ขอรัฐบาลศึกษาให้รอบคอบ ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบแยกส่วนตามพื้นที่ ก่อนตัดสินใจ เชื่อเดินหน้าโครงการ ทำวงจรระบบนิเวศเปลี่ยนสภาพ กระทบคน สัตว์ ระยะยาว
The Active ชวน “สมโชค จุงจาตุรันต์” ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มรักษ์พะโต๊ะ ลงพื้นที่ติดตามข้อห่วงกังวลของภาคประชาชน ที่มีต่อโครงการ “แลนด์บริดจ์” โดยเฉพาะพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติตลอดแนวเส้นทางจาก “ท่าเรือแหลมริ่ว” จ.ชุมพร ไปจนถึง “ท่าเรืออ่าวอ่าง” จ.ระนอง
“แหล่งต้นน้ำ” ถูกคุกคาม กระทบระบบนิเวศ คน สัตว์
บริเวณแรก คือ ป่าปังหวาน ป่าปากทรง และน้ำตกเหวโหลม ในผืนป่าพื้นที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ทั้ง 3 จุดนี้ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ที่ต้องสงวนรักษาไว้เป็นต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ บริเวณนี้ภาคประชาชนกังวลว่าจะถูกทำลาย และได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น และเป็นพื้นที่ที่เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กังวลว่าจะถูกทำลาย จากการก่อสร้างเส้นทางแลนด์บริดจ์ เพราะหากพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A ได้รับผลกระทบ นั่นอาจส่งผลต่อต่อแหล่งน้ำใต้ดิน แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ด้วยหรือไม่
“3 จุดนี้อยู่ในเขต อ.พะโต๊ะ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ คือพื้นที่ 1A ก่อนจะมาถึงจุดนี้โครงการมีการเจาะอุโมงค์ ผ่านพื้นที่ลุ่มแม่น้ำก็คือ 1A ถึง 2 จุด รวมกันสักประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งเราไม่ทราบแบบว่าจุดที่เขาเจาะมีความลึกขนาดไหน แล้วมันผ่านจุดลุ่มแม่น้ำ ผมก็ไม่ทราบว่าอนาคตข้างหน้าน้ำใต้ดิน จะเปลี่ยนทิศทางหรือไม่ แล้วที่น่าสังเกตคือโครงการแลนด์บริดจ์ตัวนี้ เข้ามาทางบริเวณทิศเหนือของถนนสาย 4006 ซึ่งจะตัดผ่านจุดกำเนิดแม่น้ำพื้นที่ 1A 97% อยู่ทางทิศเหนือของถนน 4006 เพราะฉะนั้นธรรมชาติ ระบบนิเวศจะเปลี่ยนแปลงไป และไม่ได้กระทบเฉพาะมนุษย์ แม้กระทั่งสัตว์ป่าก็ได้รับผลกระทบ”
สมโชค จุงจาตุรันต์
เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ยังบอกด้วยว่า ผืนป่าบริเวณน้ำตกเหวโหลม ยังเชื่อมต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน และอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ต.ราชกรูด จ.ระนอง ด้วย จุดนี้เปรียบได้กับ “ปอดของภาคใต้” เลยก็คงไม่ผิดนัก
“ควนแม่ยายหม่อนก็เช่นกัน ลักษณะคาบเกี่ยวกันเลย ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าถาวร ถูกคาบเกี่ยว ด้านล่างเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่ามันคาบเกี่ยวกันหมดแต่ที่เหมือนกันคือ เป็นพื้นที่ 1A เหมือนกันหมด ถือว่าเป็นปอดของภาคใต้ก็ว่าได้ครับ ซึ่งคนในพื้นที่กังวลกันหมดครับว่า ในอนาคตหากเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ซึ่งนิคมระนองอยู่ติดกับพื้นที่ 1A ควนแม่ยายหม่อน”
สมโชค จุงจาตุรันต์
ควนแม่ยายหม่อน ควนแม่ยายหม่อน
มาจนถึง จ.ระนอง จุดที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษ คือ ผืนป่าชายเลนขนาดใหญ่ ที่ถูกประกาศเป็น “พื้นที่แรมซาร์ไซต์” ด้วยมีความหลากหลายทางชีวภาพ ตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งทำกินของชาวประมง ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังผลักดันเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ที่มีข้อกำหนดว่า “ห้ามมีการก่อสร้างใด ๆ โดยน้ำมือมนุษย์”
สมโชค กังวลว่า ทุกอย่างอาจหลงเหลือเพียงแค่ชื่อ เพราะตามเส้นทาง “แลนด์บริดจ์” พื้นที่เหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นสถานีรถไฟ ต.ราชกรูด ไปจนถึงท่าเรืออ่าวอ่าง
“จุดนี้เป็นป่าโกงกางที่สมบูรณ์ที่สุดในภาคใต้ อายุมากกว่า 300 ปี และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์วัยอ่อน การเจริญเติบโตส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่นี่ ถ้าป่าตรงนี้ได้รับผลกระทบ หรือถูกทำลายไป วิถีชีวิต และวงจรของสัตว์น้ำถือว่าถูกทำลายหมดสิ้น ระบบห่วงโซ่ ระบบอุปทานสัตว์ถูกทำลายหมดสิ้น”
สมโชค จุงจาตุรันต์
แลนด์บริดจ์ แลก ทรัพยากรธรรมชาติ ?
ขณะที่มุมมองของ หาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ เห็นว่า จากการดูพื้นที่โครงการจากเอกสารต่าง ๆ ของ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า เส้นทางที่เป็นเส้นทางเชื่อมจากทางบกคือ สถานีรถไฟสุดท้ายของราชกรูด ลงไปถึงท่าเรือพาดผ่านพื้นที่แรมซาร์ไซต์ และป่าชายเลน โดยมองว่าพื้นที่ของระนองเป็นพื้นที่อ่อนไหวมากกว่าพื้นที่อื่น ไม่ควรเลือกตรงพื้นที่นี้ โดยเฉพาะอนุสัญญาแรมซาร์ ระบุชัดเจนในข้อตกลงของอนุสัญญาว่า 1. ไม่ควรมีโครงการที่มีผลกระทบที่รุนแรง และ 2. ถ้าโครงการมีผลกระทบและมีการเปลี่ยนสภาพโดยสิ้นเชิง จะต้องหาพื้นที่ทดแทนแหล่งใหม่ ซึ่งมีระบบนิเวศเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘แลนด์บริดจ์’ มิติทางธรรมชาติ กับ ความคุ้มค่าทางธุรกิจ
“ผมคิดว่าวันนี้ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กำลังเสนอพื้นที่นี้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ตั้งแต่อ่าวระนอง จนไปถึง หาดท้ายเหมือง พังงา แล้วก็หาดศรีน่าน เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ฉะนั้นเมื่อเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ สิ่งที่เขากำหนดไว้ในมรดกโลกทางธรรมชาติก็คือ ห้ามมีการก่อสร้างใด ๆ โดยน้ำมือมนุษย์โดยเด็ดขาด ก็จะถูกยกเลิกเพิกถอนการเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ”
หาญณรงค์ เยาวเลิศ
ถมทะเล! ขวางกระบวนการธรรมชาติ วงจรนิเวศสัตว์น้ำ
สอดคล้องกับ ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้ว่า พื้นที่อุดมสมบูรณ์อย่างแรมซาไซต์ของระนอง เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าชายเลน ถึงขั้นมีคุณสมบัติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งตรงนั้นเป็นศักยภาพของพื้นที่ที่อาจจะเอื้อประโยชน์ทั้งระบบนิเวศและชุมชนชายฝั่ง ดังนั้นถ้ามีท่าเรือ แม้เห็นว่าอยู่นอกเขตที่ประกาศเป็นมรดกโลก เพราะอยู่ในทะเล แต่ตัวท่าเรือ ที่คาดว่ามีโอกาสจะต้องถมทะเลเกือบ 7,000 ไร่ ประเด็นสำคัญก็คือเกาะที่ถมใหม่จะขวางเส้นทางการเดินทางของสัตว์ทะเลหลาย ๆ ชนิด ที่จะเข้าไปวางไข่ในบริเวณป่าชายเลน และบริเวณที่เป็นหาดเลน ที่เรียกว่า “อ่าวอ่าง-แหลมริ่ว” ถือเป็นการขัดขวางกระบวนการทางธรรมชาติอันหนึ่ง
ส่วนการขุดลอกเพื่อให้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่เข้ามาในบริเวณนี้ จะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนที่สะสมอยู่ที่พื้น รวมถึงกลุ่มโลหะหนัก โดยปกติโลหะหนักจะจับตัวกับสารอินทรีย์จมตัวอยู่ที่บริเวณหาดชายเลน อาจจะฟุ้งกระจายกลับเข้าสู่น้ำทะเล ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ และสิ่งสำคัญที่เรียกว่าเป็นนิเวศบริการ หรือสิ่งที่ระบบนิเวศให้กับชุมชนชายฝั่ง ในเรื่องมิติของทรัพยากรประมงแหล่งกำเนิด แหล่งอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ สัตว์ทะเลทั่วไป ที่เป็นต้นทุนทรัพยากรประมงของแถบจังหวัดระนอง ชุมชนชายฝั่งหลายพันครัวเรือนที่เคยได้ประโยชน์จากทรัพยากรตรงนี้จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
“การใช้ชีวิตในเรื่องการทำประมงของชุมชนน่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และคาดว่าไม่ได้เกิดแค่ในระยะ 5 กิโลเมตรตามที่โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่มีมากกว่านั้น เพราะประชาชนจะทำการประมงในพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ และต้องโยกย้ายไปทำประมงที่อื่นเท่ากับการไปแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”
ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง
เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จึงมีข้อเสนอว่า ควรทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบแยกส่วนตามพื้นที่ เช่นผลกระทบพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A พื้นที่แรมซาร์ไซต์ และระหว่างที่ยังศึกษาผลกระทบไม่แล้วเสร็จ ก็ไม่ควรเดินหน้านำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ต่อนักลงทุน