ไข่ 1 ฟอง มีประโยชน์กว่าหูฉลาม 1 ถ้วย ราคาแพง ซ้ำยังเสี่ยงโรคร้าย

ภาคเอกชนจับมือแบนเมนูหูฉลาม กระตุ้นเตือนผู้บริโภคถึงภัยต่อสุขภาพและท้องทะเล ย้ำปัญหาฉลามลดน้อยลงในระบบนิเวศ กระทบทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (21 มี.ค. 66) องค์กรไวล์ดเอด (wildaid) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสมาคมโรงแรมไทย ร่วมจัดกิจกรรม “ธุรกิจภาคบริการกับการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ฉลามและท้องทะเล” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจภาคบริการไม่สู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อท้องทะเล

วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ข้อมูลจากการศึกษา เรื่อง “ฉลามในถ้วยซุป ความเข้าใจผิดด้านโภชนาการของเมนูจากฉลาม ความเสี่ยงต่อสุขภาพ และโอกาสในการเกิดโรคร้าย” ว่า เดิมมีความเชื่อมาตั้งแต่ราชวงศ์หมิง ว่าการกินหูฉลามช่วยเพิ่มความกระปรี้กระเปร่า เจริญอาหาร บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงไต สร้างสมรรถภาพทางเพศ และป้องกันมะเร็ง แต่จากการศึกษาของหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลกพบว่า ไข่หนึ่งฟองยังมีประโยชน์มากกว่าหูฉลามหนึ่งถ้วย และไม่ได้ช่วยต้านมะเร็งแต่อย่างใด ทั้งยังพบว่าเนื้อฉลามมีการปนเปื้อนจากสารพิษ สารโลหะหนักด้วย ทั้งปรอท แคชเมียม สารหนู และอื่น ๆ ดังนั้นจึงส่งผลต่อสุขภาพต่อเด็ก สตรีมีบุตร ผิดจากความเชื่อโดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยแล้วยังอาจส่งผลต่อการก่อโรคร้าย เช่น โรคอัลไซเมอนร์ โรคพากินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคปลายประสาทอักเสบ

“ที่น่าตกใจคือ งานวิจัยที่ฮ่องกง สำรวจสารเคมีในหูฉลามแล้วพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เลือกมา 100% เจอสาร BMAA และปรอทในทุกตัวอย่าง แม้จะยังไม่มีการสื่อสารว่าสารสองชนิดนี้จะทำให้เกิดโรคในคน แต่มีการทดลองให้ลิงกินเป็นเมนู 100 วัน พบว่าเกิดการก่อโรค ALS และโรคอัลไซเมอร์ ในลิง เมื่อพิจารณาร่วมกับห่วงโซ่อาหารทางทะเลจะเห็นว่า สารพิษมีจุดริเริ่มมากตั้งแต่สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินในทะเล และเป็นแหล่งอาหารเริ่มต้นของสัตว์ต่าง ๆ แต่การกินสัตว์ตัวเล็กชนิดอื่น ๆ อาจจะมีการปนเปื้อนจากสารพิษไม่มากนักเพราะเป็นอยู่ในระดับล่างของห่วงโซ่อาหาร ตรงกันข้ามการสะสมของสารพิษจะมากขึ้นสำหรับสัตว์ใหญ่ขึ้น หรืออยู่ในระดับสูงขึ้นของห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นฉลามที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารจึงเป็นสัตว์ที่มีการซึมซับสารพิษมากที่สุดจากการบริโภคสัตว์ตัวเล็กหรือสัตว์ในระดับล่างลงมาจำนวนมาก และเป็นเวลายาวนานนับ 10 ปี เท่ากับว่าการกินฉลามคือการบริโภควัตถุดิบที่มีการสะสมสารพิษสูง นอกจากจะไม่ได้มีประโยชน์แล้วยังเสี่ยงก่อโรคร้านอีกด้วย”

