‘ชัชชาติ’ ประกาศ ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะปลูกต้นไม้ทุกวันอาทิตย์

สำรวจนโยบาย ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ผ่านคอลัมน์ Green Vision: วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว ผุดไอเดีย ใช้แอปพลิเคชันบันทึกข้อมูลต้นไม้ เพื่อดูแลให้สวยงาม ถูกวิธี พร้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เข้าถึงได้ใน 15 นาที

The Active Podcast ชวน #ปลุกกรุงเทพฯ สำรวจนโยบาย 7 ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคอลัมน์พิเศษ “Green Vision : วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” จากความร่วมมือกับ “สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง” พูดคุยกับ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่มีคะแนนนำจากโพลล์หลายสำนัก ผู้ชูแนวคิด “ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ให้คนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใน 15 นาที” จะทำได้จริงแค่ไหน ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ใช้สอยที่จำกัด และผังเมืองกรุงเทพฯ ที่เน้นพัฒนาเชิงพาณิชย์

ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ลดปัญหา “เกาะความร้อน” เมืองกรุงฯ

“หัวใจสำคัญ คือ เรื่องต้นไม้ เป็นสิ่งที่ลงทุนน้อย แต่ได้เยอะ” ชัชชาติ กล่าว พร้อมบอกต่อไปว่า เป้าหมายคือปลูก 1 ล้านต้น ความตั้งใจ คือ นัดปลูกทุกวันอาทิตย์ ปลูกปีละ 250,000 ต้น วิธีคือแบ่งเป็น 50 เขต เขตละ 100 ต้น เท่ากับ 5,000 ต้น หากปลูกทุกวันอาทิตย์ 50 อาทิตย์ ก็จะได้ 250,000 ต้น วาระผู้ว่าฯ กทม. 4 ปี เท่ากับ 1 ล้านต้นพอดี

ส่วนต้นไม้ที่ใช้ปลูกเอาต้นไม้มาจากไหน? จะจ้างเกษตรกรที่เขตหนองจอก ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอยู่แล้วให้เพาะกล้า และให้นักเรียนใน กทม. ราว 270,000 คน ปลูกต้นไม้กันคนละต้น มองว่าอนาคตของเมือง “คนต้องรักต้นไม้”

“ให้นักเรียนปลูกต้นไม้คนละต้น และให้เขาโตไปกับต้นไม้ อนาคตของเมือง ‘คนต้องรักต้นไม้’ แทนที่เราจะมีต้นไม้ที่ปลูกโดยท่านอธิบดีคนนั้น คนนี้ แต่เราจะมีต้นไม้ที่ปลูกโดยเด็กชายสมชาย เด็กหญิงสมหญิง”

แล้วจะเอาที่ ที่ไหนปลูก? อย่างแรกคือ ที่ของหน่วยงานราชการ โรงเรียน วัด หากไม่พอ ลองหาที่เอกชน เอากฎหมายที่รกร้างลดหย่อนภาษี ระบุว่า ถ้าเอกชนให้ที่ดินว่างเปล่าแก่ราชการเพื่อทำประโยชน์ชั่วคราวจะได้ลดภาษีที่ดิน แม้ว่าวันหนึ่งที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ขอที่ดินคือแล้วต้นไม้จะไม่ใช่ของ กทม. ก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะต้นไม้เป็นสมบัติของเมืองอยู่ดี เพียงแต่หวังให้ดูแลกันต่อไป

“ต้องสร้างมาตรการจูงใจ intensive ในแง่ภาษี เช่น ถ้าจะสร้างตึกแล้วแบ่งปันที่ดิน ก็จะให้ FAR หรืออัตราการใช้ประโยชน์อาคารโดยรวมต่อที่ดินเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันกฎหมายควบคุมอาคาร ก็พยายามทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะตึกเขียว ๆ มีคนอยากไป เราก็จะเห็นว่ามีตึกที่เริ่มปลูกต้นไม้บนอาคารเยอะขึ้น”

ชัชชาติ

ใช้เทคโนโลยีดูแลต้นไม้ พร้อมปักหมุดเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกเขต-ย่าน

ชัชชาติ ยอมรับว่าที่ผ่านมา กทม. อาจจะเน้นปลูกต้นไม้มากกว่าดูแล เพราะไม่มีงบประมาณจัดสรรในส่วนที่ดูแล แต่หัวใจอย่างแรกคือต้องมีรุกขกรในการดูแล ซึ่งต้องมีประจำเขตทุกเขต 1-2 คนต่อแห่ง และต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนว่าจะตัดอย่างไร มีคู่มือ อุปกรณ์ที่เหมาะสม และต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำ MOU กับการไฟฟ้าฯ หากเห็นว่าเร่ิมเกะกะ ก็ตัดได้แต่ต้องตัดให้ถูก และหลังจากนั้นก็ต้องมีวิธีการดูแลต่อเนื่องกันไป รวมถึงการนำแอปพลิเคชัน ‘Tree Plotter’ มาใช้บันทึกข้อมูลต้นไม้เพื่อทำให้เห็นปริมาณ และมูลค่าของต้นไม้ด้วย

