ร้อง นายกฯ ยุติ ‘แลนด์บริดจ์’ – ถอนร่าง กม. SEC

เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ – เครือข่ายรักษ์ระนอง หวั่นซ้ำรอยโศกนาฏกรรมสิ่งแวดล้อม EEC วอน UN จับตาการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์

วันนี้ (16 ก.ย. 67) เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร และเครือข่ายรักษ์ระนอง จ.ระนอง เข้ายื่นหนังสือถึง 3 ฝ่าย ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย เพื่อขอให้ถอน ร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC ทั้ง 2 ฉบับ จากนั้นได้ยื่นหนังสือถึง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เสนอให้ยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์ และหยุดผลักดันกฎหมาย SEC พร้อมกันนี้ยังได้ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือที่ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย เพื่อขอให้ติดตามการละเมิดสิทธิชุมชน และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์

ร้อง ‘อนุทิน – ภูมิใจไทย’ ถอนร่าง พ.ร.บ. SEC

สมโชค จุงจาตุรันต์ ตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส. พรรคภูมิใจไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. … 2 ฉบับต่อรัฐสภา ขณะนี้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 77 แล้ว เหลือเพียงการลงนามรับรองจากนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา เมื่อวิเคราะห์จากเนื้อหาของร่างกฎหมาย มีความน่ากังวลหลายประการ คือ

  1. มีการนำเนื้อหาส่วนใหญ่มาจาก พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 หรือ EEC ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งหากย้อนกลับไปในยุคนั้น จะพบว่ามีหลายภาค ทักท้วงการบัญญัติกฎหมายว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลักการการบริหารประเทศ เพราะเป็นการสร้างอำนาจซ้อนรัฐขึ้นมาอีกอำนาจหนึ่ง มีนักการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ออกมาคัดค้าน แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ และยังใช้อำนาจพิเศษของรัฐบาลผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวผ่านรัฐสภามาจนได้ เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันที่มีความเป็นประชาธิปไตย จึงไม่ควรเดินตามรอยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในขณะนั้น ด้วยการนำแนวกฎหมายที่จะสถาปนาอำนาจพิเศษขึ้นมาซ้อนกับอำนาจของรัฐบาล ซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากประชาชนโดยตรง

  2. ควรศึกษาผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2561เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า เกิดความล้มเหลวหลายประการ ทั้ง การบริหารจัดการสภาพแวดล้อมโดยรวมของจังหวัดที่อยู่เขต EEC ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเรื่องมลพิษ กากสารพิษ และของเสียจากโรงงาน ที่เป็นข่าวให้เราได้รับรู้มาโดยตลอด ซึ่งรวมถึงความเสียหายและการสูญเสียทางด้านระบบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ทั้งด้านทะเล การประมง พื้นที่การเกษตร จนแทบเยียวยาไม่ได้ เนื่องจากมีการการละเลย ไม่ปฏิบัติและไม่ดำเนินการตามกฎหมายในหลายมาตรา ที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นที่มีความล้มเหลวในการจัดตั้งและบริหารกองทุนต่าง ๆ และเชื่อว่ายังมีจุดอ่อนอีกหลายประการที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะได้รับทราบ ทั้งนี้การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ถือเป็นเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าจะต้องทำเมื่อมีการใช้กฎหมายไปแล้วครบ 5 ปี 

  3. รายละเอียดในข้อกฎหมาย หลายหมวด หลายมาตรา เป็นการสร้างอำนาจพิเศษให้กับคนพิเศษทั้งสิ้น ที่จะสามารถละเว้นหรือยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายปกติของประเทศไทยไม่น้อยกว่า 19 ฉบับ และยังให้อำนาจกับคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในการเสนอให้รัฐบาลตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างไร้ขอบเขต อันจะนำไปสู่การสร้างระบบกฎหมายหรือระเบียบในการดำเนินการใด ๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเอาอกเอาใจนักลงทุนต่างชาติในหลายมิติ ทั้งด้านการใช้ที่ดิน ด้านแรงงาน ด้านเงินตรา ด้านการอยู่อาศัย การเข้าออกประเทศ การยกเว้นภาษา หรือแม้แต่การยกเว้นกระบวนการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากรสำคัญของประเทศ ในขณะที่นักลงทุนคนไทยและประชาชนทั่วไปยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเหล่านั้นต่อไป ซึ่งถือเป็นความเหลื่อมล้ำด้านกฎหมายที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

