เครือข่ายฯ จี้ สธ. เทียบโทษเหล้า-บุหรี่ กับ กัญชา ก่อนคืนสู่ยาเสพติด

‘เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย’ ขู่ชุมนุม ปักหลักกระทรวงสาธารณสุข ให้เวลา 15 วัน รวบรวมงานวิจัย ประโยชน์-โทษ กัญชา เปรียบเทียบเหล้า บุหรี่ ชี้กัญชา ไม่ได้เลวร้าย ขอแค่มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ

จากกรณีที่ กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จะแก้กฎกระทรวงฯ เพื่อนำ กัญชา กลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามเดิม โดยอ้างอิงถึง ผลการวิจัยว่านโยบายกัญชาเสรี ทำให้เยาวชนติดกัญชาเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า และกัญชาทำลายระบบประสาทและสมอง ซึ่งต่อมา เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ออกแถลงการณ์ย้ำ ให้กระทรวงสาธารณสุข รวบรวม ศึกษางานวิจัย หากพบว่า กัญชามีโทษมากกว่าประโยชน์ เมื่อเปรียบเทียบกับบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้นำกัญชากลับสู่ยาเสพติด แต่หากข้อเท็จจริงพิสูจน์ว่ากัญชาไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ถูกปั่นในปัจจุบันให้สร้างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งเป็นการเฉพาะสำหรับควบคุมการใช้กัญชาในประเทศไทย

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย

ล่าสุด วันนี้ (13 พ.ค. 67) ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ จับตาสถานการณ์ ไทยพีบีเอส โดยตั้งคำถามว่า หลังปลดล็อกกัญชามา 2 ปี ในเวลานี้มีข้อเท็จจริงใหม่อะไรทำให้ต้องเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะปลดล็อกก็ผ่านกรรมการทุกชุดตามกฎหมาย ที่สำคัญคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็มีมติเห็นชอบ ทำไมจึงจะเอากลับไปเป็นยาเสพติดตามเดิม และหากกล่าวอ้างงานวิจัยว่าเกิดผลกระทบต่อเยาวชน ก็ต้องตั้งคำถามถึงงานวิจัยที่มากล่าวอ้างนั้นใช้กระบวนการเก็บข้อมูลอย่างไร หรือแม้แต่ที่อ้างเรื่องกัญชาทำให้สมองเสื่อม ซึ่งถือเป็นงานวิจัยกัญชาที่เต็มไปด้วยอคติ ทั้งที่การอ้างผลกระทบก็เต็มไปด้วยข้อโต้แย้งมากมาย สิ่งที่ทางเครือข่ายฯ ต้องการคือให้กระทรวงสาธารณสุข ทำข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มาเทียบเคียงระหว่างกัญชา กับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเหล้า บุหรี่ เพราะสังคมอยู่กับความเสี่ยงจาก 2 สิ่งนี้มานาน แล้วกัญชาก่อภัยร้ายอะไร ทำไมจึงจะกลับไปเป็นยาเสพติด

“สิ่งที่เราเรียกร้อง คือเมื่อไรที่กระทรวงสาธาณรสุข จะเอาข้อเท็จจริงมาวางบนโต๊ะ ไม่ควรใช้แค่ความรู้สึกมากำหนดนโยบาย”  

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

ประสิทธิ์ชัย ยังระบุถึงอีกประเด็นสำคัญ คือ เรื่องการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ ถ้าหมายถึงการสูบนั้น หากใช้กัญชาเพื่อการรักษา ต้องถือว่าการสูบ เป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด ได้ทราบถึงปริมาณ การออกฤทธิ์ก็อยู่แค่ชั่วโมงครึ่ง ขณะเดียวกันการสูบอยู่ในตำราแพทย์แผนไทยมาตั้งนานแล้ว แต่ก็มารังเกียจภูมิปัญญาตรงนี้

