สภาพัฒน์ ตั้งคณะกรรมการฯ เดินหน้า SEA มั่นใจยืนบนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง รอบด้าน ภาคประชาชน ห่วงกรอบเวลา 18 เดือน น้อยไป ย้ำ SEA ต้องไม่ลืมการมีส่วนร่วม
ภายหลังมีคำสั่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ 210/2565 ลงวันที่ 21 ก.ย.65 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี จำนวน 21 คน
ล่าสุด วันนี้ (23 ก.ย.65) เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน TDRI ในฐานะของหนึ่งในกรรมการกำกับการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ฯ เปิดเผยกับ TheActive โดยยืนยันถึงความตั้งใจ เพื่อต้องการทำให้ประเด็นการพัฒนาที่นำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ มองเห็นทางออก โดยเชื่อว่ากลไก SEA ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะมีส่วนสำคัญหาก SEA สามารถดำเนินการอยู่บนฐานข้อเท็จจริง ทั้งเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม ต้นทุนทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และทุนทางวัฒนธรรม ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด
“กรณีการพัฒนาที่เกิดความขัดแย้ง การหาทางออกต้องอยู่บนฐานข้อมูล ใช้หลักฐาน ข้อเท็จจริง มากกว่าการพูดคุยโดยใช้อารมณ์ ความรู้สึก ต้องดูให้รอบด้าน เพราะกรณีนี้มีทั้งฝ่ายหนุน และคัดค้าน ดังนั้นหากผลการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม และหลักฐานข้อเท็จจริง ก็จะคุยกันไม่จบ จึงต้องดูให้ครบ แม้กระทั่งฐานทรัพยากร ทุนทางวัฒนธรรม ก็ต้องให้ครอบคลุม”
เสาวรัจ รัตนคำฟู
เสาวรัจ บอกด้วยว่า วันนี้จะประชุมคณะกรรมการฯ กันครั้งแรก เพื่อทำความเข้าใจกรอบอำนาจหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งร่วมกันพิจารณากรอบการจัดทำขอบเขตงานจ้าง (TOR) ที่ปรึกษาเพื่อประเมิน SEA เบื้องต้นคาดว่ากรอบเวลาการทำงานประเมิน SEA อาจอยู่ที่ 18 เดือน แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
หวัง SEA เดินหน้าบนฐานข้อมูลจริง กำหนดทิศทางพัฒนาอย่างเหมาะสม
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา บอกว่า การเดินหน้าตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อน SEA ของสภาพัฒน์ ถือเป็นความพยายามของภาครัฐ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันหาทางออกประเด็นความขัดแย้งจากการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ แต่ถ้ามองไปยังกรรมการแต่ละคน จะเห็นว่า มีทั้งฝ่ายที่หนุนโครงการ และฝ่ายคัดค้าน จริง ๆ แล้วการจัดทำ SEA ควรต้องมองหาตัวบุคคลที่เป็นกลางให้มากที่สุด และใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ยืนอยู่บนหลักวิชาการ เพื่อหาทางออกว่าการพัฒนาที่ควรจะเป็นของพื้นที่จะเป็นไปในทิศทางใด
ทั้งยังเห็นว่า หากกรอบการศึกษา SEA มีแค่ 18 เดือน อาจน้อยเกินไป เพราะสิ่งที่การศึกษา SEA ต้องไปให้ถึงคือการลงพื้นที่ เก็บข้อมูลจริงทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร ให้สมบูรณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลสะท้อนถึงความจริงเชิงพื้นที่ มากกว่าการใช้เพียงความเห็น เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งหากระยะเวลาดำเนินการสั้น นั่นหมายความว่ากระบวนการต่าง ๆ ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สอดคล้องกับ กิตติภพ สุทธิสว่าง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน บอกว่า เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ยังคงตั้งคำถามกับตัวกรรมการแต่ละคนในเรื่องของความเป็นกลาง และยังไม่รู้ว่ากรอบอำนาจหน้าที่ของคณะ กรรมการฯ ชุดนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนจึงเตรียมหารือกันเพื่อกำหนดท่าทีต่อเรื่องนี้อีกครั้ง
สำหรับ คำสั่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ 210/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี นั้น อ้างตามมติ ครม.วันที่ 14 ธ.ค.64 ให้จัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ และรับข้อเสนอของภาคประชาชน รวมถึงผลดำเนินการของคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้างหน้าแห่งอนาคต”
เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องเป็นไปตามมติ ครม.ดังกล่าว สภาพัฒน์ จึงจัดทำแผนแม่บทเชิงพื้นที่ของ จ.สงขลา และปัตตานี ด้วยกระบวนการ SEA และเพื่อให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาให้สอดคล้องกัยศักยภาพของพื้นที่ โดยคำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สภาพัฒน์ฯ จึงตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดทำการประเมิน SEA จ.สงขลา และปัตตานี ประกอบด้วย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการร่วมกับ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงบประมาณ, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 21 คน เป็นกรรมการ
ส่วนกรอบอำนาจหน้าที่ตามคำสั่ง ระบุให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ให้ความเห็นจัดทำขอบเขตงานจ้างที่ปรึกษาจัดทำการประเมิน SEA รวมทั้งให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะการจัดทำ SEA พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อประกอบการจัดทำประเมิน SEA สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของ จ.สงขลา และปัตตานี