เร่งแผนอนุรักษ์ฉลาม-กระเบน ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ท้องทะเล

ไวลด์เอด ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์อนุรักษ์สัตว์น้ำกระดูกอ่อนหลังพบ 1 ใน 3 ของฉลามทุกชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ หลายชนิดลดลง 90% ในระยะ 20 ปี

วันนี้ (22 พ.ย. 2565) องค์กรไวล์ดเอด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ WWF จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพในการอนุรักษ์ฉลามและกระเบนในประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชน เครือข่ายชาวประมงเข้าร่วมการประชุม

เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาองค์กรไวล์ดเอด กล่าวว่า ที่ผ่านมาพยายามรณรงค์เรื่องการไม่บริโภคเมนูหูฉลามมาเป็นเวลานานซึ่งหลายคนทราบว่าเป็นเมนูที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อปี พ.ศ. 2560 การสำรวจพบว่ายังมีประชาชนมากถึง 60% ที่มีความต้องการบริโภคฉลาม ซึ่งอยู่ในกลุ่มคนเมือง และกว่า 70% มีโอกาสรับประทานในโอกาสสำคัญ ซ้ำร้ายปัจจุบันมีความต้องการใช้ประโยชน์จากฉลามทั้งตัวไม่ใช่เฉพาะครีบเท่านั้น ซึ่งถ้าฉลามหมดไปก็ทำให้ทำให้เสียสมดุลของทะเล

เป็นที่มาของความร่วมมือในการรณรงค์กับทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคการประมงเอง สิ่งที่ยังขาดแคลนคือเรื่องของข้อมูล และการพัฒนาฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับฉลามซึ่งยังไม่เพียงพอ

“สถิติในเชิงประมงเป็นข้อมูลที่ชัดเจนว่า 20 ปีที่ผ่านมา อัตราการจับฉลามและกระเบนลดลง 90% และไทยเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีการลดลงของฉลามเร็วที่สุดในโลก เราจำเป็นต้องมีฉลามอยู่ในระบบนิเวศ เพราะถ้าเราสูญเสียฉลาม ก็จะส่งผลต่อประชากรปลา ส่งผลเสียต่อกลุ่มประมง และกลุ่มท่องเที่ยวด้วย เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ของการมีอยู่ของฉลามโดยตรง เพราะช่วยดึงดูดให้คนเข้ามาเที่ยวในบ้านเรา ดังนั้นจึงเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์อย่างชัดเจน”

วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนฉลามที่ลดลง คือ สภาพอากาศแปรปรวน การทำประมงเกินขนาด เครื่องมือประมงทำลายล้าง ถิ่นที่อยูู่อาศัยถูกทำลาย และการบริโภคหูฉลาม งานวิจัยที่สำรวจข้อมูลจากทั่วโลก พบว่าปลาฉลามและกระเบนลดลง 71% ภายในเวลา 50 ปี (พ.ศ.2517-พ.ศ.2561) มีอัตราแนวโน้มความเสี่ยงสูญพันธุ์มากกว่าสัตว์อนุรักษ์ประเภทอื่น เช่น ช้าง ประการัง นก

“มีสองงานวิจัยที่ทำในบ้านเรา สำรวจเก็บตัวอย่างสองช่วงเวลา พบว่า ความหลากหลายของชนิดฉลามลดลงกว่า 60% และกลุ่มฉลามที่เป็นครองครัวหายไป ในปี พ.ศ. 2548 เราพบฉลาม 11 วงศ์ และ พ.ศ.2558 มีฉลามเหลือแค่ 4 วงศ์เท่านั้น ข้อมูล FAO รายงานว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ครีบฉลามในปริมาณที่มากเป็นอันดับสองของโลก แม้ว่าจะไม่ใช่ประเทศที่ทำประมงฉลามเป็นหลัก”

วัลย์ลดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบุชนิดพันธุ์ฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่พบค้าขายอยู่ในไทยโดยใช้เทคนิคชีวโมเลกุล มีการเก็บตัวอย่างหูฉลาม สกัดดีเอ็นเอ และวิธีการมาตรฐานในการระบุชนิดสิ่งมีชีวิตจากข้อมูลดีเอ็นเอ ผลวิจัยพบว่า ฉลามที่ถูกนำมาเป็นของเมนูหูฉลามส่วนหนึ่งเป็นชนิดที่เสี่ยงสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ซึ่งต้นทุนราคาในการซื้อขายอาจไม่มากนัก แต่สูญเสียมหาศาลในเชิงระบบนิเวศ

สมศักดิ์ พรหมแก้ว เครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้าน จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ประมงพื้นบ้านมีหลักในการทำประมงที่ไม่เอาฉลาม อาจจะมีกระเบนบ้างที่ติดอวนมา แต่ไม่ได้ทำเป็นอุตสาหกรรม และพยายามอนุรักษ์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ชาวประมงพื้นบ้านใช้อวนสามตา อวนกุ้ง อวนปู พยายามทำหน้าบ้านตัวเองให้มีทรัพยากรหากินได้ตลอดไป ใช้การจับปลาอย่างถูกวิธี การทำบ้านปลา การทำซั้งปลา ปัญหาคือประมงพานิชย์ที่ใช้อวนลาก และทำให้ฉลามติดอวนไปด้วยจำนวนมาก

“กังวลว่าฉลามน้อยลง แต่ไม่รู้จะทำยังไงเพราะเขาไม่ออกกฎหมายห้ามล่า และเราห่วงสัตว์น้ำวัยอ่อนทุกตัว เพราะทรัพยากรธรรมชาติทุวันนี้เสื่อมโทรมลง ปลาที่เราเคยได้หายไปจากท้องทะเล อย่างที่เคยหาปลาที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ปลาบางชนิดหายไป เช่น ปลาลุมพุก ปลาหลังเขียว ปลามงเลทราย ปลาพวกนี้เมื่อก่อนภูเก็ตมีเยอะ แต่ทุกวันนี้หาไม่ได้แล้ว ตั้งแต่มีการทำประมงอวนลาก เราจึงพยายามรณรงค์ทุกวันนี้ แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจ”

สมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ชาวประมงพื้นบ้านไม่ใช่ผู้ล่าโดยตรง และพยายามมีส่วนร่วมในการปกป้อง เขาพวกต้องการให้ภาครัฐแสดงความจริงจังในการกำกับดูแลฉลามและทรัพยากรทางทะเล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active