“จะใช้ OKR (Objective and Key Results) คือ เครื่องมือในการตั้งเป้าหมายและกำหนดตัววัดผล ต้องมีให้ชัดเจน และ กทม. ต้องเป็นคนที่ดูแลต้นไม้ ไม่ใช่เทคอนกรีตทับต้นไม้หมด ต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิม ตั้งงบประมาณให้รุกขกรเข้าไปดูแล”

นอกจากนี้ยังต้องมีข้อบัญญัติที่เข้มแข็ง ตั้งคณะทำงานประสานงานในพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วมทั้งภาควิชาการ ประชาชน และเอกชน ให้เป็นแนวร่วม เพื่อระดมทรัพยากรดูแลต้นไม้ในเมือง

ให้ทุกวันอาทิตย์เป็นวันปลูกต้นไม้ของกรุงเทพฯ ทุกหน่วยงานช่วยกันปลูกต้นไม้ มีรางวัล มีแรงจูงใจสุดท้ายพอเห็นเป็นรูปธรรมแล้วทุกคนก็จะทำตาม”

ในส่วนของผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 จะต้องมีการพิจารณาเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียเข้าไปด้วย ไม่ให้ไปกระจุกอยู่แต่ในพื้นที่ชานเมืองเหมือนปัจจุบัน แต่ต้องอยู่ในทุกพื้นที่ ในที่ดินทุกประเภท

“ต้องมีกำหนดเลยว่าในพื้นที่ในเมือง สีเหลือง สีส้ม สีแดง ต้องมีพื้นที่สีเขียวกี่เปอร์เซ็นต์ แม้จะเป็นในเชิงพาณิชย์ พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น จะต้องมีพื้นที่สีเขียวเข้าไปแทรกอยู่ได้ ไม่ใช่จะเอาต้นไม้ไปอยู่ชานเมืองหมด ผังเมืองใหม่จะต้องมีแรงจูงใจทั้งหมด เช่น หากมีการก่อสร้างสวนสาธารณะ จะเพิ่มการใช้ประโยชน์อาคารต่อพื้นที่”

นอกจากนี้ ต้องพยายามเอาพื้นที่สีเขียวกระจายลงไปในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ใกล้คนมากขึ้น แนวคิดคือ ต้องเดินจากชุมชนไม่เกิน 15 นาที ไปถึงพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ง่าย ต้องปักหมุดลงไป ซึ่งไม่ต้องใหญ่ เพียงแค่สามารถเดิน ออกกำลังกายได้ เอาพื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่เอกชนเข้ามาช่วยได้ ต้องเร่งพัฒนาทำตามเป้าหมายให้ได้ กระจายพื้นที่สีเขียวไปสู่ชุมชนให้มาก

ส่งเสริม “เมืองเดินได้เดินดี” กระตุ้นเศรษฐกิจ-ลดมลพิษ

เขาระบุว่า ต้องไม่เอาปัญหารถติดเป็นตัวตั้ง แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้เมืองมีความคล่องตัว ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองเดินได้เดินดี สนับสนุนให้คนเดินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดการใช้พลังงาน ดังนั้น ฟุตพาทต้องดี ทำทางเดินให้ดี เร่ิมปีแรก พันกิโลเมตรก่อน ยิ่งถ้าทางเท้ามีต้นไม้ให้ร่มเงายิ่งดี ทำให้คนอยากเดิน ร้านค้าริมทางขายของได้ คนขี่จักรยานก็ต้องสะดวก เช่น ทำที่จอดจักรยานบริเวณรถไฟฟ้า เข้าสู่ระบบเชื่อมต่อสัญจร อาจจะเริ่มจัดให้เป็นโซนพื้นที่ เช่น เลียบด่วนฯ ขี่จักรยานแล้วไปขึ้นรถไฟฟ้าสีเหลือง ชมพู ส้ม ได้ เพื่อเร่ิมให้คนคุ้นเคย แล้วจึงจะพัฒนาเป็นทางระยะยาว

“ผมว่ากรุงเทพฯ ต้องเดินรถเมล์เอง เพื่อช่วยเชื่อมโยงเส้นทางสัญจร สนับสนุนให้คนเดินเท้า ใช้ทางจักรยาน ใช้ขนส่งสาธารณะใช้การเดินเท้าให้มากขึ้น จะช่วยลดการใช้รถยนต์ลง”

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำเน่า และปัญหาขยะในกรุงเทพฯ ติดตามรับฟังเนื้อหาเพิ่มเติมของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ได้ที่ คอลัมน์ “Green Vision วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” โดยความร่วมมือของ The Active และ สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ได้ในรายการ The Active Podcast และ ThaiPBS Podcast

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้