นายกฯ เซ็นตั้ง คกก.แก้ปัญหา 10 ข้อเรียกร้อง ‘พีมูฟ‘

ตั้ง ‘สุริยะ’ นั่งประธาน เตรียมประชุมนัดแรก 24 ต.ค.นี้ ขณะที่ พีมูฟ ย้ำเร่งแก้ปมที่ดินทำกินให้ประชาชน หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า นิรโทษกรรมชาวบ้านโดนคดี

วันนี้ (22 ต.ค. 67) ตั้งแต่ช่วงเช้า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เคลื่อนขบวนออกจากบริเวณที่ชุมนุมบริเวณประตู 3 และ 4 ทำเนียบรัฐบาล โดยทางตำรวจยังคงปิดกั้นทางเข้า-ออก บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ และแยกสวนมิสกวัน โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ รวมถึงรถตู้และรั้วเหล็กขวางกั้นพื้นที่ไว้

พชร คำชำนาญ หนึ่งในแกนนำกลุ่มพีมูฟ เปิดเผยว่า เป้าหมายในการเคลื่อนขบวนในวันนี้คือการเร่งรัดให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีลงนามแล้ว จะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนและกลไกในการแก้ไขปัญหาได้ต่อไป เพราะในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ได้มีการตั้งคณะทำงานนี้แล้ว แต่ด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้คณะทำงานถูกยุบไป และกลไกการแก้ไขปัญหาก็ยุติลงด้วยเช่นกัน

พชร คำชำนาญ แกนนำกลุ่มพีมูฟ

อีกเป้าหมายหนึ่งคือการเรียกร้องให้ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และขัดแย้งกับถ้อยแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร โดยขอให้นำร่างดังกล่าวออกจากการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 ต.ค. 67 โดยทันที ได้แก่

  • ร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 (กฎหมายอุทยาน)

  • ร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 (กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า)

พชร ยังเรียกร้องให้จัดตั้งกลไกคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 10 ข้อที่พีมูฟผลักดัน โดยเฉพาะข้อที่ 5 เกี่ยวกับนโยบายจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งขัดแย้งกับท่าทีของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำลังผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งพีมูฟได้คัดค้านมาตั้งแต่ยุค คสช.

พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ การชุมนุมเกิดขึ้นต่อเนื่องที่ทำเนียบรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ส่งตัวแทนจากฝ่ายการเมืองเข้ามาเจรจาเลย มีเพียงเจ้าหน้าที่จากสำนักนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีอำนาจทางการเมืองเท่านั้นที่เข้ามาพูดคุยกับผู้ชุมนุม การที่รัฐบาลไม่ส่งตัวแทนการเมืองเข้ามาเจรจาโดยเร็ว อาจสะท้อนถึงปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง หรืออาจเป็นเพราะรัฐบาลผสมที่แพทองธารไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างแท้จริง

“ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา แม้ท่านจะไม่ได้เป็นคนลงนามจัดตั้งคณะทำงานเอง แต่ท่านยังมอบหมายให้รองนายกฯ คนอื่นเข้ามารับผิดชอบ เราไม่แน่ใจว่าปัญหานี้เกิดจากการที่รัฐบาลแพทองธารไม่มีอำนาจในการสั่งการอย่างแท้จริงหรือไม่ ? นี่เป็นคำถาม”

พชร คำชำนาญ

นิราพร จะพอ ตัวแทนกลุ่มพีมูฟ จาก จ.เชียงราย กล่าวถึงปัญหาเรื่องป่าไม้ เนื่องจากที่พักอาศัยของเธอตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. และไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน แม้ว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโฉนดชุมชน ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แต่ในรัฐบาลปัจจุบันไม่มีความคืบหน้า

นิราพร จะพอ ตัวแทนกลุ่มพีมูฟ จาก จ.เชียงราย

นิราพร เล่าอีกว่า ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน และที่ดินทำกินเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่รุ่นพ่อของเธอ จนมาถึงวันนี้ ถึงคราวที่รุ่นลูกต้องลงมาเรียกร้องและยืนยันในหลักการเดิมว่า ชาวบ้านมีสิทธิโดยชอบธรรมในการใช้สอยที่ดิน จนถึงตอนนี้เธอก็ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าผืนแผ่นดินที่เธออาศัยอยู่และใช้ชีวิตมานั้น เป็นของตนจริงหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอ้างตามตัวอักษรในกฎหมาย เข้าบังคับ กวดขัน และจำกัดการใช้สิทธิที่ดินทำกินเสมอมา

“มันเป็นปัญหาที่หลายคนในป่าเจอ แต่บางครั้งเราหรือพี่น้องเราก็ไม่รู้ปัญหาตัวเองบ้าง และรัฐสมัยนี้ไม่ได้ใช้ความรุนแรงเหมือนเมื่อก่อน แต่อาจจะหลอกล่อเราด้วยบางอย่างที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรมอยู่ เราเห็นปัญหาตั้งแต่ที่บ้านต่อสู้มาเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เป็นปัญหาเดิม ๆ ที่ยังไม่จบ”

นิราพร จะพอ

เช่นเดียวกับ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมมาตั้งแต่ปี 2564 ได้เข้าร่วมเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยการนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากนโยบายทวงคืนผืนป่า เขาสะท้อนว่า กฎหมายที่รัฐบังคับใช้กับชาวบ้านนั้นเน้นเพียงการปกป้องป่าและสัตว์ป่า แต่ละเลยมนุษย์ที่อาศัยในพื้นที่ป่า และเขาเชื่อว่าชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

การแก้ไขปัญหาของชาวบ้านบางกลอยและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่ามีทางเป็นไปได้อยู่ 3 ทาง ได้แก่ การถอนฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านโดยอัยการ, การนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดี และการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ละเมิดสิทธิของชุมชน

“เขาไม่ได้มองเรื่องความเป็นมนุษย์ เขาจะมองเฉพาะป่า ตามนิยามของป่า ว่ามีแค่ป่ากับสัตว์ป่า เขาไม่ได้คำนึงถึงเรื่องคนอยู่กับป่ามาก่อนแล้ว”

พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร

จากนั้นในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบกับกลุ่มผู้ชุมนุมพีมูฟ เพื่อรับฟังข้อเรียกร้อง โดยระบุพร้อมเป็นตัวประสานกับทางรัฐบาล ย้ำหน้าที่การรับฟังเสียงของพี่น้องประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

โดยข้อเรียกร้องของ P-move ยืนยัน 10 หลักการเดิม โดยเฉพาะหยุดมรดก คสช. ทวงคืนผืนป่าและสิทธิชุมชน ยกเลิกคดีไม่เป็นธรรม เช่น กรณีชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ย้ำเป็นระเบิดเวลาที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนไม่ทันการณ์

ขณะเดียวกันเมื่อช่วงเวลาประมาณ 15.10 น. ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่การชุมนุม บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้ผู้ชุมนุมและชาวบ้านต้องเร่งอพยพข้าวของเครื่องใช้ หนีสายฝน และน้ำท่วมฉับพลันบนถนนลิขิต ข้างทำเนียบรัฐบาล เพราะยังไม่ทราบท่าทีของรัฐต่อข้อเรียกร้อง และยืนยันว่าจะปักหลักชุมนุมสู้แดด สู้ฝน จนกว่ารัฐบาลจะได้ยินเสียงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) โดยมี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน รวมด้วยตัวแทนแต่ละกระทรวง และฝ่ายข้าราชการ ตลอดจนกลุ่มตัวแทนพีมูฟ รวมทั้งสิ้น 35 คน และคาดว่าจะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 24 ต.ค.นี้ เวลา 13.00 น.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active