ข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่การเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทางการดำเนินธุรกิจภาคบริการไปสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรกับท้องทะเล และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายโรมแรมที่ยกเลิกเมนูหูฉลาม โดย มาริสา สุโกศล นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า โรงแรมสุโกศลเป็นโรงแรมแรก ๆ ที่ประกาศแบนเมนูหูฉลามเนื่องจากมีนโยบายเรื่องของการสนับสนุนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งพบว่าการไม่เสิร์ฟเมนูหูฉลาม ไม่มีผลกระทบกับผู้บริโภคแต่อย่างใด โดยมีการผลิตเมนูอื่น ๆ มาทดแทน และประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าได้ทราบว่า ลูกค้าเองได้มีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลจากการไม่บริโภคเมนูหูฉลาม ซึ่งลูกค้าก็เข้าใจ จะเห็นว่าทั้งคนรุ่นใหม่ กระแสความยั่งยืน ทำให้ภาคเอกชนหลายกลุ่มให้ความสนใจ แต่ทั้งนี้ได้เสนอว่า ภาครัฐเองควรมีนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย แต่ที่ผ่านมายังไม่เกิดขึ้น

แนนซี่ ลินน์ กิ๊บสัน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิรักสัตว์ป่า และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ fin free thailand กล่าวว่า โครงการได้ไปทำงานร่วมกับภาคธุรกิจโรงแรมต่าง ๆ โดยเน้นให้โรงแรมเป็นพื้นที่ไม่ผลิตเมนูหูฉลาม 100% เพื่อประโยชน์เรื่องสุขภาพของผู้บริโภคและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พยายามทำให้เป็นโครงการเชิงบวกมากกว่าการต่อต้าน ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งผู้ประกอบการ รวมถึงผู้บริโภค นักเรียน นักศึกษาที่สนใจด้านความยั่งยืน ร่วมผลักดันโครงการกับเราด้วย

ศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย กล่าวว่า แพลตฟอร์มฟู้ดแพนด้าได้มีการแบนการจำหน่ายเมนูหูฉลามกับร้านอาหารทุกร้านที่ใช้บริการของแพลตฟอร์ม รวมกว่า 1,000 ร้าน โดยเห็นความสำคัญของการบริโภคอย่างยั่งยืน และในอนาคตมีแผนที่จะพิจารณาการแบนเมนูที่ใช้วัตถุดิบจากฉลามทุกรูปแบบด้วย

ณพล จันทรเกตุ เชฟและเจ้าของร้านอาหารสามล้อ กล่าวว่า การเลือกวัตถุดิบมาปรุงอาหารเราให้ความสำคัญกับการให้คุณค่ากับสิ่งนั้น ๆ ในเรื่องความยั่งยืนก็ต้องใช้วัตถุดิบนั้นอย่างคุ้มค่าที่สุดด้วย สำหรับหูฉลามไม่คิดว่าเป็นวัตถุดิบที่อร่อย และหูฉลามก็เป็นแค่ส่วนหนี่งของฉลามทั้งตัวจึงมองว่าไม่คุ้มค่า สำหรับการสร้างสรรค์เมนูอาหารสามารถที่จะเลือกวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีคุณค่ามากกว่าได้ อย่างเห็ดทราฟเฟิลที่ราคาแพงมาก แต่ถ้าจะสั่งซื้อก็ทำได้ ตรงกันข้ามเห็ดโคนของไทยหนึ่งปีมีแค่ครั้งเดียว เราน่าจะเห็นคุณค่าในสิ่งนี้ได้มากกว่าด้วยซ้ำ หรือปลาจากนอร์เวย์ กับปลาในภาคใต้ของไทย แค่ระยะทางก็รู้แล้วว่าปลาจากไหนจะสดกว่ากัน ส่วนเรื่องของการสื่อสารคิดว่าต้องพยายามบอกเรื่องราวของวัตถุดิบนั้นให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ทั้งเกษตรกรและ ในฐานะเชฟต้องปรุงให้ได้รสชาติที่ดีที่สุด เพื่อสื่อสารไปถึงคนรับประทานให้เห็นคุณค่าในสิ่งเดียวกันได้ด้วย

เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาองค์กรไวล์ดเอด บรรยายในหัวข้อ “ฉลามผู้รักษาความสมบูรณ์ของท้องทะเล สถานการณ์ของปลาฉลามในน่านน้ำไทยและทิศทางการอนุรักษ์ในระดับโลก” ว่า ฉลามปรากฏตัวอยู่บนโลกนี้มากว่า 400 ล้านปี เป็นปลากระดูกอ่อนที่มีความหลากหลายทางลักษณะกายภาพ กว่า 500 ชนิด 8 กลุ่มใหญ่ ๆ พบได้ในถิ่นที่อยู่อาศัยทั่วโลก โดยมีลักษณะเด่นของแต่ละประเภทแตกต่างกัน ตั้งแต่ฉลามวาฬที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ถึง 20 เมตร ฉลามหัวบาตร ที่อุ้มท้องนาน 10-11 ตัว และออกลูกเพียง 6-8 ตัวเท่านั้น

ฉลามทำหน้าที่ช่วยคัดสรรประชากรสัตว์น้ำในทะเล ทั้งปลากินพืชและปลากินสัตว์ แลามจึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่ต่างจากเสือในป่า แต่ในปัจุบันพบว่ายังมีการใช้ประโยชน์จากฉลามอยู่มาก ซึ่งที่ผ่านการกลุ่มอนุรักษ์พยายามสื่อสารว่าฉลามมีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ในทะเล เพราะทะเลที่ฉลามหมดไปหรือลดประชากรลงเรื่อย ๆ นั้นได้รับผลกระทบชัดเจน เช่น ในทะเลคาริบเบียน พบว่า เมื่อฉลามหายไปจำนวนมาก สัตว์ผู้ล่าระดับรอง อย่างปลาหมดทะเลเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนผิดปกติ และทำให้เกิดการล่าปลากินพืชมากตามไปด้วย เมื่อปลากินพืชอย่างปลานกแก้วลดลงมาก ๆ ก็ส่งผลต่อการควบคุมปริมาณสาหร่าย ทำให้สาหร่ายขยายตัวแย่งพื้นที่ปะการัง จนทำให้ปะการังเสื่อมโทรม จากที่เคยมีปะการังปกคลุม 50% ในทศวรรษที่ 1970 เหลือไม่ถึง 5% ในปัจจุบัน สะท้อนเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศโดยรวม อย่างเห็นได้ชัดเมื่อฉลามหายไป

“ไม่ใช่แค่เราสงสัยว่าฉลามถูกตัดครีบแล้วโยนลงทะเลอีกแล้ว แต่เราอนุรักษ์ฉลามเพราะจำเป็นต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล แม้ว่าเราจะไม่มีข้อมูลฉลามในธรรมชาติที่ชัดเจน และประเทศไทยไม่ได้ล่าฉลามโดยตรง แต่เครื่องมือประมงไม่เลือกชนิด ทำให้ฉลามติดอวนจำนวนมาก แค่ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าฉลามที่จับได้ลดลงถึง 80% ก็อาจเป็นไปได้ว่าสถานการณ์ของฉลามในทะเลก็ลดลงด้วย และหลายชนิดอยู่ในสถานภาพที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง จากการจัดกลุ่มของ IUCN red list นอกจากนั้นธุรกิจการท่องเที่ยวที่ต้องอาศัยความยั่งยืน ก็จำเป้นที่ต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน”

ที่ผ่านมาไทยได้มีแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (2020-2024) เพื่อศึกษาทำฐานข้อมูล ติดตามตรวจสอบภักคุกคามฉลามจากการประมง การพัฒนากระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างความรับรู้กับประชาชน ภาคการประมง ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ฉลาม และล่าสุด CITES หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ได้มีมติเพิ่มความคุ้มครองฉลามกว่า 50 ชนิด ทั้งฉลามหัวค้อน และฉลามในวงศ์ Carcharhinidae เช่น ฉลามครีบดำ ฉลามเสือ ฉลามหัวบาตร ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชี 2 ต้องมีใบอนุญาตและพิสูจน์ได้ว่าการค้าไม่คุกคามความอยู่รอดของฉลาม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active