เครือข่ายลดอุบัติเหตุ เผย หยุดยาวเฉลิมฉลองสงกรานต์ พ่วงสังสรรค์ช่วงหาเสียง หวั่นอุบัติเหตุดื่มแล้วขับพุ่ง ขณะที่งานวิจัย พบ อุบัติเหตุทางถนนเสียชีวิตใกล้บ้านสูงสุด เกินครึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ โดยมองว่า ยังมีความเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังป้องกัน และหามาตรการรองรับให้ดี คือ การเดินทางกลับบ้านก่อนเทศกาลของประชาชน และช่วงการเฉลิมฉลองสังสรรค์ที่จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะการฉลองสงกรานต์ ร่วมกับช่วงใกล้วันเลือกตั้ง ที่เชื่อว่าจะต้องจัดเลี้ยง ดื่มสังสรรค์ที่หนักมากแน่นอน รวมทั้งในช่วงการเดินทางกลับก็เป็นอีกปัจจัยที่น่ากังวล เพราะเมื่อดื่มฉลองหนัก สะสมหลายวัน จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า เหนื่อยเพลีย เสี่ยงที่จะเกิดการหลับในได้
“ข้อมูลจากบริษัทกลาง คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ยังชี้ว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตใกล้บ้าน ในระยะ 5 กิโลเมตร เพราะคิดว่าตัวเองคุ้นเคย ขับประจำ ใคร ๆ ก็ทำ จึงทำให้เกิดเหตุจนเสียชีวิต ส่วนใหญ่ครึ่งหนึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว และไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลสงกรานต์ ที่คาดว่าประชาชนจะเดินทางกลับบ้าน และมีปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ผู้ที่จะเดินทางต้อง เตรียมตัวให้พร้อม วางแผนล่วงหน้า และขับขี่รถอย่างปลอดภัย”
พรหมมินทร์ กล่าวด้วยว่า ปีนี้จึงมีประเด็นสื่อสาร คือ “ดื่มแล้วขับ แก้วเดียวก็ถึงตาย” ชี้ถึงความเสี่ยง ที่แม้เพียงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แค่แก้วเดียว แต่ปัจจุบันได้เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำ ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา โดยการกระทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษ จำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 ถึง 20,000 บาท หากทำผิดซ้ำข้อหา “เมาแล้วขับ” ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 ถึง 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่จนกระทบต่อหน้าที่การงานในที่สุด
ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ บอกด้วยว่า จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เทศกาลสงกรานต์ 2565 ในช่วง 7 วันอันตราย ได้สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 11 – 17 เมษายน 2565) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,917 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,869 คน ผู้เสียชีวิต 278 คน
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อุบัติเหตุใหญ่ เกิดรวม 21 ครั้ง ในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี, พัทลุง, พระนครศรีอยุธยา, นราธิวาส, สกลนคร, ชุมพร, เพชรบูรณ์, น่าน, นครราชสีมา, ปทุมธานี, พิษณุโลก, กาฬสินธุ์, สมุทรสาคร, อุตรดิตถ์, สระแก้ว, จันทบุรี, เชียงราย, นนทบุรี และกรุงเทพฯ
ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ซ้ำ คือ สุพรรณบุรี และเพชรบูรณ์ นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต ได้แก่ ขับเร็วร้อยละ 56.8 ดื่มแล้วขับร้อยละ 16.5 ตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 24.5 และหลับในร้อยละ 8.8
“อีกไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าประชาชนจะเดินทางกลับบ้านและมีปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ผู้ที่จะเดินทางไกลต้องเตรียมตัวให้พร้อม วางแผนล่วงหน้า ควรงดการดื่มเฉลิมฉลอง หรือการสังสรรค์ที่มีเครื่องแอลกอฮอล์ เสนอเปลี่ยนเป็นการกินข้าวพร้อมกับครอบครัว ชวนกันเข้าวัดทำบุญ ฉลองสงกรานต์ตามประเพณีวิถีไทยแบบดั้งเดิม ก็จะสามารถทำให้ทุกท่านมีความสุขและปลอดภัย ลดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน”