‘ชาวบ้านทับลาน’ จี้เอาผิด 157 อุทยานฯ ปมรับฟังความเห็นเพิกถอนป่า

ตัวแทนชาวบ้าน 5 อำเภอ จ.นครราชสีมา – ปราจีนบุรี ยื่น ปปช.-สอบสวนกลางตรวจสอบ เอาผิด ม. 157 อ้างอุทยานฯ ทับลาน รับฟังความเห็นเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ไม่เป็นไปตามระเบียบ ไม่เป็นธรรม พร้อมเอาผิดเจ้าหน้าที่ให้ข่าวบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดกล่าวหาชาวบ้านรุกป่า จับตา รมว.ทส.คนใหม่ ตรวจสอบกรณีดังกล่าว เร่งดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ตามแนวเขต 2543 คืนสิทธิให้ประชาชน

วันนี้ (22 ส.ค. 67) ตัวแทนชาวบ้าน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ครบุรี อ.เสิงสาง อ.ปักธงชัย อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการประกาศอุทยานแห่งชาติทับลาน ทับซ้อนพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2524 จำนวน 97 หมู่บ้าน 15 ตำบล จำนวนประชากร กว่า 40,000 คน ยื่นหนังสือถึง ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินการตรวจสอบ เพื่อเอาผิดตาม มาตรา 157 กรณีอุทยานฯ ดำเนินกระบวนการรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ไม่เป็นไปตามระเบียบและไม่เป็นธรรม พร้อมให้เอาผิดเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งให้ข่าวบิดเบือนต่อสังคม ส่งผลกระทบความเดือดร้อนต่อชาวบ้าน

ชาวบ้าน ย้ำว่า การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกําหนดอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี, นครราชสีมา และสระแก้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะการดําเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโดยมิชอบ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการกําหนดพื้นที่ การขยายและการเพิกถอนฯ พ.ศ. 2564 ข้อ 4 (6) ซึ่งเจ้าหน้าที่รับฟังความคิดเห็น โดยไม่ได้จัดเตรียมข้อมูลในการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในเรื่องประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพอยู่ในบริเวณที่มีการกําหนดพื้นที่ การขยาย หรือเพิกถอนอุทยานแล้วแต่กรณี รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความ เดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

ชาวบ้าน ยังอ้างว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจในการบังคับใช้กฎหมาย ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในภาพรวมของประเทศ ให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนในพื้นที่ที่ดําเนินการเพิกถอนตามประกาศฯ ทําให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดในสาระสําคัญว่าเป็นการประกาศเพิกถอนพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในความเป็นจริงเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศอุทยานฯ โดยเฉพาะได้มีการดําเนินการตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องจนเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน และในการจัดรับฟังความคิดเห็น ไม่มีหน่วยงานที่มีความเป็นกลางมาร่วมดําเนินการรับฟังความคิดเห็นด้วย

ประกอบกับ เจ้าหน้าที่กระทําการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีพฤติการณ์เข้าแทรกแซงกระบวนการรับฟังความเห็น โดยเห็นได้จากการให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน จนถูกมองว่าปลุกปั่นให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดต่อข้อมูลที่แท้จริงในพื้นที่ ซึ่งควรต้องดําเนินคดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

“ขอให้สืบหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่าขั้นตอนการดำเนินการถูกต้องตามระเบียบข้อปฎิบัติของกฎหมายหรือไม่ เพราะมีมติครม. 14 มี.ค.2566 ให้กันแนวเขตออก ตามข้อสรุปปี 2543 ซึ่งจริงๆแล้วเมื่อปี2545 กรมป่าไม้ได้ประชุมจะกันพื้นที่ออกแล้ว ต่อมามีหนังสือของกรมอุทยานฯ ถึง คกก.มรดกโลก ว่าจะกันพื้นที่ตามแนวเขตปี 2543 ภายในปี2550 และมติ ครม.14 มี.ค.2566 ก็ชัดเจนให้กันพื้นที่ออก ถือว่า กระบวนการนโยบายได้ดำเนินการตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน แต่ผอ.กองอุทยานฯ กลับมาให้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ชี้นำสังคมว่า พื้นที่ที่จะกันออกเป็นพื้นที่ป่า ทั้งที่เป็นพื้นที่ประชาชนอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว”

สมบูรณ์ สิงห์กิ่ง อดีตนายก อบต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา

“อยู่ในพื้นที่กันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า แต่ถูกอุทยานกล่าวหา และมาดำเนินคดีเมื่อปี 2555 ว่าเป็นผู้บุกรุก ทั้งๆที่เราอยู่มาก่อน และพื้นที่นี้ทหารก็ให้เราอยู่มาตั้งแต่ต้น และจริงๆเรามีแค่ 9 ไร่ แต่พออุทยานฯมาจับป้า แล้วเดินสำรวจลงตัวเลขถึง 35 ไร่ เพื่อต้องการเพิ่มโทษ เพิ่มค่าปรับป้า อันนี้ไม่เป็นธรรมกับป้าเลย ตอนนี้คดีป้าอยู่ในศาลชั้นต้น อยากขอความเป็นธรรม”

ชาวบ้าน ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา

อ่านเพิ่ม : ร้อง รมว.ทส. ตรวจสอบการรับฟังความเห็น เพิกถอนแนวเขตอุทยานฯไม่เป็นธรรม

จากนั้นตัวแทนชาวบ้าน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบเอาผิด มาตรา 157 กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเห็นว่าจัดกระบวนการรับฟังความเห็นเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ไม่เป็นธรรม รวมถึงเจ้าหน้าที่ ชี้นำสร้างความเข้าใจผิดกล่าวหาชาวบ้านรุกป่า พร้อมทั้งยังฝากถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใน ครม.ชุดใหม่ เร่งตรวจสอบกรณีดังกล่าว และดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ตามแนวเขต 2543 คืนสิทธิ์ให้ประชาชนด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active