  4. ร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ จะนำไปสู่การสร้างระบบ “รัฐซ้อนรัฐ” ที่มีการสถาปนาอำนาจพิเศษระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายธุรกิจชั้นนำ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ ให้มีอำนาจทับซ้อนกับอำนาจการบริหารประเทศแบบปกติของระบอบประชาธิปไตย ที่ผู้บริหารประเทศต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่ “คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้” อันเป็นกลไกสำคัญภายใต้ร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีอำนาจในการบริหารเขตพิเศษที่ถูกประกาศขึ้นตามกฎหมายนี้ ซึ่งเบื้องต้นคือ จ.ระนอง จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช และยังสามารถประกาศเพิ่มเติมไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้อีก ตามคำร้องขอของนักลงทุน มีข้อสังเกตว่า อำนาจของกลไกดังกล่าวนั้นไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ทั้งยังไม่มีองค์ประกอบของภาคประชาชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ในกลไกดังกล่าวแต่อย่างใด

“เหตุผลเบื้องต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อกังวลของพวกข้าพเจ้าเท่านั้น เพราะหากพิจารณาตามรายละเอียดตามรายมาตราของร่างกฎหมายที่มีอยู่กว่า 60 มาตราแล้ว ยิ่งทำให้เห็นถึงความอันตรายและความสุ่มเสี่ยงในการใช้กฎหมายลักษณะดังกล่าวในพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นเหตุผลที่จะให้ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล และสมาชิกพรรคภูมิใจไทยทั้งหลาย ได้โปรดทบทวนเรื่องดังกล่าว ด้วยการดำเนินการ ถอนร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …  ทั้ง 2 ฉบับ ออกจากกระบวนการของรัฐสภา และขอให้ท่านหรือพรรคของท่านเสนอกับรัฐบาล ให้มีการศึกษาเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์การใช้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้เห็นถึงจุดอ่อน จุดแข็ง การใช้กฎหมายลักษณะดังกล่าวที่ ทั้งนี้เพื่อให้ท่านและรัฐบาลได้มีข้อมูลอันเป็นวิชาการประกอบการตัดสินใจ เพื่อนำไปทบทวนหรือแก้ไขการใช้กฎหมายฉบับนี้ในพื้นที่ภาคตะวันออกต่อไปด้วย พวกเราในฐานะตัวแทนของเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ ขอเสนอความคิดเห็นกับท่านอย่างตรงไปตรงมา อันเป็นไปตามเหตุและผลตามที่เสนอไปแล้ว หวังว่าท่านและพรรคของท่านจะเข้าใจและเปิดใจรับฟังข้อเรียกร้องดังกล่าว” 

แถลงการณ์ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ – รักษ์ระนอง

วอน นายกฯ ยุติ ‘แลนด์บริดจ์’

วันเดียวกันเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ และ เครือข่ายรักษ์ระนอง ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดย เสนอให้ยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์ และหยุดผลักดันกฎหมายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) พร้อมขอให้ทบทวนนโยบายการบริหารประเทศ กรณีโครงการแลนด์บริดจ์ และระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

เครือข่ายฯ อ้างถึงกรณีที่รัฐบาลแถลงนโยบายการบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. โดยนายกฯ แพทองธาร ประกาศที่จะสานต่อโครงการแลนด์บริดจ์ ต่อจาก เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตลอดการทำาน 1 ปี ได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ให้กับผู้นำประเทศและนักลงทุน ซึ่งมองว่า เป็นวิธีการบริหารประเทศที่ไม่เคารพกระบวนการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับชาติ ที่จะส่งผลผลกระทบกับประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล

ทั้งที่ควรรอผลศึกษาให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะนำโครงการนี้ไปเสนอกับประเทศต่าง ๆ เท่ากับว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจกระบวนการศึกษาโครงการและการรับฟังความคิดความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง และยังเป็นการกดดันหรือชี้นำให้ผลการศึกษาเหล่านั้นเป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ อันเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมซึ่งพวกเราเคยทักท้วงไปแล้วก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ยังมีเสียงวิพากษ์และทักท้วงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักวิชาการที่ได้มีการศึกษาเรื่องนี้ไว้แล้ว รวมถึงผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ในประเทศไทย ที่พยายามสื่อสารไปยังเศรษฐา ว่าการลงทุนอาจจะไม่คุ้มค่า ไม่ได้ทำให้เวลาและค่าใช้จ่ายลดลงจริงดัง ตามคำกล่าวอ้างของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สนข.) ทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องสูญเสียที่ดิน และฐานทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของภาคใต้อย่างประเมินค่าไม่ได้

โดยคาดหวังว่า รัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ซึ่งเป็นรัฐบาลคนรุ่นใหม่ จะคิดแตกต่างจากแนวทางการพัฒนาประเทศแบบเดิม ๆ ที่คิดได้เพียงว่าความเจริญของประเทศมีเพียงหนทางเดียว คือการอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งแนวคิดนี้พิสูจน์ให้เห็นจากกรณี EEC ที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนเฉพาะกลุ่ม แต่ความเสียหายกลับเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง และเป็นการสูญเสียที่ไม่เคยประเมินมูลค่าความเสียหายออกมาเป็นตัวเลข จึงขอเรียกร้องให้ นายกฯ แพทองธาร และรัฐบาล ดำเนินการดังนี้

  1. ขอให้ยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์ และขอให้ยกเลิกความคิดที่จะเสนอร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC โดยให้ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567

  2. ขอให้จัดทำแผนการพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน ที่ตั้งอยู่บนฐานศักยภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ด้วยเชื่อว่าศักยภาพสำคัญของภาคใต้คือ ฐานทรัพยากรที่มีความหลากหลาย แหล่งท่องเที่ยว การเกษตรและการประมง ถือเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงพวกเราชาวภาคใต้มาอย่างยาวนาน และยังมีโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของสิ่งเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้นได้ อันจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจกับพี่น้องภาคใต้ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืนยาวนาน

“สุดท้ายนี้ ขอย้ำว่าโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร และนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางกับประชาชนที่ไม่ใช่แค่คน จ.ชุมพร และ จ.ระนอง เท่านั้น แต่จะกระทบกับคนภาคใต้และกับคนไทยทั้งประเทศในระยะยาว จึงหวังว่านายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่ประกาศไว้ว่า จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้กล้าคิด กล้าฝัน และกล้ากำหนดอนาคตตนเอง ซึ่งเรามาครั้งนี้เพื่อที่จะบอกกับท่านว่า เรากล้าที่จะกำหนดอนาคตตนเองแล้ว และท่านกล้าที่จะทำตามคำพูดนั้น ในวันที่เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่”

เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ และ เครือข่ายรักษ์ระนอง

ห่วงแลนด์บริดจ์ กระทบสิทธิมนุษยชน – สิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย โดยส่งตัวแทน เข้าไปยื่นหนังสือ และพูดคุยกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เรื่อง ขอให้เสนอความเห็นต่อรัฐบาลไทยเพื่อให้ทบทวนและยุติการผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และโครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง

สมโชค ระบุว่า การเดินหน้าของนโยบายรัฐบาล ในการสานต่อโครงการแลนด์บริดจ์ และการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.SEC โดยที่ไม่ได้คำนึกถึงมิติความสูญเสียของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมถึงฐานอาชีพ สังคม วัฒนธรรม ของท้องถิ่น และที่สำคัญคือ ความคุ้มค่าคุ้มทุนของโครงการนี้ในทางเศรษฐศาสตร์ และทั้งหมดนี้มีข้อมูลงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการอ้างอิงได้ ซึ่งรัฐบาลไม่รับฟังและยังเดินหน้าโครงการ

ทั้งที่ นโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากกรณีของ EEC ที่เปรียบเสมือนเป็นแม่พิมพ์ต้นแบบของ ร่าง พ.ร.บ.SEC ที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ถึงความล้มเหลวในการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการละเลยไม่ดำเนินการตามกฎหมายในหลายมาตราที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และเพื่อยับยั้งไม่ให้ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นกับพื้นที่ภาคใต้ ซ้ำรอยบทเรียน EEC 

เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ และเครือข่ายรักษ์ระนอง จึงขอเรียกร้องต่อผู้รายงานพิเศษ คณะทำงาน และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยศึกษาและเสนอความเห็นต่อรัฐบาลไทยเพื่อให้มีการทบทวนและยุติการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.SEC และโครงการแลนด์บริดจ์ อันจะเป็นการช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชนทั้งประเทศในระยะยาว ไม่ให้ถูกละเมิดทำลาย และเพื่อให้เกิดการพัฒนา ที่ยั่งยืนและเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active