เหยื่อทวงคืนผืนป่า เรียกร้องรัฐ เร่งนิรโทษกรรมชาวบ้าน

“ทัศนคติ” จนท.รัฐมีปัญหา! ‘นักกฎหมาย – ส.ส.’ สะท้อนปัญหานโยบายทวงคืนผืนป่ากระทบชาวบ้าน พบหลายมาตรฐาน ด้าน ‘เหยื่อทวงคืนผืนป่า’ เรียกร้องรัฐ เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมชาวบ้าน พร้อมยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เลื่อนวันอ่านคำพิพากษา ‘แสงเดือน ตินยอด’ 28 ก.ย. นี้ ไปจนกว่าจะดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสำเร็จ

แสงเดือน ตินยอด หรือ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ชาว ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปางเป็น 1 ใน 34,962 คดี ที่ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ระบุว่า สะท้อนภาพผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดีฯ ในวันที่ 28 กันยายน 2565 หลังถูกเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง ดำเนินคดีข้อหาในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา สั่งลงโทษจำคุก

ทวงคืนผืนป่า

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2565 ในเวทีเสวนา “คดีทวงคืนผืนป่ากรณีแสงเดือนกับกระบวนการยุติธรรมไทย“ แสงเดือน ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า สะท้อนความรู้สึกว่า ตั้งแต่มีการออกนโยบายทวงคืนผืนป่าปี 2556 ได้ยินว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นนโยบายที่บังคับใช้กับกลุ่มทุน ไม่กระทบประชาชนผู้ยากไร้ แต่ความเป็นจริงกลับพบเจ้าหน้าที่พกอาวุธลงพื้นที่ต่อเนื่อง รวมถึงมีคำสั่งให้ตัดฟันยางพาราที่ชาวบ้านปลูกในพื้นที่ทำกินที่สืบมาจากบรรพบุรุษ ทั้งที่กำลังจะลืมตาอ้าปากได้ 

“รัฐเหยียบเราให้จมดิน จากชีวิตที่กำลังจะมีความหวัง กลับตกต่ำลง ถูกดำเนินคดี ขาดรายได้ บุตรหลานต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน มีการข่มขู่จากรัฐว่าถ้าไม่จำยอมจะยัดคดี ยัดความผิดให้ ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นจริง ๆ อยากถามกลับไปที่เจ้าหน้าที่ที่กระทำแบบนี้ ถ้าเป็นลูกเป็นหลานท่าน ท่านจะทำแบบนี้หรือไม่ เราเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ทำไมต้องทำกันขนาดนี้ ทำแล้วรู้สึกดีหรือ ตอนเราขึ้นศาล ทางเจ้าหน้าที่รัฐก็ให้ความเท็จ แม้จะอยู่ต่อหน้าศาลก็ตาม”

แสงเดือน ตินยอด
ทวงคืนผืนป่า
แสงเดือน ตินยอด ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า กรณีนางแสงเดือน เป็นคดีแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ถูกตัดต้นยางพารา จากคำสั่ง 64/2557 โดยรัฐบาล คสช. ออกคำสั่งในปี 2562 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง ซึ่งตอนนั้นทางทีมทนายและภาคประชาชนได้ทำทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกินของนางแสงเดือน ซึ่งมีหลักฐานเอกสารว่าทำกินมาแล้วถึง 3 ช่วงอายุคน ทั้งมีพยานบุคคลที่เป็นข้าราชการป่าไม้ มาร่วมเก็บข้อมูล จับ GPS ซึ่งก็มีหลักฐานเป็นเชิงประจักษ์ว่ามีการทำกินมาก่อนหน้านั้นแล้วจริง ๆ และหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ถูกนำไปใช้ยืนยันในศาล ตัวเจ้าหน้าที่ก็เป็นพยานในศาล และหลักฐานเหล่านี้ เป็นหลักฐานสำคัญและเชื่อถือได้ ที่นำไปสู่การยกฟ้อง 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ศาลตัดสินยกฟ้อง คือ ทั้งมติ ครม. คำสั่ง คสช. และนโยบายของรัฐต่าง ๆ นางแสงเดือนมีคุณสมบัติในเงื่อนไขนโยบายเหล่านี้ทั้งสิ้น จึงควรได้รับการผ่อนผันการดำเนินคดี สองสิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และศาลได้ตัดสินว่า “แม้นโยบายไม่ได้เป็นผลยกเว้นกฎหมาย แต่เมื่อมีการประกาศใช้นโยบาย ก็ต้องบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติ” สิ่งนี้สะท้อนถึงการทำหน้าที่ภาคส่วนราชการ เจ้าหน้าที่อุทยานเข้าใจผิดและอ้างว่าพื้นที่ของแสงเดือนอยู่ในเขตเตรียมประกาศอุทยานฯ ถ้ำผาไท รวมถึงพื้นที่ของชาวบ้านรอบ ๆ ด้วย ที่ถูกบังคับให้ตัดยางพารา หากไม่ตัดจะถูกดำเนินคดี แต่ถ้ายอมตัดจะไม่ดำเนินคดี ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยอมทำตาม แต่นางแสงเดือนเห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงมาร้องเรียนต่อภาคประชาชน

