ประชาชน บุกร้องเรียน สภา กทม. พิจารณางบฯ 68

‘ผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร’ ร้อง ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เหตุผู้บริหารตลาดใช้อำนาจเกินหน้าที่ อ้างไร้ธรรมาภิบาล ขณะที่ ‘เครือข่ายผู้ใช้จักรยาน’ หวั่น งบฯ ที่จอดจักรยาน ถูกตัด

วันนี้ (11 ก.ย. 67) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) มีการประชุม สภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง “งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3” โดยบรรยากาศภายนอกที่ประชุม ได้มีกลุ่มประชาชนมารวมตัวกันเรียกร้องถึงผู้ว่าฯ กทม. เพื่อทวงถามการแก้ไขปัญหา

กลุ่มประชาชนผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรโครงการ 30 และ สหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร

‘ผู้ค้าตลาดจตุจักร’ ร้องผู้บริหารตลาด เลือกปฏิบัติ ขาดธรรมาภิบาล

โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่มประชาชนผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรโครงการ 30 และ สหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร เปิดเผยกับ The Active อ้างว่า ผู้บริหารตลาดนัดจตุจักรใช้อำนาจเกินหน้าที่ขับไล่ประชาชน 529 ครอบครัว ออกจากพื้นที่โดยไม่มีเหตุอันควร ขาดความโปร่งใส และถูกเลือกปฏิบัติ ละเมิดหลักนิติธรรม ไร้ธรรมาภิบาลโดยเจตนา สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร และผู้ค้าโครงการ 30 ทำให้ได้รับผลกระทบเรื่องสิทธิการการทำมาหากินเลี้ยงชีพของประชาชนผู้ค้า ส่งผลเสียหายต่อประชาชนผู้ค้าและรายได้ของภาครัฐอย่างรุนแรง และมีการตั้งคำถามถึง กทม. ดังนี้

  1. ประชาชนผู้ค้าโครงการ 30 เช่าพื้นที่ตัวเต้นท์ เดือนละ 700,000 บาท กลับไล่ออก นายทุนมาคุยค่าเช่าโครงการ 30 ที่ 500,000 บาทใช่หรือไม่

  2. เอานายทุนหลายคนมาเดินชมพื้นที่ถนนและพื้นที่โครงการ 30 จริงหรือไม่

  3. มติ ครม. ให้ต่อสัญญาให้ประชาชนผู้ค้า 32 สัญญา รวมโครงการ 30 ด้วย ผู้บริหารละเว้นการต่อสัญญาหรือไม่

  4. ให้สิทธิทำเลทองผู้บุกรุก ยืดสิทธิประชาชนผู้ค้าหลัก ทำให้รัฐเสียหายประชาชนผู้ค้าหลักที่ไม่มีความผิดหมดทางทำมาหาเลี้ยงชีพตัวเอง และครอบครัว 
กลุ่มประชาชนผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรโครงการ 30 และ สหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร

ทั้งนี้กลุ่มผู้ค้าโครงการ 30 และสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร มีข้อเรียกร้องถึง ผู้ว่าฯ กทม. ดังนี้

  1. ขอคืนสิทธิและต่อสัญญาให้ประชาชนผู้ค้าโครงการ 30 ตามมติ ครม. ที่ต้องต่อสัญญาให้ 32 สัญญาเดิม

  2. ตั้งคณะกรรมการคนกลางให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความโปร่งใส่ในการบริหาร พื้นที่ของภาครัฐและที่ทำมาหากินของประชาชนในตลาดนัดจตุจักรเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนและสงบสุข

  3. ให้สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ตลาดนัดจตุจักรปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2561 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

