“พีมูฟ” รับทราบข้อหา สน.นางเลิ้ง ย้ำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เครื่องมือรัฐ ปิดกั้นชาวบ้าน จี้ยกเลิก

ตัวแทนพีมูฟ 11 คน จาก 16 คน เข้ารับทราบข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชาวบ้าน โอดลุกขึ้นเรียกร้อง ให้รัฐช่วยแก้ปัญหา กลับโดนคดีติดตัว ย้ำรัฐเร่งยุติคดี – เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากยังนิ่ง ขู่เคลื่อนไหวใหญ่อีกรอบ   

วันนี้ (1 มี.ค.65) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) นัดรวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เพื่อให้กำลังใจ และส่งตัวแทนพีมูฟ ที่ถูกดำเนินคดี เข้ารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหา ตามหมายเรียกกรณีผ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ม.ค. – 3 ก.พ.ที่ผ่านมา

วันนี้มีตัวแทนกลุ่มพีมูฟ ที่โดนหมายเรียก 11 คน จาก 16 คน เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนอีก 5 คน จะเดินทางมาภายหลัง เนื่องจากติดปัญหาความไม่พร้อม และความยากลำบากในการเดินทาง โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อย่างชาวบ้านบางกลอย

มาลัย เจียงเพ็ง อายุ 60 ปี ชาวบ้านโนนโฮม อ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี เป็น 1 ใน 16 คน ที่ถูกออกหมายเรียก บอกว่า ข้อกล่าวหาครั้งนี้ไม่เป็นธรรม เพราะเธอเป็นตัวแทนชาวบ้าน ที่มาร่วมสะท้อนปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง ส่งผลกระทบต่อที่ทำกินมานานกว่า 25 ปี แต่การมาเรียกร้องการแก้ไขปัญหากลับถูกดำเนินคดี ทำให้เดือดร้อนมีคดีติดตัว นี่จึงถือเป็นช่วงที่ยากลำบากมาก  

“ถ้ารัฐบาลรีบแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนทุกกรณี ให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และจัดการทุกๆ เรื่องไปตามลำดับ ชาวบ้านก็คงไม่จำเป็นต้องขึ้นมาชุมนุม ไม่มีม็อบ ไม่ว่าทั้งในกรุงเทพฯ หรือ ที่ไหนๆ”

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานกลุ่มพีมูฟ ย้ำในแถลงการณ์ว่า การต่อสู้กับปัญหาทางนโยบาย เพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมี ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อประชาชนคนจน และผู้เดือดร้อนทั้งประเทศ  จึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึงต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเร็วที่สุด หากไม่คืบหน้า ก็พร้อมเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง

“นี่ไม่ใช่การยอมรับความผิด แต่เราให้ความร่วมมือตามกระบวนการทางกฎหมาย เดี๋ยวเราว่ากันต่อ จะทำยังไงที่จะสามารถยุติคดีตรงนี้ให้ได้ ที่ผ่านมาเราประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อยื่นกรณีนิรโทษกรรมให้กับพี่น้องประชาชน ที่โดนคดีจากนโยบายภาครัฐ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเขาก็รับปากจะทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน ก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะทำได้จริงหรือไม่”

ขณะที่ ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความกลุ่มพีมูฟ ยอมรับว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน รัฐควรใช้หลักการปกครองเร่งแก้ไข ไม่ใช่ใช้กฎหมายมาดำเนินคดี หรือ ใช้กฎหมายมาคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน

“การดำเนินคดีกับชาวบ้านแบบนี้ เรามองว่า เป็น SLAPP หรือ การฟ้องคดีปิดปาก ใช้กฎหมายมาคุกคามการใช้เสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะฉะนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควรต้องยกเลิกได้แล้ว ถ้าไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด แต่กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ใช้ดำเนินคดีกับพี่น้องประชาชน”

สำหรับการเข้ารายงานตัวของพีมูฟวันนี้ พวกเขายืนยันว่า ไม่ได้เป็นการรับผิดตามข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และความผิดตามมาตรา 215 ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป แต่ดำเนินตามกระบวนการทางกฎหมาย และเตรียมยื่นเอกสารให้การเพิ่มภายในวันที่ 20 มี.ค.นี้ โดยเปิดเผยด้วยว่า ตำรวจ เตรียมส่งฟ้องอัยการทันที ในวันที่ 21 มี.ค. จึงตั้งข้อสังเกต เป็นการตั้งธงที่จะดำเนินคดีเอาไว้แล้วอย่างชัดเจน พร้อมประกาศขีดเส้นรัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ยุติคดี ภายใน 1 เดือน หากไม่คืบหน้าเตรียมนัดชุมนุมใหญ่

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