“ศาลชั้นต้น เห็นว่าเจ้าหน้าที่อุทยานผิดพลาดจริง ๆ และต้องเยียวยาให้นางแสงเดือน ที่ถูกบังคับให้ตัดยางพารา แต่ทางอุทยานกลับไม่มีการเยียวยา หนำซ้ำยังข่มขู่และคุกคามนางแสงเดือน และศาลได้ตัดสินอย่างชัดเจนว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่อุทยาน เมื่อมีคำสั่งศาลชั้นต้นออกมา ทางทีมทนายและภาคประชาชนได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปเจรจากับฝ่ายอัยการว่าให้ยุติการดำเนินคดี แต่คดีก็ถูกส่งอุทธรณ์ต่อโดยศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสิน โดยอ้างว่านโยบายของรัฐบาล ไม่สามารถใช้เป็นหลักในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้ “ 

สุมิตรชัย หัตถสาร
ทวงคืนผืนป่า
สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

สุมิตรชัยกล่าวต่อว่า ปัญหาคดีป่าไม้-ที่ดิน ค่อนข้างสลับซับซ้อน เพราะเป็นการให้อำนาจรัฐมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชน รัฐมีอำนาจในการประกาศเขตพื้นที่อุทยานหรือป่าสงวนตรงพื้นที่ใดบริเวณใดก็ได้ โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนรู้เห็นเลย คดีป่าไม้ที่ดิน ได้สร้างโศกนาฏกรรมกับประชาชนนับครั้งไม่ถ้วน เมื่อกฎหมายไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่ให้รัฐมีอำนาจมากเกินควร ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม อย่างไรก็ตามเมื่อกฎหมายออกมาแล้ว ก็นำไปบังคับใช้ แต่ตนเห็นว่า ในการตีความของศาลสามารถดึงหลักนิติธรรมมาใช้ในการตีความและตัดสินคดีได้ เหมือนที่ศาลชั้นต้นใช้ในการตัดสินคดีนี้ แต่ศาลอุทธรณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น และครั้งนี้เป็นการตัดสินของศาลฎีกา ก็ต้องติดตามกันต่อ 

สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เริ่มต้นด้วยการเล่าประเด็นคำถามที่ตนเองเคยถามนางสุภาพ คำแหล้ ที่เคยถูกจำคุกในข้อหาบุกรุกป่าสงวน ว่าถ้าออกจากเรือนจำแล้วจะไปที่ไหน ซึ่งตอนนั้นนางสุภาพก็ตอบว่า ก็คงกลับไปอยู่ที่อยู่ที่ทำกินเดิมที่เคยอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐอ้างว่าบุกรุกและดำเนินคดี เพราะไม่มีที่อยู่อื่น แต่เมื่อพ้นโทษ ไม่ทันจะได้อยู่ ก็เสียชีวิตไปซะก่อน นี่จึงทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อกระบวนการยุติธรรมเจอกับปัญหาเหล่านี้ แล้วจะทำอย่างไรต่อ เพราะกระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนปลายน้ำ แต่ต้นเหตุจริง ๆ คือ คนไม่มีที่ทำกิน แม้ว่าจะเคยอยู่มาก่อน แต่เมื่อมีกฎหมายนโยบายออกมาก็ถูกจับกุม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ และศาลที่แม้ว่าอัยการจะไม่อยากฟ้องคดีกับประชาชนชาวบ้าน แต่เมื่อคดีจะหมดอายุความ เจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้กล่าวย้ำว่าต้องฟ้อง ต้องอุทธรณ์และฎีกาต่อ อัยการก็มีความหวาดกลัว เกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แต่ในความเป็นจริงอัยการสูงสุดมีอำนาจในการไม่สั่งฟ้องได้ ด้วยเหตุผลว่าไม่เกิดประโยชน์และความจำเป็นในการฟ้องจำเลยที่เป็นประชาชน ซึ่งมีความชอบธรรมในการสั่งไม่ฟ้องได้ ในกรณีที่อยู่มาก่อนประกาศกฎหมาย

“อยากเรียกร้องให้ฝ่ายอัยการไม่สั่งฟ้องคดีประเภทนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชน และรัฐบาลในอนาคตต้องรื้อปัญหาเหล่านี้ต่อไป รวมถึงเมื่อคดีเข้าสู่ชั้นศาล อัยการสามารถถอนคำฟ้องได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีพนักงานอัยการคนใด ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากพอ ที่จะไม่สั่งฟ้องหรือถอนคำฟ้องในชั้นศาลได้“

สมชาย หอมลออ
ทวงคืนผืนป่า
สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ศาลจำนวนไม่น้อย เช่น ศาลชั้นต้น มีความเข้าใจ จึงได้ยกฟ้องกรณีนางแสงเดือน จึงอยากให้ทบทวนหลักการที่ใช้ในการตัดสินคดีเสียใหม่ ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ถึงแม้ว่ากฎหมายหลักการที่ออกโดยรัฐบาลรัฐประหาร ต้องพิจารณาและทบทวนให้หนักก่อนที่ศาลจะใช้หลักการเหล่านี้ในการตัดสินคดีและศาลต้องทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม และไม่ให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิดโดยรัฐ ศาลต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล ว่าการที่ประชาชนถูกจับกุม ดำเนินคดี เพียงเพราะอยู่มาก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมาย และนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้าที่ให้ชาวบ้านปลูกยางพาราเพื่อส่งเสริมรายได้ แต่รัฐบาลชุดใหม่อ้างว่าผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมหรือไม่ แล้วศาลจะดำเนินการตัดสินคดีอย่างไรให้เป็นธรรม เช่น นำเรื่องสิทธิตาม รธน. มาอธิบาย เพราะสิทธิชุมชนใหญ่กว่ากฎหมายอุทยาน ป่าไม้ ป่าสงวน

“ย้ำว่าแม้กระบวนการยุติธรรมจะเป็นปลายน้ำ แต่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป  ไม่ใช่ว่าจะพิจารณาตามนโยบายรัฐเพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ต่างจากการนำคอมพิวเตอร์มาตัดสินคดี เพราะการตัดสินคดีอย่างเป็นธรรม ผู้ตัดสินคดีต้องมีความเป็นมนุษย์ จำเลยก็เป็นมนุษย์ มีความรู้สึก มีจิตใจ ซึ่งตั้งแต่ฝ่ายสอบสวน อัยการ และศาล ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานมนุษยธรรมและความเป็นมนุษย์ เพราะสิ่งที่ตัดสินเป็นผลที่เกิดกับมนุษย์คนหนึ่งจริง ๆ“

