื้นที่ต่าง ๆ เราจะต้องลดขั้นตอนระเบียบราชการที่ยืดยาด ให้มีสิ่งจูงใจให้มาช่วยเราในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว มาช่วยปลูกต้นไม้ต่าง ๆ”
พล.ต.อ. อัศวิน ระบุว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้มีการประชุมกันหลายครั้ง กับผู้อำนวยการสำนักงานเขต ว่าถ้ามีผู้ที่ต้องการเสนอความคิดเห็น ให้เร่งรับข้อคิดเห็นเพื่อให้เขามาช่วยคิด ยอมรับว่าที่ผ่านมาระบบราชการอาจใช้เวลาในการดำเนินงานล่าช้า ทำให้ผู้ขายไอเดียเบื่อ ดังนั้น จากนี้จึงต้องรวบรัดขั้นตอนให้เร็ว หากสิ่งใดทำแล้วไม่ผิดกฎหมาย ผิดระเบียบราชการ ก็ต้องเร่งรัดให้ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกมากขึ้น
“ซึ่งก่อนหน้านี้ กทม. ได้รับความร่วมมือกับกลุ่มผู้มีทักษะรุกขกร ช่วยเพิ่มทักษะการตัดแต่งต้นไม้ให้เหมาะสม เพื่อสร้างความสวยงาม ให้การตัดต้นไม้ ได้มีการเชิญให้กลุ่มรุกขกรได้มาร่วมกันทำงาน และอบรมให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตต่าง ๆ ว่าควรจะตัดแต่งต้นไม้อย่างไร ทั้งต้นไม้บริเวณถนน คูคลอง หรือการขุดล้อมย้าย ก็จะต้องมีการติดประกาศให้ประชาชนทราบในเหตุผล เพื่อที่จะให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ ภายใน 7 วันก่อนการตัดแต่งหรือการล้อมย้ายต้นไม้ เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในหลาย ๆ มิติ”
เลือกที่จะปลูก: พืชอาหาร พืชซับน้ำ พืชกันการกัดเซาะชายฝั่ง
พล.ต.อ. อัศวิน อธิบายว่า ที่ผ่านมานอกจากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในลักษณะของการปลูกไม้ยืนต้น และหลายพื้นที่มีไม้ดอกไม้ประดับเพื่อความสวยงาม ก็พยายามส่งเสริมการปลูกไม้กินได้ด้วย ยกตัวอย่าง ในชุมชนชานเมืองรอบนอก ชาวบ้านปลูกกล้วย เอาไปขายได้ ราคา ที่เหลือเอาไปแปรรูปเป็นกล้วยตาก กล้วยฉาบ ตามหลักการถนอมอาหาร หากปลูกเยอะแล้วยังไม่มีตลาดให้ขาย
“จะขยายพื้นที่ทางอาหารก็จะต้องมีสิ่งจูงใจ เช่น มีตลาดไปรับส่ง ยกตัวอย่างที่หนอกจอก ได้แนะนำให้ปลูกแตงโม หลังจากการปลูกข้าว แล้วช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้เกษตรกรได้ผลประกอบการดี”
พล.ต.อ. อัศวิน ย้ำว่า ความสำคัญคือต้องเลือกปลูกพืชให้ตรงกับความเหมาะสมและบริบทของพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ต้นไม้สร้างประโยชน์กลับคือ สำหรับการปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในสวนสาธารณะ ริมคลอง แนวทางสัญจร เพื่อให้ต้นไม้มีส่วนช่วยดูดซับน้ำลงดิน ชะลอน้ำ
“ในพื้นที่ป่าชายเลนที่เผชิญการกัดเซาะชายฝั่ง ก็มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น ป่าชายเลนบางขุนเทียน ถูกน้ำกัดเซาะไป 3,000 กว่าไร่ พื้นที่หายไปกลายเป็นน้ำ โฉนดที่ดินอยู่ในน้ำ เราก็ตั้งมูลนิธิปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา ปลูกต้นไม้ลงไปในน้ำ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของราชการเลย ป่าไม้เราปลูกไปหลายหมื่นต้น ทำผิดทำถูกมาเยอะ ขณะนี้ได้พื้นที่ดินคืนมาประมาณ 230-240 ไร่ ช่วยชะลอการกัดเซาะดิน เอาดินเลน เศษทราย เศษหิน เข้ามาทับถมเป็นแผ่นดิน”
ปรับลดงบประมาณฟุ่มเฟือยจากไม้ประดับ กรุงเทพฯ สวยได้แม้ประหยัดเงิน
พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวว่า เมื่อก่อนไม้ดอกไม้ประดับที่ใช้ในการตกแต่งเทศกาลหรือถนนสายสำคัญ เช่น กล้วยไม้ จะซื้อต้องสั่งมาจากสมุทรสาคร สมุทรปราการ หรือสั่งมาทางเหนือ แต่ตอนนี้ได้ให้ทางสำนักสิ่งแวดล้อมเพาะกล้าไม้เองแทน เพื่อเอามาประดับในเมือง ริมถนน เช่น ถนนราชดำเนิน เมื่อเหี่ยวเฉาก็บำรุงรักษาให้ออกดอกมาใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย
“ผมพยายามจะลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ และประชุมกับสำนักงานเขต ให้ดึงภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เอกชนเข้ามาร่วมกันปลูก เราก็ทำโครงการหน้าบ้านน่ามอง สวยในซอย ปลูกต้นไม้หน้าบ้าน ในรั้วบ้านของตัวเอง ถ้ามีพื้นที่พอสัก 1-2 ต้นก็ยังดี งบประมาณส่วนนี้ก็ลดลงไปจะได้เอาเงินไปทำอย่างอื่น ต่อไปนี้เราจะกระจาย หากเป็นการเพาะชำ สำนักสิ่งแวดล้อมมี 40 จุดเพาะชำ แบ่งให้เขตไปบริหารจัดการเอง เช่น เขตทวีวัฒนาจะออกแบบปลูก หาเรือนเพาะชำเอง เราก็จะเอาเงินให้เขา เราก็จะกระจายอำนาจ กระจายเงิน เพราะสำนักสิ่งแวดล้อมจะทำทุกอย่างเองก็ไม่ได้ ซึ่งสวนเล็ก ๆ ก็อยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตอยู่แล้ว เราอยากจะกระจายทรัพยากรจริง ๆ”
พล.ต.อ. อัศวิน ย้ำทิ้งท้ายว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ทำให้ความสวยงามเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้มากที่สุด โดยจะเชิญนักวิชาการทั้งหมดทุกกลุ่ม ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญมาช่วยกันคิด-ทำ-จัดการ เพราะ กทม. มีบุคลากรที่รู้เข้าใจจำกัด แต่หากว่ามีหลาย ๆ กลุ่มมาช่วยกัน ทั้งออกแบบช่วยคิด นอกจากเพิ่มพื้นที่สีเขียว ก็คาดหวังว่า “ความสวยงามจะเกิดขึ้น ถาวร ยั่งยืนในอนาคต”
ติดตามรับฟังเนื้อหาเพิ่มเติมของ ‘พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง’ ได้ที่ คอลัมน์ “Green Vision วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” โดยความร่วมมือของ The Active และ สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ได้ในรายการ The Active Podcast และ ThaiPBS Podcast