คกก.แก้ปัญหาพีมูฟ เคาะแนวทางช่วยประชาชน ชง ครม. เห็นชอบ

ที่ปรึกษาพีมูฟ เชื่อการแก้ปัญหาเริ่มเห็นความชัดเจนกว่าทุกครั้ง ย้ำความท้าทาย วัดความจริงใจรัฐบาลผสม เดินหน้าช่วยประชาชนเหนืออิทธิพลการเมือง

วันนี้ (13 ต.ค. 66)  ภายหลังการประชุม คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ กลุ่มพีมูฟ ซึ่งมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา 

กองเลขานุการพีมูฟ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2566 มีมติ เห็นชอบหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ 6 ประการ ประกอบด้วย 

  1. ต้องยุติการคุกคามพื้นที่สมาชิกของ ขปส. ด้วยการหยุดการแจ้งความดำเนินคดีในทุกพื้นที่ คดีใหม่ต้องไม่มีหรือให้ยุติทุกกรณี คดีเก่าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้มีมาตรการจำหน่าย หรือชะลอการดำเนินคดี และนำเข้าสู่การนิรโทษกรรมฯ

  2. ในการแก้ไขปัญหาของ ขปส. รัฐบาลต้องยึดปัญหาความเดือดร้อน ข้อมูลและข้อเท็จจริงของประชาชนเป็นหลัก ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. และนโยบายที่เป็นอุปสรรคให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา

  3. กรณีชุมชนที่เป็นสมาชิกของ ขปส. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐ

  4. ปัญหารายกรณีและกรณีปัญหาเร่งด่วนที่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และเมื่อได้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้วให้รายงานให้คณะกรรมการทราบ หากยังไม่ได้ข้อยุติให้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหารายกรณีอย่างเป็นรูปธรรมแล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ให้ความเห็นชอบและนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบแล้วแต่กรณี

  5. ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานแก้ไขปัญหาของ ขปส. โดยมีสัดส่วนระหว่างหน่วยงานของรัฐกับผู้แทนภาคประชาชนที่เท่ากัน โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

  6. ให้นำข้อเสนอเชิงนโยบายของ ขปส. 10 ด้าน ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องรับข้อเสนอของ ขปส. ไปดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยเร็ว

พร้อมทั้งยังแต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการที่ครอบคลุม 10 ด้าน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ, คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม, คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ, คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะบุคคล, คณะอนุกรรมการสิทธิที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน, คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ การกระจายอำนาจ และการการจัดการภัยพิบัติ พร้อมมอบหมายให้อนุกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณากรณีเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับ ขปส. 21 กรณี

ด้าน ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ เปิดเผยกับ The Active ว่า การเดินหน้าแก้ปัญหารอบนี้ต่างจากครั้งที่ผ่าน ๆ มา เพราะข้อเรียกร้องของพีมูฟครั้งนี้เป็นเชิงนโยบายทั้งหมด ข้อเรียกร้องรายกรณีเป็นแค่กลุ่มหนึ่ง แต่เรื่องใหญ่จะอยู่ในนโยบาย 10 ด้าน ซึ่งต้องใช้เวลาผลักดันขับเคลื่อน แต่กลไกกำกับดูแล ตามที่ ครม.เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ และมอบหมายให้หน่วยงานนำเอาข้อเรียกร้องเชิงนโยบาย ทั้ง 10 ด้านของพีมูฟไปพิจารณา คือเมื่อเป็นนโยบายแล้วจะมีแนวทาง มาตรการสำหรับการแก้ปัญหา และการนำเข้า ครม. ก็เป็นหลักประกันในเบื้องต้นว่า ได้เจรจากกันและ ครม. รับทราบเรื่องที่เกี่ยวข้องทางนโยบายทั้งหมด จะถูกพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการฯ ที่จะตั้งขึ้นด้วย 

ทั้งนี้ในวันที่ประชุมนัดแรก ก็ได้พูดคุยกันถึงรายละเอียด ว่าแต่ละประเด็นความรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับหน่วยงานไหนบ้าง ในส่วนที่คณะอนุกรรมการฯ แต่ละด้านจะพิจารณา เช่น กลุ่มสิทธิเสรีภาพ กระจายอำนาจ ภัยพิบัติ ก็จะมีกลุ่มที่รับผิดชอบไปดำเนินการ

“กระบวนการมันก็จะแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา คือเดิมมันกระจายไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ว่าครั้งนี้  มันคือการรวบรวมเอาปัญหาทั้งหมด มาไว้ในกลุ่มนโยบายต่างๆ และยกระดับขึ้นมาแก้ไขปัญหา ในเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่วนกลับไปแก้ปัญหาที่กระทรวง อันนี้คือสิ่งที่เราคิดว่า การขับเคลื่อนของพีมูฟในครั้งนี้ มันจะไม่วนอยู่ที่กรมกองหน่วยงานต่าง ๆ ก็รวมศูนย์ขึ้นมาแล้วจัดการเป็นด้าน ๆไป ไม่ใช่จัดการรายกรณีเป็นเคส ๆ“ 

