ผู้นำ 35 เกาะ ร่วมผลักดัน “ทุนสังคม ทุนวัฒนธรรม” สู่ Soft Power

เสวนาชาวเกาะวันแรก รวมตัวผู้นำท่องเที่ยว – ผู้นำชุมชน – ชาวบ้าน จาก 35 เกาะในประเทศไทย จัดกิจกรรมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เน้นการมีส่วนร่วม เพราะการสร้างความยั่งยืน เกิดจากพลังของทุกคน

วันนี้ (6 มิ.ย. 2567) เวทีสัมมนาชาวเกาะ การท่องเที่ยวเกาะยั่งยืน 2567: ผนึกพลังคุณค่า สู่มูลค่าใหม่ของเกาะไทย (The 2nd Thailand Sustainable Island Tourism Symposium 2024: Awakening New Depths-Adding Value to Thailand’s Islands) ที่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 มิ.ย. 2567 โดยในวันแรกเป็นกิจกรรมเสริมพลังและแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำเกาะจาก 35 เกาะในประเทศไทย ทั้งภาคธุรกิจ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านเข้าร่วม

ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (CivicNet) กล่าวในเวที เสริมพลังผู้นํา : ยุทธการเขย่าเกาะ สร้างพลังลูกใหม่ ว่าการรวมตัวครั้งนี้เพื่อสร้างสิ่งที่เห็นด้วยตาจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคาร์บอนเครดิต ทำเรื่องการจัดการขยะบนเกาะ ให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน แต่สิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา คือ “พลังของทุกคน” ที่จะร่วมกันทำให้เกิดสิ่งที่ตามองเห็นได้ และการมารวมตัวครั้งนี้ก็เพื่อที่จะลงลึกไปในสิ่งที่ตามองไม่เห็น เพื่อให้เกิดเป็นพลังคลื่นลูกใหม่ เราต้องร่วมมือกัน ถ้าไม่เช่นนั้น การจัดการขยะ น้ำเสีย คาร์บอนเครดิต ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ทำให้เกิดกิจกรรมกระบวนการ พูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อดึงพลังออกมาจากกลุ่มผู้นำเกาะ

ชัยวัฒน์ กล่าวว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้จะมีทั้งการแบ่งกลุ่ม เพื่อให้ได้สะท้อนเรื่องราวจากพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงแรงบันดาลใจที่มาทำงานเพื่อพัฒนาเกาะของตัวเอง และการร่วมวาดภาพเกาะในฝันที่อยากให้เป็นร่วมกัน โดยมีโจทย์คือ เป้าหมายการสร้างเกาะให้เกิดขึ้นจริงในอีก 5 ปีข้างหน้า จากนั้นจะให้แต่ละกลุ่มได้ศึกษาเรียนรู้จากภาพของกลุ่มอื่น ก่อนจะเป็นกิจกรรมบริเวณชายหาดสร้าง “สัญลักษณ์การรวมพลัง” คือเป็นกระบวนการ Design Thinking 

อมลรดา นาคฤทธิ์ ผู้ช่วยชุมชนเกาะจิก จ.จันทบุรี เล่าในกิจกรรม ล้อมวงเล่าแรงบันดาลใจมาทำงานเพื่อเกาะเพราะอะไร ว่า เริ่มต้นจากการทำงานในการพัฒนา ก่อนหน้านี้เคยไปอยู่ที่ จ.สตูล มาก่อน แล้วรู้สึกชื่นชอบในวิถีชีวิต ธรรมชาติ และส่วนตัวมองเห็นว่าแต่ละเกาะมีความแตกต่างกัน ซึ่งการพัฒนาบางอย่างอาจไม่ตอบโจทย์ของพื้นที่โดยแท้จริงและอาจหลงลืมวิถีของเกาะไป ทำให้การพัฒนาอาจไม่ได้ทำให้คนบนเกาะได้ประโยชน์ ซึ่งการได้มาร่วมแลกเปลี่ยนหวังว่าจะได้นำองค์ความรู้กลับไปพัฒนาได้ดีขึ้นจะทำให้เกาะได้ประโยชน์ ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต แต่พวกเขาจะสามารถดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้ด้วย

สัมฤทธิ์ ปาหะ ประธานสภาเทศบาลตำบลศาลาด่าน และผู้ประกอบการ ลันตา เพิร์ล บีช รีสอร์ต

