ไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง ชี้ต้องอาศัยความร่วมมือ การมีส่วนร่วม หวังเป็นจุดเริ่มต้นสร้างนโยบายสังคมที่เป็นธรรม ยั่งยืน
วันนี้ (13 ก.ย. 67) ใน เวทีสาธารณะแถลงนโยบายประชาชนขบวนการประชาชนเพิ่อสังคมที่เป็นธรรม ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เริ่มต้นด้วยการเรียกร้องรัฐบาล ให้เร่งแก้ปัญหาอุทุกภัยเป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนภาคเหนือ และภาคอีสาน เพราะแม้จะเป็นภัยจากธรรมชาติ แต่อีกส่วนก็เป็นผลจากการบริหารจัดการของรัฐด้วย และเรื่องภัยพิบัติเป็นหนึ่งใน 10 นโยบายที่ภาคประชาชนกลุ่มพีมูฟเสนอต่อรัฐบาล
ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น เครือข่ายแรงงานนอกระบบ, เครือข่ายชาติพันธุ์, เครือข่ายพะโต๊ะ แลนด์บริดจ์ชมพร-ระนอง, เครือข่ายขับเคลื่อนลาคลอด 180 วัน, เครือข่ายทับลาน 43, โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน iLaw ตลอดจนนักวิชาการอิสระ
ต่างเห็นตรงกันว่า นโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และการแก้ปัญหาของประเทศ ไม่คำนึกถึงสิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน
และแม้ว่ารัฐบาลจะมีการเขียนนโยบายเร่งด่วนข้อ 10 ที่ให้ความสำคัญต่อการจัดสวัสดิการสังคม สร้างความเท่าเทียมโอกาสเศรษฐกิจให้กลุ่มเปราะบาง แต่ยังเป็นลักษณะการเขียนไว้แบบเลือนลาง และยังคงเป็นการสร้างโอกาสในเชิงการให้การสงเคราะห์มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของชีวิต อย่างรัฐสวัสดิการ
แถลงนโยบาย ต่อประชาชน : การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ กลุ่มพีมูฟ ได้ร่วมกันอ่านคำแถลงนโยบาย 10 ด้านต่อ “ประชาชน” โดยมีสาระสำคัญ ระบุว่า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ขอประกาศเจตนารมณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเป็นธรรมในสังคมไทย มุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกในสังคมไทย และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกคน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่สั่งสมมานานกว่าทศวรรษ ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้าง ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการถูกกีดกันออกจากสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง
รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ได้ให้คำมั่นสัญญาในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและสร้างความหวังให้กับประชาชน แต่จากประสบการณ์การต่อสู้ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เราตระหนักดีว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
จึงขอเสนอนโยบาย 10 ด้าน ที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ประกอบด้วย สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย, การกระจายอำนาจ, การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, ที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, การป้องกันภัยพิบัติ, การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์, สิทธิและสถานะบุคคล, รัฐสวัสดิการ และที่อยู่อาศัย
กลุ่มพีมูฟ ยังระบุว่า นโยบายทั้ง 10 ด้าน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันยาวไกล เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืนในประเทศไทย โดยตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมพร้อมทั้งให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชน
“เราจะรับฟังเสียงของประชาชน เราจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและติดตามการดำเนินงานของรัฐบาล และ เราจะทำงานอย่างโปร่งใส เราจะเปิดเผยข้อมูลสาธารณะและดำเนินการทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกคน ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับประเทศไทยของเรา“
นโยบายรัฐไร้สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง เน้น สิทธิเอกชน!
รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาลยังพอเห็นความหวัง อย่างน้อยในนโยบายเร่งด่วนข้อ10 ให้ความสำคัญต่อการจัดสวัสดิการสังคม สร้างความเท่าเทียมโอกาสเศรษฐกิจให้กลุ่มเปราะบาง แต่ยังขาดตัวชี้วัด เป้าหมาย กรอบระเวลาดำเนินการที่ชัดเจน จึงแนะรัฐสานต่อนำนวัตกรรมทางนโยบาย 10 ด้านภาคประชาชนพีมูฟ ขับเคลื่อนเพื่อให้นโยบายรัฐเดินหน้าสำเร็จ ด้านฝ่ายนิติบัญญัติ สังคมและสื่อ ร่วมตรวจสอบติดตามความคืบหน้าทางนโยบาย
ขณะที่ ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มองว่า นโยบายรัฐที่แถลงต่อสภาฯ ทั้งเร่งด่วน และส่วนกลาง ไม่มีส่วนไหนที่ให้ความสำคัญในสิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง แต่เน้นสิทธิเอกชน ขาดส่วนร่วมข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน หากจะยกระดับการสร้างการยอมรับนโยบายภาคประชาชนทั้ง 10 ด้าน แนะปฏิบัติการพลเมือง ขยายการรับรู้และการเห็นร่วมสังคมมากขึ้น เช่น การจัดเวทีสร้างส่วนร่วมรายภูมิภาค
รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
“คือตอนนี้รัฐบาลเพียงแค่รับฟังนโยบายของภาคประชาชน หรือกลุ่มพีมูฟเท่านั้น แต่หากจะยกระดับให้เกิดการยอมรับ นำไปปฏิบัติ ต้องให้สังคมส่วนรวมเห็นร่วมกัน เมื่อนั้นรัฐบาลจะเดินหน้า การจัดเวทีรายภูมิภาค สร้างเครือข่ายสังคมเข้าใจปัญหาและเห็นภาพตรงกัน จะเป็นสิ่งที่ข่วยทำให้นโยบายเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนมีความก้าวหน้ามากขึ้น”
สอดคล้องกับ ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษากลุ่มพีมูฟ เปิดเผยว่า วางการขับเคลื่อนนโยบาย10 ด้านของภาคประชาชนให้เกิดขึ้นจริง เป็นที่ยอมรับ ต้องเดินหน้าทั้งการขยายแนวร่วมเครือข่ายที่เห็นตรงกันในประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น
“ยกตัวอย่างเรื่องใหญ่ในการขับเคลื่อนของพีมูฟ คือ ปัญหาที่ดิน ซึ่งมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนโยบายรัฐ กว่า 4,000 ชุมชน แต่พีมูฟยังทำงานได้แค่กว่า 100 ชุมชนเท่านั้น จึงต้องขยับขยายให้มากขึ้น“
ประยงค์ ดอกลำใย
พร้อมทั้งการเดินหน้าสร้างการยอมรับนโยบายประชาชนต่อพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมือง เพราะไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหรือขั้วรัฐบาล จะได้มีความต่อเนื่องในการสานต่อนโยบายประชาชนโดยไม่สะดุด