สมชาย หอมลออ

ด้าน สาทิตย์  วงศ์หนองเตย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตนในฐานะ กมธ.การที่ดินฯ ได้รับคำร้องเรียนจากประชาชนหลายพันเรื่อง 1 ใน 3 เป็นประเด็นจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ส่วน 2 ใน 3 เป็นปัญหาชาวบ้านที่เกี่ยวพันกับอำนาจรัฐ เรื่องราวที่ชาวบ้านร้องเรียนมาทั่วประเทศ มีจุดร่วมที่คล้ายกัน เวลาที่กรรมาธิการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย พบว่า “ทัศนคติ” ของผู้มีอำนาจและบังคับใช้กฎหมาย ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน คือ เมื่อมีประเด็นปัญหาใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาล ที่มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่มรดกโลก เขาใหญ่ หรืออย่างล่าสุดที่ จ.ปราจีนบุรี  กลับมีความประนีประนอมในการตรวจสอบ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งต่างจากแนวทางปฏิบัติในประเด็นสิทธิการถือครองที่ดินในกรณีประชาชน สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่มีมาตรฐานในแนวทางปฏิบัติ

คำสั่ง คสช. มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติชัด คือ นโยบายทวงคืนผืนป่า 64/2557 และ 66/2557 ซึ่งมีการเพิ่มอำนาจฝ่ายความมั่นคงคือทหาร กอ.รมน. ให้มีอำนาจมากขึ้น ในช่วงปี 2555 มีแนวคิดของข้าราชการชั้นสูงในป่าไม้ที่ดิน ว่าจะต้องใช้แนวทางที่แข็งกร้าว และหลังรัฐประหารก็มีท่าทีเช่นนั้นจริง ๆ เป็นไปได้ว่าฝ่ายความมั่นคงมีความคิดต่อยอดมาจากยุคคอมมิวนิสต์ ที่มองว่าคนที่อยู่ในป่าเป็นภัยต่อความมั่นคง สิ่งเหล่านี้อาจทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกมองข้ามไป  

“คำสั่งที่ 64/2557 ระบุชัดเจนว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ถือว่ามีความผิด ในกรณีคดีแห้งในหลายพื้นที่มีการข่มขู่ คุกคามจากเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของแปลงที่ดิน จะถูกจับ รวมถึงมีกรณีที่มีการรวมพื้นที่แปลงเล็ก ๆ ของชาวบ้านหลาย ๆ คน เป็นแปลงเดียวกัน และอ้างว่าพื้นที่แปลงใหญ่ เป็นของนายทุน ไม่สามารถละเว้นตาม 66/2557 ได้ ดุลยพินิจและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มันมีปัญหา“

สาทิตย์  วงศ์หนองเตย
ทวงคืนผืนป่า
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร

ดังนั้น ทางออกคือ 1.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเจรจาพูดคุยกับฝ่ายอัยการให้ชะลอการฟ้องหรือถอนฟ้อง รวมถึงให้เรื่องนี้ เป็นแนวทางการพิจารณาของอัยการทั่วประเทศ  2.) กฎหมายนิรโทษกรรมป่าไม้-ที่ดิน สามารถทำได้ เพราะการใช้ดุลยพินิจในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ช่วงหลังรัฐประหารที่มีความกังวลว่า ถ้าไม่ทำตามคำคำสั่ง คสช. จะเท่ากับละเลยการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิด ซึ่งตนเห็นว่าแนวทางทั้ง 2 แนวทางนี้ควรเร่งทำภายในรัฐบาลชุดนี้ถ้าผ่านรัฐบาลชุดนี้ไป น่าจะมีความเสี่ยงที่จะดำเนินคดี เนื่องจากความไม่แน่นอนทางสถานการณ์การเมือง และนอกเหนือจากยื่นหนังสือต่อรัฐบาล หน่วยงานยุติธรรม ควรไปยื่นหนังสือที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่มีโอกาสให้เกิดการทำสัญญาประชาคม ว่าถ้าเป็นรัฐบาลแล้ว จะต้องทำตามหรือดำเนินการอย่างไร

ร่วมอ่านแถลงการณ์ พร้อมยื่นหนังสือ กมธ.ที่ดินฯ เร่งรัฐบาลดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมชาวบ้านจากคดี “ทวงคืนผืนป่า”

ทวงคืนผืนป่า

ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ นำโดย ถาวร หลักแหลม คณะกรรมการบริหารพีมูป อ่านแถลงการณ์เรื่อง คืนความเป็นธรรม ให้ความเป็นคนออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหยื่อทวงคืนผืนป่า พร้อมเรียกร้องให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชน ที่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

สาระสำคัญของแถลงการณ์ระบุว่า ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า เช่น กรณีนางแสงเดือน หนึ่งในเหยื่อถูกกระทำด้วยนโยบายรัฐที่ไม่เป็นธรรมและปราศจากการรับฟังเสียงของประชาชน เป็นกรณีที่สะท้อนภาพใหญ่ “ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง” ในประเทศอย่างชัดเจนที่สุด โดยจากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่กลับคำตัดสินคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 1 ปี เรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาทนั้น แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมให้ค่ากับกฎหมาย และนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐเหนือข้อเท็จจริง ข้อมูล และเสียงเรียกร้องจากประชาชน 

“จนกระทั่งจะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 28 กันยายน 2565 นี้ ชะตากรรมของคนจนนั้นก็เสมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ไม่มีหลักประกันใด ๆ ในอิสรภาพ “คุกกับคนจน” เหมือนต้องคำสาปของสังคมไทย ไม่ว่าจะผ่านยุคสมัยรัฐบาล กี่รัฐประหาร กี่รัฐธรรมนูญ ชีวิตของประชาชนที่ไร้อำนาจ ไร้ยศฐา ไร้อิทธิพลใหญ่ ก็ยังคงเป็นคนชนชั้นล่าง ที่ต้องก้มหน้าดิ้นรนปากกัดตีนถีบอยู่วันยังค่ำ ทั้ง ๆ ที่ ความยากจนไม่ใช่อาชญากรรมและคนจนก็ไม่ใช่อาชญากรของแผ่นดิน

แถลงการณ์ระบุ
ทวงคืนผืนป่า

จากนั้นนางแสงเดือน เป็นตัวแทนยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ผ่าน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เพื่อขอให้เร่งรัดกระบวนการออกกฎหมาย ว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ เพื่อให้ตนและผู้ได้ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหา

ยื่นประธานศาลฎีกา เลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีนางแสงเดือนไปจนกว่าจะดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสำเร็จ

นิรโทษกรรม

นอกจากนี้ แสงเดือน และตัวแทนพีมูฟ ยังเคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา โดยสาระสำคัญในหนังสือระบุว่า ในระหว่างนี้ที่มีการดำเนินการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรที่ได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ตนได้รับหมายนัดให้ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 2565 แต่เนื่องจากการออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมฯ ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาพีมูฟ จำนวน 15 กรณี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ตนได้รับผลกระทบอยู่นั้น ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ   

ขอร้องความเป็นธรรมมายังท่าน เพื่อขอชะลอหรือเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 28 กันยายนนี้ออกไปก่อน จนกว่าการออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐจะแล้วเสร็จ เพื่อให้ข้าพเจ้าฯ และผู้ได้ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหา“ 

แสงเดือน ตินยอด

ด้าน พชร คำชำนาญ กองเลาขานุการพีมูฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหลายคดีที่ได้รับการขอชะลอเลื่อนการอ่านคำพิพากษา และเพื่อความเป็นธรรมในคดีนี้ คาดหวังว่าศาลฎีกาจะให้ความเป็นธรรมในการเลื่อนการพิพากษาไปก่อน ระหว่างที่มีการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ซึ่งตัวแทนผู้รับหนังสือของประธานศาลฎีกา แนะนำว่าตามกระบวนการให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น ที่ จ.ลำปาง ซึ่งทางตัวแทนพีมูฟ จะเดินทางไปยื่นหนังสือ ในวันศุกร์ที่ 23 กันยายนนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