สสรท. – สรส. – ตัวแทนสหภาพแรงงาน เสนอให้เป็นค้าจ้างแรกเข้า นายจ้าง สถานประกอบการต้องทำโครงสร้างค่าจ้างให้เป็นธรรม ครอบคลุมแรงงานทุกระดับ เพื่ออนาคความมั่นคงคนทำงาน
วันนี้ (13 พ.ค. 67) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.), สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.), องค์กรสมาชิกทั้งที่เป็นแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สหภาพลูกจ้างภาครัฐ ยื่นหนังสือต่อ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอสนับสนุนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ
โดยเนื้อหาระบุถึง การที่ รมว.กระทรวงแรงงาน ประกาศบนเวทีวันแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ผ่านมาที่ลานคนเมือง ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ได้รับการชื่นชมจากผู้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากรวมทั้งในเวทีต่างจังหวัดเกือบทุกจังหวัดที่มีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ต่างก็มีข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้มีค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดแล้วว่าราคาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันล้วนราคาไม่ได้แตกต่างกัน
นอกจากนี้ยังเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และเอกชน แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ คนทำงานบ้าน
การที่มีกลุ่มทุนผู้ประกอบการออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย ถือเป็นเรื่องปกติเพราะเขาต้องการปกป้องผลประโยชน์ความมั่งคั่งของพวกเขา หรือ การที่มาอ้างเหตุผลว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น แม้ปัจจุบันค่าจ้างแรงงานจะยังไม่ขึ้น แต่ราคาสินค้าก็ขึ้นไปแล้ว แล้วถ้าไม่ปรับค่าจ้าง ผู้ใช้แรงงานจะอยู่ได้อย่างไร หรืออ้างเหตุผลว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประโยชน์จะตกแก่แรงงานข้ามชาติ ในความเป็นจริง แรงงานข้ามชาติมีสัดส่วนน้อยมากเพียงแค่ประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น แต่แรงงานไทยจำนวนกว่า 41 ล้านคน และจำนวนมากที่ยังคงรับค่าจ้างขั้นต่ำ บางอาชีพก็ไม่มีหลักประกันรายได้ กฎหมายแรงงานไม่คุ้มครอง เช่น แรงงานนอกระบบ คนงานไรเดอร์ แม้กระทั่งลูกจ้างภาครัฐที่จ้างโดยหน่วยงานราชการ เกือบทุกกระทรวงที่ยังคงรับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับคนกลุ่มไหน กลุ่มทุน ผู้ประกอบการที่เขาเดือดร้อนเพียงเพราะกำไร ความมั่งคั่งเขาลดลง หรือ กับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เป็นคนบริโภค จ่ายภาษี ก้อนใหญ่ให้แก่รัฐ
ขอสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ และเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และ เอกชน คนทำงานภาคบริการ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมควบคู่กับการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างหลักประกันการทำงาน การจ้างงาน เพื่ออนาคต และสังคมที่ดี เพราะเมื่อประชาชนมีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ ก็จะเกิดการผลิตการจำหน่าย ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ รัฐก็สามารถเก็บภาษีได้ ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคง ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างก็เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน แต่รัฐบาลต้องทำควบคู่กับการควบคุมราคาสินค้า ค่าพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ค่าเดินทาง การขนส่ง เป็นต้น ให้อยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไป ป้องกันการผูกขาด และปกป้องกิจการของรัฐ คือ รัฐวิสาหกิจไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : ขึ้นค่าแรง 400 บาท แก้ปัญหาเฉพาะหน้า