ชู “อบต.น้ำกุ่ม” ต้นแบบชุมชนพลิกฟื้นเขาหัวโล้น สู่ป่ายั่งยืน

ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน สร้างอาชีพจากภูมิปัญญา ด้วยต้นทุนทางสังคม ดึงลูกหลานกลับมาทำงานที่บ้าน พร้อมปลุกเยาวชนเรียนรู้ สานต่อแนวทางคนอยู่ร่วมกับป่า

องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ถือเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ชุมชนคนอยู่กับป่า ทั้งการเป็นแหล่งอาหาร ผ่านคน 2 วัย, น้ำกุ่มป่าแห่งความพอเพียง และ อาสาสร้างฝายฟื้นฟูผืนป่า คืนความชุ่มชื้นให้ระบบนิเวศ หลังจากพื้นที่นี้ต้องเผชิญปัญหาจาก การสัมปทานไม้ ทำให้ป่าถูกทำลายกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ส่งผลให้เกิดอุทกภัย ชาวบ้านไร้ที่ทำกิน ต้องอพยพไปทำงานต่างถิ่นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีทรัพยากรในการดำรงชีวิต

นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. บอกว่า จากการทำงานกับ อบต.น้ำกุ่ม ตั้งแต่ปี 2555 ทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพผู้นำ ข้อมูล นวัตกรรม ผ่านทุนทางสังคมและศักยภาพของพื้นที่ และอาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็น ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) ตำบลสุขภาวะ สานพลังเครือข่าย 6 แห่ง เพื่อร่วมกันเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

โดยมีประเด็นสำคัญในการร่วมกันวางแผนและดำเนินการจัดการน้ำ ดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ โดยครัวเรือน บุคคล หมู่บ้าน ชุมชน ได้ทำข้อตกลง มีกลไกการทำงาน ฟื้นคืนผืนนิเวศน้ำกุ่ม ผ่านอาสาสมัครทำฝาย ผนึกกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสรรการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.

ขณะที่ด้านสุขภาพ ได้จัดชมรมออกกำลังกาย การป้องกันโรคติดต่อ และยาเสพติดในชุมชน และในอนาคตจะเดินหน้าดูแลระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเชิงรุก ตลอดจนสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้สมดุล ผ่านองค์ความรู้ที่มีในชุมชนท้องถิ่น

“อบต.น้ำกุ่ม ใช้หลักการดำเนินงาน และบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ มุ่งเน้นให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสมดุล ด้วยการจัดการ ดิน น้ำ ป่า ทำแนวป้องกันไฟป่า สร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกหญ้าแฝก จัดตั้งศูนย์ร่วมประชุมวางแผนป้องกันหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน เฝ้าระวังและเตือนภัยในช่วงที่อยู่ในภาวะเสี่ยง นอกจากนี้ มีการคัดแยกขยะ 539 ครัวเรือน จากทั้งหมด 595 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 90.5 ถึงแม้จะเป็นพื้นที่ห่างไกล แต่มีต้นทุนทางสังคมที่ดี ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีความเข้มแข็งในการลุกขึ้นมาร่วมกันจัดการป่า และระบบนิเวศ ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ไม้กวาดดอกหญ้า ประปาหมู่บ้าน เป็นต้น สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน”

นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ไกร พรมสีนอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม จ.พิษณุโลก

ไกร พรมสีนอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำกุ่ม จ.พิษณุโลก บอกว่า อบต.บ้านน้ำกุ่ม มีเทือกเขา และป่าไม้ปิดล้อมทุกด้าน จึงมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูขัด และอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ มีป่าไม้ และแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ในอดีต อบต.น้ำกุ่ม เป็นพื้นที่สัมปทานตัดไม้ ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายเป็นภูเขาหัวโล้นเกิดอุทกภัย ขาดที่ทำกิน คนในชุมชนต้องอพยพไปทำงานต่างถิ่นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีทรัพยากรในการดำรงชีวิต

นายก อบต.น้ำกุ่ม บอกอีกว่า จากการที่ชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันพลิกฟื้นผืนป่า และร่วมทำงานกับ สสส. ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้ และยังสามารถสร้างมูลค่าจากผลผลิตทางการเกษตรที่เน้นการบริโภคในครัวเรือน และนำส่วนที่เหลือไปขาย นำไปสู่การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีการรวมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ โดยใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรในพื้นที่ ทำให้คนที่ต้องพลัดถิ่นไปทำงานกลับมาทำกินในพื้นที่มากกว่า 90%

ภานุทัศน์ ทนก้อนดี ปราชญ์ชุมชนบ้านน้ำกุ่ม จ.พิษณุโลก

ขณะที่ ภานุทัศน์ ทนก้อนดี ปราชญ์ชุมชนบ้านน้ำกุ่ม จ.พิษณุโลก เล่าว่า อบต.น้ำกุ่ม มีภูเขาสูง สวยงาม อากาศบริสุทธิ์ คือ “ทุน” อย่างดีของชุมชนที่รอการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง สร้างจิตสำนึก ความเอาใจใส่ดูแลทรัพยากรป่าไม้ หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมการปลูกป่าการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ จึงได้อบรมให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชนผ่าน “โครงการเยาวชนดวงใจสีเขียว” ตั้งแต่ปี 2561 ผ่านกลไกการหนุนเสริมของ สสส. และชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

ปัจจุบันมีเยาวชนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการกว่า 200 คน ก่อเกิดเป็นกิจกรรมศึกษาเรียนรู้แหล่งอาหารผ่านคน 2 วัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้จักต้นไม้ และการใช้ประโยชน์จากป่า ส่งต่อประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น โดยมีปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวให้ความรู้ คำแนะนำ ในการการหาอาหาร หาสมุนไพร มาใช้ในชีวิตประจำวัน และความรู้เกี่ยวกับป่าให้กลุ่มเยาวชนได้ตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากป่าในอนาคต

“ที่จำความได้เลย เราเกิดมาในยุคของสงคราม ตอนนั้นผู้คนก็อยู่ด้วยความหวาดระแวง สัตว์ป่าก็หายไปหมด ช่วงที่เขาสัมปทานป่าไม้ เริ่มมีถนนเข้ามาทำให้ต้นไม้ใหญ่ในชุมชนของเรามันหายไป ชาวบ้านก็เริ่มสัมผัสได้ถึงผลกระทบ แหล่งน้ำที่เกิดจากต้นไม้ใหญ่ก็เหือดแห้งไป พอแหล่งน้ำที่ให้อาหารเรามันหายไป เราก็เริ่มทำฝายเล็ก ๆ เพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำ จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 30 ปี พอเราไม่ไปทำลาย สิ่งที่เราได้กลับมาคือความอุดมบูรณ์ มีน้ำเพื่อการเกษตรในหมู่บ้าน คนมีรายได้จากการเกษตร มีแหล่งอาหารในป่าให้กับชุมชน”

ภานุทัศน์ ทนก้อนดี

กิตติ์จีระภูมิ ดีพิมาย เยาวชนกลุ่มหัวใจสีเขียว ยอมรับว่า รู้สึกดีที่มีผู้ใหญ่มาคอยแนะนำ ทำให้มีความรู้ และรู้จักการรักษาป่า ไม่ทิ้งขยะในป่า ไม่เผาป่า ไม่ตัดต้นไม้ โดยส่วนตัวแม่ก็จะชอบพามาหาเห็ดในป่า เพื่อนำไปทำอาหาร รู้สึกสนุก และรู้สึกดีที่มีป่าอยู่ใกล้ตัว

เช่นเดียวกับ ลภัสญา วงศ์คำ เยาวชนกลุ่มหัวใจสีเขียว บอกว่า อยู่กับป่าแล้วมีความสุข เพราะอากาศดี ได้ไปเล่นน้ำก็สนุก และอยากให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาป่า ปลูกต้นไม้ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active