ชาวบ้าน จี้ นายกฯ ยุติเหมืองโปแตช – ตรวจสอบผลกระทบเร่งด่วน

บุก ครม.สัญจร ยื่นนายกฯ ยกเลิกแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 เรียกร้องประเมินผลกระทบผู้คน สิ่งแวดล้อมให้ชัด ชี้หากรัฐเพิกเฉย ยื้อเวลา ย้ำชัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไร้น้ำยากำกับดูแล     

วันนี้ (2 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ที่หอประชุมราชภัฏรังสฤษฎ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เครือข่ายภาคประชาชน และกลุ่มชาวบ้านในหลายอำเภอ ของ จ.นครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช ที่ อ.โนนไทย, โนนสูง และอ.เมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังทำการสำรวจแร่และขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ซึ่ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายไว้ สำหรับการขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลที่ต้องการผลักดันเมืองแร่โปแตช โดยที่ อ.ด่านขุนทด ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ขอให้เร่งรัดการทำเหมือง ทั้งนี้ตอนที่อนุมัติได้อ้างว่าเพื่อชดเชยการนำเข้า 8 แสนตัน แต่ปรากฏว่ากลับอนุมัติให้มีการดำเนินการแล้วกว่า 3 ล้านตัน

ดังนั้นจึงต้องการยื่นหนังสือถึงนายกฯ ระบุว่า หากวันนี้นายกฯ ไม่ออกมารับหนังสือทางกลุ่มจะเผาหนังสือที่จะยื่นอย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า นี่ไม่ใช่การยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือ ขณะที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ต่างจังหวัดมาแล้วถึง 2 ครั้ง

จากนั้นในเวลาต่อมา พิมพ์​ภัทรา ​วิชัย​กุล​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวงอุตสาหกรรม​ ได้มารับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านเหมือนโปแตช​ ที่มาปักหลักชุมเรียกร้องหน้าที่ประชุม ​ครม.สัญจร จ.นครราชสีมา​

แกนนำผู้ชุมนุม กล่าวต้อนรับทันที​ ว่า บรรยากาศเหมือนรัฐมนตรีมาเยี่ยมนักโทษ เนื่องจากเป็นการเจรจาผ่านรั้วประตู ทำให้เจ้าหน้าที่เปิดรั้วให้รัฐมนตรี​ไปรับมอบหนังสือจากมือผู้ชุมนุม​ โดยผู้ชุมนุมได้นำเกลือที่ขึ้นในนาข้าว​ จากผลกระทบการทำเหมืองโปแตช​มากองหน้ารัฐมนตรี​ พร้อมประกาศ​ 3 ข้อเรียกร้องว่า​

  1. ขอให้มีคำสั่งให้ยกเลิกแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแร่โปแตชทั้งหมด เนื่องจากแผนแม่บทดังกล่าวไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ 2560 โดยไม่มีการสำรวจและกันพื้นที่โดยกำเนิดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และเปิดโอกาสให้มีการสำรวจแร่ และทำเหมืองแร่โปรแตชในพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในเขตแหล่งแร่​ เพื่อการทำเหมือง

  2. ขอให้ประเมินสิ่งแวดล้อม สำหรับการพัฒนาเหมืองแร่โปแตชใหม่​ เนื่องจากบริบทและความต้องการในการใช้แร่โปแตช มีวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนไป และเห็นได้อย่างชัดเจน​ว่า​ ​เป้าหมายของการให้ทำเหมืองแร่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ที่มุ่งเน้นไปสู่การส่งออกมากกว่าการลดการนำเข้า รวมถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ผ่านมาเป็นการเร่งรัดเพื่อให้มีการเปิดเหมืองโดยไม่คำนึงถึงดุลยภาพด้านวิถีชีวิต และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างเพียงพอ

  3. ขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา อย่างเร่งด่วน หากเพิกเฉยหรือยื้อเวลาออกไป ยิ่งทำให้เห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรม ไม่มีศักยภาพในการกำกับดูแล และควบคุมให้เกิดการทำเหมืองที่มีประสิทธิภาพได้

“หากรัฐบาลยังคงเดินหน้า ไม่ทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้น ถือว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เห็นคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง ต้องการเพียงตัวเลขจีดีพี​ และหากรัฐบาลยังปล่อยให้ทำเหมืองแร่ แผ่นดินอีสานจะไม่สามารถฟื้นคืนได้”

หลังรับหนังสือ​ กลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวทิ้งท้าย​ทั้งน้ำตา ว่า​ “ปุ๋ยกระสอบแรกของท่านมากับคราบน้ำตา เอาตัวพวกเราไปก็ได้ ปุ๋ยกระสอบแรกของท่านอยู่ตรงนี้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active