เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เรียกร้อง ความยุติธรรมจากรัฐ

หลังอัยการ สั่งไม่ฟ้องเครือข่ายฯ รวม 37 คน ชี้ สะท้อน สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเรียกร้องคัดค้านโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชน เรียกร้องรัฐ แสดงความจริงใจเยียวยาความเสียหาย เร่งจัดทำ SEA นิคมอุตสาหกรรมจะนะแบบมีส่วนร่วมและเป็นธรรมกับชาวบ้าน

วันนี้ ( 14 ก.ย.65 ) อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีที่อัยการ สั่งไม่ฟ้อง ชาวบ้านจะนะรักษ์ถิ่นรวม 37 คน ในคดีชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 ซึ่งวันนั้นเครือข่ายฯ ได้ปักหลักชุมนุมทวงสัญญา เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต แต่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุม ควบคุมตัวผู้ชุมนุมรวม 37 คน และมีการตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี ซึ่งเดิมเครือข่ายฯ มีนัดฟังคำสั่งอัยการในวันที่  23 กันยายนนี้ แต่ล่าสุดตรวจสอบกับทางอัยการซึ่งมีความเห็นไปแล้วว่าสั่งไม่ฟ้อง ดังนั้น สรุปคือจากนี้จะไม่มีการดำเนินคดีต่อ และตามขั้นตอนกฎหมายอาญา ได้ส่งเรื่องไปสอบถามความเห็น ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว  ไม่ได้มีความเห็นคัดค้าน ทำให้คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการถือเป็นการจบกระบวนการ การดำเนินคดีอาญาจะเป็นที่ยุติ ชาวบ้านก็ไม่ถูกดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ สะท้อนว่า คดีนี้ไม่ได้มีความผิดที่ควรจะต้องถูกดำเนินคดีตั้งแต่ต้น สิ่งที่ทางผู้ชุมชน ชาวบ้าน เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และทีมทนายเอง ก็ยืนยันแต่ต้นว่า เป็นการใช้เสรีภาพทางรัฐธรรมนูญ  และอยู่ในกรอบการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ความผิด ไม่ควรต้องถูกดำเนินคดี

“เราต่อสู้มาตั้งแต่ในชั้นให้การพนักงานสอบสวน ว่า 1. ข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีพฤติการอะไรที่เป็นความรุนแรง เป็นการชุมนุมในกรอบที่รัฐธรรมนูญรับรอง 2. การชุมนุมของชาวบ้าน เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อวิถีชีวิตของเขาจากโครงการอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งมีความชอบธรรมในทุกด้านที่เขาจะชุมนุมได้ ไม่มีมีเหตุที่ตำรวจจะสลายการชุมนุม และเราก็ยืนยันมาถึงในชั้นอัยการ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ที่แน่ ๆ กรณีนี้จะเป็นหลักฐานว่า มีการใช้อำนาจรัฐ ที่ละเมิดสิทธิประชาชน และก็เป็นกรณี ตัวอย่างที่ทางชุมชนอื่น ๆ จะสามารถไปอ้างอิงได้ว่า การใช้เสรีภาพการชุมนุมในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ได้เป็นความผิดทางกฎหมาย“ 

อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

รุ่งเรือง ระหมันยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า การสั่งไม่ฟ้อง ยังสะท้อนปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เพราะการใช้อำนาจสลายการชุมนุมไปก่อน แล้วมีการดำเนินคดี ซึ่งแม้สุดท้ายจะสั่งไม่ฟ้อง แต่ภาระหรือผลกระทบความเสียหาย ได้เกิดขึ้นกับชาวบ้านแล้ว 

“รัฐควรต้องรอบคอบกว่านี้ ตัดสินใจหลายๆฝ่าย ไม่ใช่ว่ามีคำสั่งมาแล้ว ก็ทำตามคำสั่งนั้น จนสุดท้ายแล้วเมื่อมาพิจารณา ชาวบ้านไม่ผิดขึ้นมา แล้วเวลายกฟ้อง คุณก็ยกฟ้องง่าย ๆ แต่ชาวบ้านเขาเสียทั้งเวลา ทั้งเงินทอง  สิ่งที่หนักคือผลกระทบจิตใจของเขาและครอบครัวที่มีความกังวล หวาดกลัว  มันเป็นบทเรียนรัฐที่ต้องทบทวน รัฐต้องสืบก่อนว่า กรณีที่เขาไป  ไปด้วยเหตุผล  เพราะในความจริง ถ้าชาวบ้านเขาไม่เดือดร้อนเขาคงไม่ไป และไม่ใช่เรื่องง่ายกับการเดินทางเป็นพันกิโลเมตร ของคนหลาย ๆ คน“

รุ่งเรือง ระหมันยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
รุ่งเรือง ระหมันยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยังเรียกร้องให้รัฐแสดงความจริงใจ เร่งทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ชาวบ้านได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้เกิดความยุติธรรมกับชาวบ้าน และให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายจริง ๆ 

“ไม่ว่าจะเป็นการทำ EIA ,EHIA และ SEA สมมติว่าชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม มีแต่นักวิชาการ กับเจ้าหน้าที่รัฐ ผมว่ามันไปไม่ได้ ไปไม่รอด เพราะว่าสุดท้ายชาวบ้านเขารู้ดีที่สุด ว่า บ้านของตัวเองเขาจะอยู่ยังไง จะจัดการยังไง รัฐมีหน้าที่แค่สนับสนุน หรือต่อยอดในศักยภาพภูมิปัญญาที่เขามี ไม่ใช่มาเจ้ากี้เจ้าการเอง อย่างในกรณีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564  และชัดเจนว่าที่ผ่านมารัฐตัดสินใจพลาด ตัดสินใจผิด ที่ดำเนินคดีชาวบ้านอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ชาวบ้านไปเรียกร้องแค่คืนเดียว โดยไม่ไตร่ตรองก่อน ดังนั้นกรณีนี้ ก็อาจจะเรียกว่า เป็นบรรทัดฐานการทำคดีอื่น ๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นคดีอะไร“

รุ่งเรือง ระหมันยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

สำหรับการศึกษา SEA ตามมติครม.เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 64 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ฯลฯ ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของภาคประชาชน เช่น เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ฯลฯ รวมถึงผลการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้หน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรอผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ให้เป็นที่ยุติก่อนการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการให้เป็นตามกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย   

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active