นฤมล แซ่หุ้น ตัวแทนผู้ค้าในพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร บอกว่า วันนี้เดินทางเพื่อแจ้งต่อผู้ว่าฯ กทม. ว่า คณะที่ท่านส่งไปบริหารมีปัญหาอะไรบ้าง และสถานการณ์ในตลาดนัดจตุจักรกำลังวุ่นวายอย่างไรบ้าง มองว่าการแจ้งรายละเอียดต่อผู้เช่าค่อนข้างล่าช้า มีความคลุมเครือ โดยไม่ได้ระบุว่าจะยกเลิกหรือจะทำอะไร แต่ไม่ให้ผู้เช่าโครงการ 30 ต่อสัญญา และมีข่าวลือว่าจะไล่รื้อผู้เช่าที่ถูกต้องตามระเบียบครม. ในวันที่ 31 ต.ค. นี้ 

นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ที่จะให้สิทธิ์กับคนนอกในทำเลทอง เพราะริมถนนเป็นทำเลที่ขายดี แต่กลับไปให้สิทธิ์หาบเร่แผงลอย แต่คนที่เช่าถูกต้องกลับถูกไล่ออก จึงอยากให้กทม.ตั้งคณะกรรมการมาพูดคุยกับผู้ค้า

ร้องถูกตัดงบฯ ที่จอดจักรยาน

ขณะที่ เครือข่ายผู้ใช้จักรยาน โดย ชัยยุทธ โล่ธุวาชัย จาก เพจจักรยาน Bike in the City บอกว่า เท่าที่ทราบเรื่องงบประมาณ กทม. ปี 2568 มีหนึ่งรายการที่ทางเครือข่ายพยายามมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่อยากจะได้คือ ที่จอดจักรยาน ซึ่งก็ทราบมาตลอดว่าทางหน่วยงานสำนักจราจร และขนส่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบทำงบประมาณให้แล้ว มีการเสนอมาแล้ว ซึ่งก็เป็นจำนวนเงินเพียงหลัก 10 ล้าน ที่แลกมากับจักรยาน 7,500 คัน ทั้งกรุงเทพฯ แต่ปรากฏมีข้อมูลมาว่างบฯ ตรงนี้หลุดออกไป

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. รับฟังข้อกังวลจากเครือข่ายผู้ใช้จักรยาน

ศิลป์ ไวยรัชพานิช ผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน บอกว่า ที่ออกมาเรียกร้องไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้จักรยาน แต่รวมไปถึงผู้ใช้ทางเท้า ผู้ใช้วิลแชร์ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ควรนำมาลงกับการส่งเสริมการเดินทางพื้นฐาน ก่อนที่จะนำไปลงกับโครงสร้างขนาดใหญ่อย่างอุโมงค์หรือ สะพาน ในที่นี้ก็คือเรื่องที่จอดจักรยาน เป็นเรื่องที่ลงทุนน้อยมาก แต่สร้างอิมแพคสูงมากสำหรับเมือง และเป็นสำคัญในการรณรงค์การใช้จักรยาน

ทั้งนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงมารับข้อร้องเรียนเรื่องนี้โดยตรง ชี้แจงว่า ในมุมของผู้บริหารเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รับปากว่าจะดูงบประมาณให้ ยังไม่แน่ใจว่าจะดึงงบฯ มาจากไหน แต่สัญญาว่าต้องมีด้วยวิธีการอื่น ต้องหาทางแก้ไข

“จะรับดำเนินการ อย่าเพิ่งท้อแท้ อย่างน้อยก็เชื่อว่าแค่นำมาบรรจุไว้ในนโยบายก็นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญ ในเรื่องอุปสรรคก็ต้องหาทางแก้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีการตั้งงบประมาณขึ้นไป เพื่อทำจุดจอดจักรยาน ซึ่งเข้าใจว่ามีการตัดออก แต่ไม่ทราบเหตุผล เพราะไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการวิสามัญ ต้องเคารพกระบวนการทำงาน แต่ก็จะพยายามหาทางว่าจุดไหนจะเพิ่มเติมยังไง จะหางบฯ จากไหนมา”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

โดยการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชนในวันประชุมงบประมาณกทม.ในวันนี้เป็นไปอย่างสงบ หลังจากได้ยื่นเรื่องแล้วก็เดินทางกลับ แต่ก็ยังจะดำเนินการเรียกร้องต่อไป และจับตาการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของกทม.อย่างต่อเนื่อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active