นักวิทย์ฯ แนะ 3 เหตุผลที่ต้องชม ‘จันทรุปราคาเต็มดวง’ ปีนี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดกิจกรรมชมปรากฎการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง 4 แห่งทั่วไทย ดูได้ทางขอบฟ้าตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17.44 – 18.41 น.  หากพลาดชมต้องรออีก 3 ปี 

ด้าน ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาในคืนวันลอยกระทง คืนนี้ (8 พ.ย. 2565) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 15.02 – 20.56 น. ตามเวลาประเทศไทย สังเกตได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนเหนือและตะวันออก ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาเหนือ บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของขั้วโลกใต้

สำหรับประเทศไทย ดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา 17.44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ และจะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17.44 น. เป็นต้นไปช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18.41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที 

3 เหตุผลที่คนไทยควรออกไปชม “จันทรุปราคา” 

ศรัณย์ ยังระบุถึง 3 เหตุผลที่คนไทยควรได้มีโอกาสชมปรากฎการณ์จันทรุปราคาคืนนี้ ว่า 1. ตรงกับวันลอยกระทงนานทีมีหนที่ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองพอดี หมายความว่าคนไทยทั้งประเทศจะได้ฉลองวันลอยกระทงไปพร้อมกับดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ ชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ นับเป็นโอกาสที่พิเศษมากเลยทีเดียว และพิเศษสุดกับพวกเราชาว NARIT ที่จัดกิจกรรมลอยกระทงชมจันทร์สีแดงอิฐแบบเฉพาะกิจ แต่งชุดไทยเก๋ ๆ มาชมจันทรุปราคาด้วยกันที่หอดูดาว พบกันได้ที่จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา 

2. จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้าขณะอยู่ในช่วงคราสเต็มดวงพอดี หรือก็คือดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง ทำให้เราจะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ รวมระยะเวลา 57 นาที จากนั้นดวงจันทร์จะเคลื่อนออกจากเงามืดเข้าสู่เงามัวของโลก เกิดเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน จะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งบางส่วน และเมื่อดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกทั้งดวง จะเกิดเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีความสว่างลดลงเล็กน้อย ก่อนสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 20.56 น. เมื่อดวงจันทร์โคจรออกจากเงาของโลกหมดทั้งดวง

และ 3. หลังจากนี้จะไม่มีปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นในประเทศไทยไปอีก 3 ปี จะได้ชมดวงจันทร์สีแดงอิฐทั้งดวงแบบนี้อีกทีคือวันที่ 8 กันยายน 2568

“ราหูอมจันทร์” ปรากฎการณ์ที่อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์  

สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือ ช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก คนไทยสมัยโบราณเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ราหูอมจันทร์”

เงาของโลกที่ทอดไปในอวกาศแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “เงามัว (Penumbra Shadow)” เป็นเงาส่วนนอกสุด เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะมีความสว่างลดลงเล็กน้อย และ “เงามืด (Umbra Shadow)” เป็นเงาที่มืดสนิท เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะทำให้เกิดส่วนมืดเว้าแหว่ง จึงแบ่งประเภทของปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ดังนี้ 

1. จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ เนื่องจากแสงขาวจากดวงอาทิตย์จะถูกหักเหเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลก สีแดงและสีส้มเบี่ยงทิศทางเข้าหากลางเงามืด จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงระหว่างเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง   

2. จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน โดยจะมองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง

3. จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด เรายังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างลดน้อยลง สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก

NARIT จัดกิจกรรมดูดวงจันทร์ 4 แห่ง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวงคืนวันลอยกระทง ชวนแต่งชุดไทย/ พื้นเมือง ร่วมลอยกระทงใต้แสงจันทร์พร้อมชมจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ และดูดาวเคล้าเสียงเพลง ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลาเวลา 18:00 – 22:00 น.  สอบถามโทร. 081-8854353

ผู้สนใจร่วมงานลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่  https://bit.ly/LoyKratong-TotalLunarEclipse2022 รับ “แผนที่ดาว” จำนวนจำกัด ร่วมกิจกรรม ฟรี ! ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ตั้งแต่เวลา 18:00 น. เป็นต้นไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active