สัมฤทธิ์ ปาหะ ประธานสภาเทศบาลตำบลศาลาด่าน และผู้ประกอบการ ลันตา เพิร์ล บีช รีสอร์ต เล่าว่า เขาเป็นชาวลันตาตั้งแต่กำเนิด พ่อแม่ก็เป็นคนเกาะลันตา จุดเริ่มต้นเกิดจากคนนอกที่เรียกเราว่า “ชาวเล” ที่เขาอาจะมองความหมายในด้านลบ มองเป็นความลำบาก ยากจน แต่ส่วนตัวเขาที่มองว่าคำนี้คือ “ความภาคภูมิใจ”

“เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นที่ได้ไปเรียนในเมือง คนในวัยเดียวกันต่างมองหาความเจริญ แต่ชีวิตเขาต้องกินปลากระป๋อง ต่างจากตอนอยู่ที่บ้าน ที่มีปลาในทะเลกินจับกินได้โดยที่ไม่ต้องซื้อ จึงเกิดเป็นความตั้งใจกลับมาพัฒนาบ้านของตัวเองผ่านงานการเมือง และประกอบกิจการที่พัก ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการที่เป็นคนลันตาจริง ๆ ถือว่าเหลือน้อยมาก”

สัมฤทธิ์ ปาหะ

ผศ.จิตศักดิ์ พุฒจร อาจารย์สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี กล่าวถึง การสร้างพลัง เพื่อขับเคลื่อน ทุนสังคม ทุนวัฒนธรรม สู่ Soft Power ว่าปัจจุบันในหลายพื้นที่ได้มีความพยายามผลักดันในเรื่องของทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิตของสังคมสอดแทรกเข้ากับกิจกรรมการท่องเที่ยว บางที่จะเห็นในลักษณะของการค่อย ๆ ทำโดยที่บางครั้งนักท่องเที่ยวไม่รู้ตัว เมื่อกล่าวถึง Soft Power คือความนุ่นนวล แต่บางพื้นที่แทรกเข้าไปในโปรแกรมชัดเจนอาจทำให้ไม่ยั่งยืน ซึ่งในที่นี้มีเกาะมากกว่าครึ่งที่เป็นเช่นนั้น

“นั่นคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องจัดกิจกรรมขึ้นมา เพื่อให้ได้เกิดการทบทวน เกาะที่เห็นตัวอย่าง ของการใช้ทุนสังคม ทุนวัฒนธรรม เป็น Soft Power คือ เกาะช้างใต้ บ้านสลักคอก จ.ตราด ข้ามไปเกาะช้างแล้วต้องเลี้ยวไปทางซ้าย ที่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นชุมชนดั้งเดิมในการท่องเที่ยวอยู่ หรือ เกาะพยาม จ.ระนอง ที่ได้รับความนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวยุโรป เยอรมัน มาครั้งหนึ่งก็อยู่ 5-6 เดือน ความเป็นเอกลักษณ์คือ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก สงบ ความเป็นอยู่ไม่ได้สบายมากนัก ไม่มีรถยนต์ หรือเสน่ห์ของ เกาะลันตา จ.กระบี่ ที่บทบาทผู้นำพื้นที่ชัดเจน ความเป็นชุมชนมุสลิมที่มีเอกลักษณ์ก็เป็นจุดดึงดูการท่องเที่ยวได้ และเป็นพื้นที่ที่ไม่ละทิ้งกลุ่มชาติพันธุ์เล็ก ๆ อย่างชาวมอแกน และเรายังมองเห็นภาพความร่วมมือกับ กระบี่ Go green ทำให้เกิดความยั่งยืน ลูกค้าเฉพาะของเขาก็จะกลับมาและการที่ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรื่องแรงบันดาลใจ ก็ทำให้ได้ทบทวน”

ผศ.จิตศักดิ์ พุฒจร

โดยภายหลังกิจกรรมเสร็จสิ้น ได้มีการถอดบทเรียนสิ่งที่ได้รับ ทั้งเรื่องของการทำงานร่วมกัน การรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ได้เห็นพลังของการคิดร่วมกัน ลงมือทำร่วมกัน เกิดเป็นผลงานที่จับต้องได้ ความเป็นเครือข่ายของชาวเกาะ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active