ชูข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้าน หวังรัฐบาลใหม่ หยิบไปใช้ หวังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง สานต่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในสังคม
วันนี้ (2 ก.ย. 67) ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-move นำโดย ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานพีมูฟ และ จำนงค์ หนูพันธุ์ ที่ปรึกษาพีมูฟ เข้ายื่นหนังสือถึง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อเสนอนโยบายของภาคประชาชนและกลไกการไขปัญหาของประชาชน โดยระบุถึงปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยึดแย่งทรัพยากรธรรมชาติและนโยบาย โดยเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม, สิทธิของประชาชนในทรัพยากรธรรมชาติ “ดิน น้ำ ป่า”, “สิทธิมนุษยชน”,“ประชาธิปไตย” และ “สิทธิชุมชน”
ปัจจุบัน รัฐบาลภายใต้การนำโดย แพทองธาร ชินวัตร ดำเนินการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อเสนอบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และเตรียมประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เพื่อเสนอร่างนโยบาย ต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ พร้อมกับการกำหนดวันแห่งนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 กันยายน 2567
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จึงได้รวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอนโยบาย 10 ด้าน เพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายในการบริหารประเทศ โดยมุ่งหวังลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมผ่านแนวทางและกระบวนการประชาธิปไตย หวังรัฐบาลแพทองธาร – รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายในการบริหารประเทศหวังให้เกิดการสานต่อเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
โดยข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้าน ประกอบด้วย
- สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ในด้านต่าง ๆ เช่น ให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน, สมาชิกรัฐสภา (สส., สว.) ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน, ที่มาของประธานศาลฎีกาต้องยึดโยงกับประชาชน หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับและให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามเจตนารมณ์ของประชาชน, ขอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. และคำสั่งคณะปฏิวัติทุกฉบับและ แก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน
- การกระจายอำนาจ ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการรวมศูนย์ของรัฐส่วนกลางที่มีการผูกขาดทางอำนาจและระบบเศรษฐกิจ ให้เกิดการกระจาย อำนาจสู่ท้องถิ่น
- นโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยมีข้อเสนอสำคัญ เช่น ให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวง, ให้มีการตั้งกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อพิจารณากลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายว่าจะเป็นการปิดปากหรือกลั่นแกล้งประชาชน
- นโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เช่น กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ตามข้อเสนอของภาคประชาชน เช่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า, พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, มาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อป้องกันมิให้ที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรถูกนำไปดำเนินการใช้ประโยชน์และเปลี่ยนแปลงผิดประเภท, ทบทวนแนวทางและมาตรการในโครงการจัดที่ดินชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทั้งนี้เนื่องจากไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม หลักการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน โดยผลักดันให้มี พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร (ในรูปแบบโฉนดชุมชน) ยกระดับรูปแบบการจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน ซึ่งภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางการบริหารจัดการที่ดินที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร ชุมชนและเพื่อให้ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำเรื่องการถือครองที่ดิน, สิทธิในการจัดการดูแลทรัพยากรที่ดินโดยชุมชน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรที่ดิน
- นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ คือการยกเลิกนโยบายและกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า และแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด คุกคามชีวิต ทรัพย์สินและส่งผลกระทบกับชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ รวมทั้ง ยุติการนำนโยบาย มติ และระเบียบของ คทช. มาบังคับใช้กับชุมชนที่มีรูปแบบการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่, รัฐบาลต้องมีนโยบายในการนำที่ดินรัฐประเภทต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย รองรับคนจนเมืองในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมกันของชุมชน และ รัฐต้องมีนโยบายอุดหนุนช่วยเหลือด้านงบประมาณ ในการจัดที่อยู่อาศัย และพัฒนาสาธารณูปโภคกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเมือง เป็นต้น
