‘แรงงาน’ วอนรัฐ ขึ้นค่าแรง – ลดชั่วโมงทำงาน – คุ้มครองสิทธิ

นักวิชาการแรงงาน ชี้ปัญหาใหญ่ รัฐไม่กล้าแตะต้องทุนผูกขาด ส่งผลกระทบปัญหาค่าครองชีพประชาชน จี้ปรับสวัสดิการรองรับคนทุกกลุ่ม

วันนี้ (1 พ.ค. 67) เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับ Bright Future (แรงงานชาวเมียนมา) กลุ่มแรงงานชาวกัมพูชา สหภาพแรงงานไทยคูราโบ กลุ่มไรเดอร์และคนโรงงาน และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง จัดกิจกรรม ‘มหาสงกรานต์ แรงงานสากล’ ยื่น 10 ข้อเรียกร้องต่อรัฐไทยเนื่องใน ‘วันกรรมกรสากล’ โดยเน้น สิทธิแรงงานที่ยังคงขาดหาย ค่าแรงขั้นต่ำยังไม่พอยังชีพ มีชั่วโมงการทำงานมากเกินไป มีการจ้างงานที่ไม่มั่นคง และมีอำนาจต่อรองต่อรัฐน้อยกินไป

สำหรับข้อเรียกร้อง มีดังนี้

  1. ต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่มสำหรับคนทุกสัญชาติอย่างเท่าเทียม

  2. คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติในการแสดงออกทางการเมือง และระงับการร่วมมือกับเผด็จการในเมียนมา กัมพูชาและเผด็จการอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการปราบปรามประชาชนชาวต่างชาติภายในประเทศไทย

  3. ต้องบังคับใช้กฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกรณีของการจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง ค่าแรง เงินประกันสังคม เป็นต้น

  4. ต้องยืนหยัดในประชาธิปไตยสากล ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ปกป้องสิทธิ์ในการแสดงออก เดินหน้าการกิจด้านมนุษยธรรมและผลักดันสันติภาพไร้พรมแดน

  5. ต้องรับรองหลักการค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต โดยปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นเพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีของคนทำงานและครอบครัว

  6. ต้องพลักดันสิทธิลาคลอด 180 วันแบบแบ่งกันลาได้ จนเป็นกฎหมายบังคับใช้

  7. ต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมแรงงานทุกอาชีพและอัตลักษณ์เท่าเทียมกันรวมถึงการปรับลดเพดานชั่วโมงการทำงานโดยไม่ลดค่าจ้างจากเดิม

  8. เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและภาษีมั่งคั่งเพื่อจัดทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าของทุกคน

  9. ยกเลิกกฎหมายปราบปรามค้าประเวณี คุ้มครองผู้ค้าบริการในฐานะแรงงาน

  10. ต้องพลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนผ่านการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด โดยปราศจากการจำกัดควบคุมเนื้อหาการแก้ไขใดใดทั้งสิ้น

ขณะที่ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ข้อเรียกร้องเรื่องอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่มีมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติจริง เนื่องจากในอดีตมีผู้อพยพชาวจีน และปัจจุบันก็มีผู้อพยพชาวพม่า

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ 

ส่วนการผลักนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ อาจมีข้อคัดค้านจากคณะกรรมการไตรภาคี เนื่องจากมีตัวแทนจากกลุ่มนายจ้าง การแก้ปัญหาจึงต้องและชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาค่าครองชีพในระยะยาวได้หรือไม่ แต่โจทย์ที่ใหญ่กว่าคือการแก้ปัญหาทุนผูกขาด

“ตอนนี้ สิ่งที่รัฐทำอยู่เป็นการแก้ปัญหาค่าครองชีพที่ปลายเหตุ แต่ไม่ได้แก่ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ว่าค่าครองชีพแพงเพราะอะไร ไม่มีใครกล้าไปแตะถึงกลุ่มนายทุนใหญ่ที่ผูกขาดตลาดในไทยเลย”

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ 

นักวิชาการด้านแรงงาน เน้นว่า โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยคือสวัสดิการของคนทุกกลุ่ม ไม่เพียงแค่ผู้ใช้แรงงาน อย่างกรณีกลุ่มผู้สูงอายุ รัฐต้องมีนโยบายรองรับตั้งแต่ต้นทาง และใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง ไม่ใช่ให้เป็นหน้าที่ของเอกชนเท่านั้น ซึ่งเป็นการปล่อยให้ประชาชนดูแลตัวเองเหมือนทุกวันนี้

ด้านสวัสดิการสังคม ก็มีข้อสังเกตว่า ข้อเรียกร้องทั้งในปีนี้ และปีที่ผ่านมาจะเกี่ยวข้องกับทั้งแรงงานในและนอกระบบ แต่นโยบายที่ออกมาเกี่ยวข้องกับแรงงานในระบบเป็นหลัก (เช่น การเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลประกันสังคม หรือธนาคารแรงงาน) นั่นทำให้คนงานนอกระบบ อาจไม่ได้อินกับระบบประกันสังคมมากนัก และไม่มีแรงจูงใจให้สบทบต่อ รัฐจึงควรพัฒนาระบบสำหรับทุกฝ่าย

“ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน พบว่า คนไทย 20 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคม แต่มีคนกว่า 9 ล้านคน ไม่ได้จ่ายเงินสมทบต่อเพราะเขาไม่ได้อยากประกันความเสี่ยง แต่อยากได้เงิน จึงไม่มีแรงจูงใจในการสมทบต่อระบบของรัฐ จึงจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว”

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active