ภาคประชาชนผุดแคมเปญ #ฉันจะเลือกผู้ว่าที่มีนโยบายทำแท้งปลอดภัย

เดินหน้าเรียกร้อง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บังคับ รพ.ในสังกัดปฎิบัติตามกฎหมาย หลังพบหญิงต้องการเข้าถึงบริการยุติตั้งครรภ์ปลอดภัยกว่า กว่า 3,000 คน ขณะที่บางส่วนเข้าไม่ถึงตามสิทธิ สปสช. ต้องเสียเงินพึ่งเอกชน ทำแท้งเถื่อน

“กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีผู้ที่ต้องการรับบริการยุติการตั้งครรภ์มากที่สุด” คือหนึ่งในคำสำคัญ ที่ใช้เพื่อรณรงค์ในแคมเปญ “ผู้ว่ากทม.ต้องมีนโยบายจัดบริการทำแท้งปลอดภัย ฟรี ถูกกม.โดยรัฐ อย่างน้อย 1 แห่งในกทม.” ในเว็บไซต์ change.org โดยผู้ใช้ชื่อ supecha baotip ล่าสุด (28 เม.ย.65) มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 101 คน

The Active พูดคุยกับ สุไลพร ชลวิไล นักวิจัยกลุ่ม “ทำทาง” ที่รณรงค์เรียกร้องให้ปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำแท้ง ยกเลิกมาตรา 301 และปรับปรุงมาตรา 305 ซึ่งในเวลาต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 ให้หญิงสามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดอื่น ๆ อันจะเอื้อประโยชน์แก่หญิงให้สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัยและไม่มีความผิดตามกฎหมาย

แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ สุไลพร กล่าวว่า ยังมีผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะกทม. ถือเป็นจังหวัดที่มีผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์มากที่สุด หากนับจากจำนวนผู้ที่ขอรับคำปรึกษาจากกลุ่มทำทางในช่วง 9 เดือนหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ (1 มิ.ย.64-31 มี.ค.65) จำนวน 1,177 คน ในจำนวนนี้ 277 คน ระบุว่าอาศัยอยู่ใน กทม. สอดคล้องกับสายด่วนให้คำปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 เดือน ต.ค.64-มี.ค.65 มีผู้ขอรับบริการจากใน กทม. มากถึง 2,947 คน ซึ่งเป็นเขตสุขภาพที่มีผู้ขอรับบริการมากที่สุดในประเทศไทย

โดยในปัจจุบันทั้งกฏหมาย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยุติการตั้งครรภ์ครั้งละ 3,000 บาท โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้ตั้งงบประมาณส่วนนี้ใน รพ.เครือข่าย เป็นจำนวนถึง 12,000 ครั้ง แต่มีผู้รับบริการได้เพียง 5,294 เท่านั้น สาเหตุสำคัญมากจาก รพ.ทุกสังกัดใน กทม. 144 แห่ง  มีเพียง 6 แห่ง ที่ให้บริการและเป็นแบบมีเงื่อนไข เช่น ตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ครรภ์มีความผิดปกติ ตัวอ่อนพิการ และมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าสมควรยุติการตั้งครรภ์พิจารณารายกรณีเงื่อนไขไม่ชัดเจน ทั้งที่ความจำเป็นของผู้ขอรับบริการส่วนใหญ่ มาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 75 และครอบครัวไม่ยอมรับ ร้อยละ 19.7 ทำให้ต้องพึ่งคลินิกเอกชน ซึ่งอยู่นอกสิทธิ สปสช. เสียค่าใช้จ่าย 3,500-4,900 บาท หรือเท่ากับ ประชากรใน กทม.ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยไปแล้วอย่างน้อยรวม 10 ล้านบาท ไม่นับรวมผู้ที่หันไปทำแท้งผิดกฎหมายซึ่งอาจหมายถึงการเสียชีวิตด้วย

กลุ่มทำทาง และตัวแทนผู้ที่ผ่านประสบการณ์ยุติการตั้งครรภ์ในกทม. จึงเรียกร้องให้ผู้ที่จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป เห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของประชาชน ดังนี้

1.จัดให้มีสถานบริการสุขภาพของรัฐที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างน้อยที่สุด 1 แห่ง

2.มีนโยบาย แผนงาน โครงการ และงบประมาณที่ชัดเจนในการสนับสนุนการจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และการเพิ่มจำนวนสถานบริการให้บริการที่ปลอดภัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ใน กทม. เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงในอนาคต

“ ค่าบริการ 4,000 บาทขึ้นในคลินิกเอกชน เป็นเงินจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน เพราะอะไรคนในกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิทำแท้งตามกฎหมายถึงไม่สามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลออกให้ได้ นั่นเป็นเหตุผลที่เราอยากจะเรียกร้องผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จะต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ ว่า รพ.ภายใต้สังกัด กทม. ยังไม่ให้สิทธิตรงนี้ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน”

สุไลพร ชลวิไล

กลุ่มทำทาง ยังเดินสายหาผู้สมัครผู้ว่ากทม. เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง โดยคนแรกคือ น.ต. ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หมายเลข 11 ยืนยันว่า จะทำให้ รพ.ทุกแห่งในสังกัด กทม. ต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันผู้หญิงที่ต้องไปทำแท้งแบบด้อยคุณภาพ ซึ่งจะเกิดผลต่อสุขภาพในระยะยาว รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตของประชากรใน กทม.

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน