ดันนโยบาย​ ‘ปลูกข้าวยั่งยืน ลดโลกร้อน’ นำร่องที่แรกของเอเชีย

นักวิชาการ ชี้ให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรไม่ใช่ทางออกที่ดีต่อการพัฒนาคุณภาพข้าวไทย แต่ควรสนับสนุนองค์ความรู้ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ​ผลการศึกษาพบว่า การปลูกข้าวยั่งยืน ​ช่วยประหยัดต้นทุน เวลา ค่าใช้จ่าย และลดก๊าซเรือนกระจก

แม้ก่อนหน้านี้ ครม. มีมติเห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินจ่ายขาดกว่า 1 หมื่นล้าน เป้าหมายข้าว 3 ล้านตัน และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงินจ่ายขาดเพื่อชดเชยดอกเบี้ยอีกกว่า 480 ล้าน เพื่อชะลอการขายข้าวของเกษตรกร และการจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท แบบที่ชาวนาเข้าใจว่า ช่วยค่าเก็บเกี่ยว หรือ ให้เปล่า อย่างที่เคยทำกันมา นี่อาจไม่ใช้่ทางออกที่ดีนักแต่ดูเหมือนเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปก่อน

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จากนี้จะต้องอยู่บนเงื่อนไขบริหารจัดการพัฒนาข้าวให้มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่ช่วยค่าต้นทุนการผลิต ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้ชาวนาหลุดพ้นจากวงจรปัญหาซึ่งก่อนจะเสนอมาตรการนี้เข้า ครม.ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและจัดการข้าวแห่งชาติ หรือ นบข.ก็มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพเพื่อหามาตรการเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิตให้กับชาวนา เช่น การบริหารจัดการใหม่ ๆ การจัดหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อช่วย “ลดต้นทุน” ให้กับเกษตรกร และเพื่อให้ได้ “คุณภาพข้าว” ที่ดีขึ้น

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ วิเคราะห์ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ที่มีโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดด้วยราคาข้าวที่สูงใช้เงินไปประมาณ 6 แสนล้าน ขณะที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ต่อมา ก็มีหลายมาตรการ อย่างแจกเงินไร่ละพัน จำนำยุ้งฉาง และเลิกปลูกข้าว รวม ๆ ใช้เงินไปแล้ว 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก แต่เกษตรกร ก็ยังเป็นหนี้ สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น

​”มาตรการการใช้สินเชื่อชะลอการขาย เพราะการนำข้าวมาจัดเก็บ อาจไม่ได้ทำได้ทุกแห่ง เพราะที่ผ่านมา สหกรณ์การเกษตรกว่า 4,000 แห่ง พบว่ามีสหกรณ์การเกษตรเพียง 600 แห่งเท่านั้นที่มีศักยภาพจะดำเนินการได้ สุดท้ายชาวนาก็ต้องจำใจนำข้าวไปขาย แม้ราคาจะไม่ได้ตามที่รัฐประกาศไว้ก็ตาม”


รศ.สมพร บอกด้วยว่า สิ่งที่รัฐต้องทำทันทีหลังให้เงินชดเชยแบบให้เปล่า คือต้องเริ่มคิดถึง มาตรการแบบมีเงื่อนไข เพราะต่อจากนี้ไปไทยต้องเดินหน้าสู่ทิศทางการพัฒนาข้าวไปสู่ความยั่งยืน และรู้จักเลือกใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะนับวันชาวนาไทยที่อายุมากเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลชุดนี้จะเดินหน้าเรื่องนี้ ก็ต้องเริ่มทำทันที ทั้งการลงทุนเรื่ององค์ความรู้ เพิ่มงบประมาณด้านวิจัย และ บูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การปรับตัว ก็จะทำให้โอกาสของการพลิกฟื้นข้าวไทยให้กลับมาเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเกิดขึ้นได้ ก็จะช่วยทั้งพัฒนาคุณภาพข้าว และพัฒนายกระดับชีวิตเกษตรกรไปพร้อมกัน

ก่อนหน้านี้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ United Nations Environment Programme และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยผลการศึกษา เรื่อง “ข้าวยั่งยืน เพื่อชีวิตและธรรมชาติ” ภายใต้โครงการ The Economics of Ecosystems and Biodiversity (TEEB) ที่นำร่องให้ไทยเป็นที่แรกของเอเชีย ที่คณะศึกษาโครงการประเมินค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในการพัฒนาระบบผลิตข้าวในประเทศไทย เริ่มจากการสำรวจครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวภาคอีสานและภาคกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกข้าวรวมมากกว่า 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และมีผลผลิตรวมกันมากกว่า 80% โดยเป็นพื้นที่รับน้ำฝนและพื้นที่ในเขตชลประทาน ผลการศึกษาพบว่า การปลูกข้าวแบบยั่งยืน ให้ผลที่ดี ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมลดฝุ่นควัน เพราะไม่มีการเผา ขณะเดียวกันผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น จึงสร้างผลกำไรต่อไร่มากขึ้น

รศ.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย หัวหน้าคณะศึกษาโครงการประเมินค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในการพัฒนาระบบผลิตข้าวในประเทศไทย

รศ.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และ หัวหน้าคณะศึกษาโครงการประเมินค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในการพัฒนาระบบผลิตข้าวในประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการผลิตข้าวแบบยั่งยืนนั้นหรือการปลูกข้าว SRP ข้าวต้องมีคุณภาพมีความปลอดภัยในอาหาร ปกป้องสุขภาพและคุ้มครองความปลอดภัยของเกษตรกรผู้ปลูก ผู้ปฏิบัติรวมถึงชุมชน เช่นในขณะเก็บเกี่ยวต้องไม่เผา และต้องเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ จากการใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการที่เพิ่มประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ในการศึกษาวิจัย ได้ใช้การสร้างฉากทัศน์จำลองการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนพื้นที่ปลูกข้าวแบบทั่วไปและการปลูกข้าวแบบยั่งยืน ระยะเวลา 28 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 – พ.ศ.2593 โดยจะเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ปลูกข้าวแบบยั่งยืน ใน 4 กรณี คือ 1.) ปกติ 2.) ปานกลาง 3.) ค่อนข้างสูง และ 4.) อัตราสูง จากการศึกษาทั้ง 4 กรณีสันนิษฐานได้ว่า ในปี พ.ศ.2593 พื้นที่ผลิตข้าวทั้งหมดของประเทศ จะมีพื้นที่ปลูกข้าวแบบยั่งยืนเพิ่มสูงถึง 4 ล้านไร่ 9,600,000 ไร่ 29,200,000 ไร่ และ 43,700,000 ไร่


​หลังจากคณะผู้วิจัยได้เลือกสุ่มสำรวจครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวภาคอีสานและภาคกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกข้าวรวมมากกว่า 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และมีผลผลิตรวมกันมากกว่า 80% โดยเป็นพื้นที่รับน้ำฝนและพื้นที่ในเขตชลประทาน ผลการศึกษาพบว่า การปลูกข้าวแบบยั่งยืน ให้ผลที่ดีกว่าในทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ และผลกระทบที่มีต่อทุนมนุษย์ละทุนทางสังคม ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่าของข้าวไทย โดยผลที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุนมนุษย์ ได้แก่ การมีสุขภาพดีขึ้น เนื่องจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรลดลง ทำให้ต้นทุนลดลงไปด้วย

“ขณะเดียวกันผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น จึงสร้างผลกำไรต่อไร่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนั้นการไม่เผาหลังการเก็บเกี่ยวช่วยลด PM2.5 ทำให้ความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไทยลดลงด้วย ส่วนการเปลี่ยนแปลงในทุนธรรมชาติ เช่น การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากมลพิษทางอากาศซึ่งเกิดจากการเผาหลังการเก็บเกี่ยว การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและส่งเสริมคุณภาพน้ำ”


รศ.ภูมิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การปลูกข้าวยั่งยืนมีส่วนช่วยกระจายผลประโยชน์ในระดับสูงให้กับเกษตรกร โดยหลัก ๆ ผ่านการปรับปรุงผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 15 % และยังลดต้นทุนการเพาะปลูกส่งผลให้มีกำไรมากขึ้น ซึ่งกำไรจากการปลูกข้าวจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่อาจจูงใจให้เกษตรหันมาใช้วิธีการปลูกข้าวยั่งยืนได้ ซึ่งจะพบว่าเกษตรกรภาคอีสานมีกำไรเพิ่ม และภาคกลางผลประโยชน์ที่ได้คือ หากปลูกเยอะจะลดปัญหาการเผาที่เป็นต้นเหตุ PM2.5สูงที่สุด ซึ่งจะดีต่ออนาคตที่ลดการเผา


​”การปลูกข้าวแบบยั่งยืน ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย ซึ่งหลังจากนี้ ผลที่ได้จากการวิจัยจะนำไปสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวแบบยั่งยืนมากขึ้น โดยแนวทางจากการรับประกันความเสี่ยงเรื่องรายได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปแนะนำเกษตรกร เราต้องสร้าง ecosystem ให้ดี โดยหน่วยงานรัฐเข้ามาร่วมกันบูรณาการ เช่น กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน ธกส. และอื่น ๆ มาร่วมสร้างเป็น prototype”

เบื้องต้นในฤดูกาลเพาะปลูกปีหน้า มีแผนจะให้มีการปลูกข้าวแบบยั่งยืน ใน 2 จังหวัด คือ ขอนแก่นและร้อยเอ็ด จังหวัดละ 20 หมู่บ้าน และจะขยายให้ถึง 50 หมู่บ้าน ภายใน 1 ปี พร้อมเพิ่มจำนวนเกษตรกรปลูกข้าวยั่งยืนในแต่ละหมู่บ้านด้วย โดยให้หน่วยงานรัฐสามารถมา Plug-in ได้ เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์แล้วเราจะขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวยั่งยืนให้ได้ทั้งจังหวัด ภายใน 5 ปี หลังจากนั้น โมเดลนี้จะสามารถนำไปใช้ได้กับทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่

ขณะที่ข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ รัฐบาลควรสนับสนุนขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม และต้องมีตัวอย่างสำเร็จให้จูงใจเกษตกรต้องทำที่สำคัญการสนับสนุนองค์ความรู้และการเพิ่มเทคโนโลยีจะทำให้เกษตรกรสามรถลดต้นทุนไปได้มาก สำกรับการสนับสนุนเชิงเทคนิครัฐทำคนเดียวไม่ได้แต่เอกชนช่วยได้ และที่สำคัญเอกชนจะเป็นช่องทางการตลาดที่ดีเพราะสิ่งนี้จะทำให้ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชนเห็นประโยชน์ร่วมกัน ถึงจะไปต่อ และสามารถมุ่งสู่ทิศทางการปลูกข้าวที่ยั่งยืยและมีข้าวคุณภาพด้วย

ธนู ทัฬหกิจ ประธานข้าวยั่งยืนบ้านดอนหมู ต.ขามเปี้ย อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

ธนู ทัฬหกิจ ประธานข้าวยั่งยืนบ้านดอนหมู ต.ขามเปี้ย อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ผู้ปลูกข้าวยั่งยืนหรือข้าว SRP กล่าวว่า เริ่มเข้าโครงการผลิตข้าวยั่งยืน หรือ SRP เป็นแปลงทดลองร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2562 จนถึงปัจจุบัน สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขายได้จำนวนมาก สิ่งที่แตกต่างจากการปลูกข้าวแบบเดิม คือช่วยลดต้นทุน ผลผลิตเพิ่มขึ้น และยังดีกับสิ่งแวดล้อม

ตอนนี้หันมาใช้กระบวนการทำนาหยอด ด้วยเครื่องหยอดแบบติดฟาร์มแทรกเตอร์ ในพื้นที่กว่า 35 ไร่ ที่ปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 ด้วยเกษตรสมัยใหม่ โดยการหยอดข้าวแห้ง 1 ไร่ ใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น ผลลัพธ์ เดิม 1 ไร่ ต้องลงทุนด้วยเงิน 4,000 บาท แต่เมื่อ หันมาทำนาหยอด แบบข้าวยั่งยืน 1 ไร่ ใช้เงินเพียง 2,000 บาท ลดต้นทุนได้ 50%


ธนู ยังบอกอีกว่า แต่เดิมจะได้ผลผลิต 350 บาทต่อไร่ต่อปี แต่พอเปลี่ยนมาทำนายั่งยืนแบบปัจจุบัน ได้ผลผลิตข้าว 675 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และปีหน้าตั้งเป้าอยากให้ได้ผลผลิตเพิ่มเป็น 800 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สาเหตุหลัการทำนายั่งยืน มีกระบวนการวิเคราะห์ดิน วิเคราะห์สัดส่วนปุ๋ย ที่เหมาะสมตามความต้องการของพืชแต่ละชนิด เช่นเดียวกับน้ำที่สามารถคำนวณปริมาณที่พอเหมาะ ช่วยลดการขังของน้ำ และช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน รักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการเผาฟางข้าว ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งก็เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาข้าวในเชิงยุทธศาสตร์ชาติและเป็นทิศทางเดียวกับโลกเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก

พิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ


พิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติและด้านเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวว่าแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะส่งเสริมมาตรฐานการปลูกข้าว GAP ในพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ แต่ถ้าเกษตรกรกลุ่มนี้ สนใจเข้าร่วมการผลิตข้าวแบบยั่งยืนหรือข้าว SRP ภาครัฐก็พร้อมส่งเสริม ซึ่งเมื่อปี 2565 ไทยได้ออกมาตรฐานข้าวยั่งยืนแล้ว โดยจะมีหลักเกณฑ์ที่เป็นสากลมุ่งการผลิตข้าวที่มีคุณภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาดการณ์ว่า ปี 2567 น่าจะสามารถออกใบรับรองมาตรฐานข้าวยั่งยืนให้กับเกษตรกรได้ ซึ่งจะจัดเป็นข้าวกลุ่มพรีเมี่ยม เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีแนวคิดจะเดินหน้าเรื่องนี้ เชื่อว่า ผลตอบแทนที่คุ้มค่า จะเป็นอีกแรงจูงใจของเกษตรกรที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การพัฒนาทั้งคุณภาพข้าวและคุณภาพเกษตรกรไปพร้อมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active