ประยงค์ ดอกลำใย

เมื่อถามถึงความท้าทายที่อาจส่งผลให้การแก้ปัญหาเดินหน้าล่าช้าหรือติดขัด ที่ปรึกษาพีมูฟ ประเมินว่า หลายเรื่อง หลายนโยบายของรัฐบาลที่แถลงออกมา อาจไม่ตรงกันกับข้อเสนอภาคประชาชน หรืออาจจะไม่มี ซึ่งอันนี้ไม่น่ามีปัญหา เพราะสามารถเพิ่มเติมเสริมให้ได้ แต่ว่าที่มีแล้วแต่ไม่ตรงกัน เช่น จุดยืนเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งนโยบายรัฐบาลไม่มีในการแถลงไว้ แต่ที่มีอยู่ก็เป็นการสงเคราะห์ไม่ใช่ระบบถ้วนหน้า คือต้องคัดกรองความยากจนก่อน แต่ของพีมูฟเสนอเรื่องที่ทำให้ทุกคนควรได้รับเป็นสิทธิ อันนี้ต้องพูดคุยมากขึ้น 

ส่วนความท้าทายอีกเรื่อง จะเห็นว่าข้อเรียกร้องทั้ง 10 นโยบาย อาจไปกระทบกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง เช่น เรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน เป็นความท้าทายว่า ถ้ากลุ่มทุนที่ได้รับผลระทบมีส่วนสนับสนุนพรรคการเมืองร่วมในรัฐบาล ประเด็นนี้ก็คิดว่าอาจจะเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ รวมถึงปัญหาของส่วนราชการต่าง ๆ ที่จะมีความเห็นต่อนโยบายของพีมูฟแล้วจะทำให้กระบวนการล่าช้าไป 

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ

“อย่างในรัฐบาลที่แล้วเรามีบทเรียนชัดเจนเรื่องกฎหมายชาติพันธุ์ ทุกหน่วยงานเห็นชอบ แต่กระทรวงทรัพย์ฯ มีความเห็นต่างมา 5 หน้ากระดาษ ซึ่งทำให้กระบวนการ ต้องกลับไปแก้ไขทบทวนตามความเห็นของหน่วยงานราชการ เป็นอุปสรรคสำคัญมาก“ 

ประยงค์ ดอกลำใย 

ขณะเดียวกันที่ปรึกษาพีมูฟ ยังแสดงความกังวลต่อความไม่เป็นเอกภาพ หรือความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ที่มาจากหลายพรรค แต่ละพรรคก็มีนโยบายที่ตนหาเสียงไว้  ต้องการมุ่งไปสู่ตรงนั้น แต่ข้อเสนอภาคประชาชน ไม่ได้อยู่ในพรรคการเมืองนั้น และเกี่ยวข้องหลายกระทรวง แต่ละกระทรวงคุมคนละพรรค เช่น มหาดไทย เป็นภูมิใจไทย ก็เกี่ยวข้องที่ตัวนโยบายหลักที่ประกาศ ซึ่งนายกฯ ก็มาจากพรรคเพื่อไทย แต่ ร.อ.ธรรมนัส อยู่พรรคพลังประชารัฐ อันนี้เป็นเรื่องของกลไกภายในที่จะเป็นตัวชี้ว่านโยบายจะราบรื่นหรือไม่ อย่างเช่นถ้า ร.อ.ธรรมนัส เป็นรองประธานที่มารับเรื่อง ท่านก็รับเลยเรื่องกระบวนการภายใต้การรับผิดชอบก็จัดการได้ แต่เรื่องกระทรวงอื่นอาจต้องประสานงานกัน เป็นเรื่องที่ต้องจับตาต่อไป 

“อย่างไรก็ตาม อันนี้เป็นตัวชี้วัดว่ารัฐบาลผสม มีเอกภาพ มีอำนาจสั่งการของพรรคแกนนำจะมีมากน้อยขนาดไหน ซึ่งก็เห็นว่าวันที่นายกฯ มารับตำแหน่ง ประกาศชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ห้ามพูดว่าทำไม่ได้ ถ้าติดที่คนให้เปลี่ยนคน ติดกฎหมายให้แก้กฎหมาย อันนี้น่าจะเป็นธงนำสำคัญไปสู่ความสำเร็จได้ ถ้าเป็นไปตามสิ่งที่นายกฯ ให้ไว้ เชื่อหลายเรื่องจะไปได้ จึงเป็นสิ่งที่ประชาชน สังคม ต้องติดตามทวงถามร่วมกัน“

ประยงค์ ดอกลำใย 

สำหรับข้อสรุปจากการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ครั้งที่ผ่านมา เตรียมถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคมนี้ เพื่อให้นายกฯ พิจารณารับทราบต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active