“การสูบเป็นวิธีการหนึ่งของการนำสารกัญชาเข้าร่างกาย แต่กลับไปตีความว่าสูบกัญชาแล้วเป็นคนเสเพล ประเทศนี้ไม่อยู่ในข้อเท็จจริงอะไรเลย ดังนั้นต้องแยกให้ออก อันไหนคือการแพทย์ต้องคุยให้ชัด เมื่อไรก็ตามที่เอากลับไปเป็นยาเสพติด เราจะทำอะไรไม่ได้เลย ทำไมไม่ใช้กฎหมายที่มีอำนาจสูงสุด มี พ.ร.บ. ที่ออกแบบได้ ยืดหยุ่น ควบคุมข้อเสีย แล้วนำข้อดีมาใช้ได้ แต่รัฐบาลไม่ยอมผลักดันเป็นกฎหมาย ตอนนี้มี พ.ร.บ. 4 ฉบับบนโต๊ะนายกฯ แต่ไม่ยอมเซ็น”

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ตั้งข้อสังเกตบอกด้วยว่า ครั้งหนึ่ง อนุทิน ชาญวีรกูล เปิดโอกาสให้คนปลูกกัญชาได้ แต่มีข้อจำกัด มีเงื่อนไขมากมาย ทำให้ยากที่ชาวบ้านจะเข้าถึง สุดท้ายกัญชาก็อยู่ในมือผู้เชี่ยวชาญ และเกิดการผูกขาดการปลูกให้กับกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม คนที่ใช้กัญชาคือกลุ่มหมอพื้นบ้าน ไม่ใช่แพทย์แผนปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอคติ ภูมิปัญญาชาวบ้านไม่มีงานวิจัยรองรับ แต่กำลังถูกตัดสินทั้งที่ใช้กัญชากันมาเป็นร้อยปี

“เรากำลังใช้อำนาจเผด็จการมาตัดสินพืชต้นหนึ่ง ที่ไม่เคยทำร้ายใครเลย ดังนั้น งานวิจัยบุหรี่ที่มีเต็มกระทรวงสาธารณสุข เรื่องเหล้าก็มีเหมือนกัน งานวิจัยกัญชาก็มีเยอะไปหมดเลย ใช้เวลารวบรวมไม่นาน ถ้ากระทรวงสาธารณสุข ทำไม่ได้ภายใน 15 วัน ก็ถือว่ามีปัญหา เราส่งเสียงไปหลายรอบ ถ้า 15 วันไม่ได้ เราจะไปกินนอนที่ กระทรวงสาธารณสุข จนกว่าจะทำข้อเท็จจริงออกมาให้สาธารณะรับทราบ รัฐมนตรีสาธารณสุข ต้องออกมา มอบหมายใครก็ได้ในสังกัด ต้องกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นที่ต้องให้คำตอบเรื่องนี้”     

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

ทั้งนี้คาดกันว่าในสัปดาห์นี้จะได้เห็นความเคลื่อนไหวที่เข้มข้นจากกลุ่มผู้ใช้กัญชา ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะหลังการปลดล็อคกัญชา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้สามารถกัญชาปลูกได้ในครัวเรือน และ เชิงพาณิชย์

โดยในฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูก ในฐานระบบการขออนุญาต 3,510 แห่ง รวมพื้นที่ขอปลูกไม่น้อยกว่า 11 ล้านตารางเมตร คิดเป็นจำนวนกว่า 1.8 แสนต้น ขณะเดียวกันยังมีร้านจำหน่ายกัญชา อีกกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ

นี่จึงอาจเป็นโจทย์สำหรับประเทศไทย ว่า ถ้าใช้กัญชาในเชิงการแพทย์ มีการวิจัยที่มีคุณภาพเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ หรือ ในทางเศรษฐกิจ ที่ในเวลานี้อาจจะต้องหาคำตอบว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดประโยชน์กับใครบ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับ การผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับกัญชา คือ กฎหมายว่าด้วยประมวลยาเสพติด และ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง จะออกมาในทิศทางอย่างไรหลังจากนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active