- นโยบายภัยพิบัติ เช่น ส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุและการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ โดยเสริมความรู้ความสามารถร่วมกันทุกภาคส่วนในการจัดการภัย เสริมศักยภาพอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ การจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ตามแผนรับมือภัยพิบัติไปที่ชุมชนโดยตรง มีการจัดตั้งกองทุนและคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดการภัยพิบัติระดับท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ อบรมพัฒนาเตรียมความพร้อมการศึกษาวิจัยและพัฒนาความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติชุมชน
- นโยบายการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ โดยให้มีคณะกรรมการอำนวยการด้านแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมติ ครม.รับรองสามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีองค์ประกอบจากภาคประชาสังคมและชุมชนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้มีหน้าที่ในการร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหา รวมทั้งติดตาม สรุปบทเรียน และประมวลปัญหาที่ติดขัดคั่งค้าง เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงโครงสร้างและนโยบายต่อคณะกรรมการระดับชาติในการติดตามผลการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในภาพรวม ให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติและดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ และ เร่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อให้สัญชาติ และสิทธิสถานะแก่กลุ่มชาติพันธุ์เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553
- นโยบายสิทธิของคนไร้สถานะ เพื่อแก้ปัญหาด้านสถานะและสิทธิบุคคล ของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องมายาวนานเป็นการเร่งด่วนภายใน 3 ปี โดยให้สำรวจคนตกหล่นเป็นการเฉพาะ นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ครอบคลุม เช่นการเข้าถึงระบบขั้นพื้นฐานต่างๆ การรักษาพยาบาล เป็นต้น
- นโยบายรัฐสวัสดิการ เดินหน้าข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” 9 ประเด็น เช่น สวัสดิการเด็กและเยาวชน, การศึกษา, ระบบสุขภาพ, ที่อยู่อาศัย/ที่ดิน, งานและรายได้, ประกันสังคม, ระบบบำนาญ, สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ รวมถึงระบบภาษีและงบประมาณ
- นโยบายด้านที่อยู่อาศัย เช่น รัฐต้องจัดสรรที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัยอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง และการแก้ปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน กรณีประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคได้ด้วยติดเงื่อนไขทางกฏหมาย ให้สามารถดำเนินการประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในชุมชนได้ โดยไม่ต้องถามความเห็นชอบจากหน่วยงานเจ้าของที่ดิน
โดยตัวแทนพีมูฟ ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าว ผ่าน สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ปัญหาและข้อเสนอต่าง ๆ ที่ภาคประชาชนได้เสนอมา หลายเรื่องอยู่ในนโยบายของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ส่วนตัวเห็นว่า หากรัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะเป็นโอกาสที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายได้
จากนั้นได้เคลื่อนกลุ่มพีมูฟ ได้ไปยังพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อยื่นข้อเสนอนโยบายของภาคประชาชนต่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเทียบเชิญให้ร่วมรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 โดยที่ประชุมกรรมการบริหารมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะเข้าร่วมรัฐบาล และมีการเปิดเผยข้อมูลว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง คือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ดังนั้นด้วยนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญที่พีมูฟเสนอ เช่น ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าอันเกิดจากแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน, ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่องมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท, ทบทวนแผนการเพิ่มพื้นที่ป่า 40 % โดยบังคับให้ราษฎรต้องสูญเสียที่ดินตามนโยบายดังกล่าว และทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 รวมถึงกฎหมายลำดับรองประกอบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ รวมทั้งทบทวนนโยบายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องและเป็นภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ทุกเรื่องที่เรานำเสนอ เป็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนได้รับผลกระทบ ในคดีป่าไม้กว่า 40,000 คดี สำคัญคือ เมื่อทางหัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องยกเลิกคำสั่งทวงคืนผืนป่าทันที”
ธีรเนตร ไชยสุวรรณ
ประธานพีมูฟ ยังระบุถึง อีกเรื่องสำคัญที่คาดหวังต่อการทำหน้าที่หลังร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปปัตย์ คือ การเดินหน้าโฉนดชุมชน ที่เป็นนโยบายสำคัญที่ผลักดันโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปปัตย์ สมัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนนี้บรรจุในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ก็อยากให้สานต่อทางนโยวบายให้มีความคืบหน้าชัดเจน
ด้าน นริศ ขำนุรักษ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย รัชฏาภรณ์ แก้วสนิท เป็นตัวแทนรับข้อเสนอ โดยระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีความยินดีที่ประชาชนเห็นพรรคเป็นที่พึ่งเพื่อแก้ไขปัญหา และรับข้อเสนอของกลุ่มพีมูฟ เพื่อให้เดินหน้าได้มากที่สุด