เดินหน้าเรียกร้อง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บังคับ รพ.ในสังกัดปฎิบัติตามกฎหมาย หลังพบหญิงต้องการเข้าถึงบริการยุติตั้งครรภ์ปลอดภัยกว่า กว่า 3,000 คน ขณะที่บางส่วนเข้าไม่ถึงตามสิทธิ สปสช. ต้องเสียเงินพึ่งเอกชน ทำแท้งเถื่อน
“กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีผู้ที่ต้องการรับบริการยุติการตั้งครรภ์มากที่สุด” คือหนึ่งในคำสำคัญ ที่ใช้เพื่อรณรงค์ในแคมเปญ “ผู้ว่ากทม.ต้องมีนโยบายจัดบริการทำแท้งปลอดภัย ฟรี ถูกกม.โดยรัฐ อย่างน้อย 1 แห่งในกทม.” ในเว็บไซต์ change.org โดยผู้ใช้ชื่อ supecha baotip ล่าสุด (28 เม.ย.65) มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 101 คน
The Active พูดคุยกับ สุไลพร ชลวิไล นักวิจัยกลุ่ม “ทำทาง” ที่รณรงค์เรียกร้องให้ปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำแท้ง ยกเลิกมาตรา 301 และปรับปรุงมาตรา 305 ซึ่งในเวลาต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 ให้หญิงสามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดอื่น ๆ อันจะเอื้อประโยชน์แก่หญิงให้สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัยและไม่มีความผิดตามกฎหมาย
แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ สุไลพร กล่าวว่า ยังมีผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะกทม. ถือเป็นจังหวัดที่มีผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์มากที่สุด หากนับจากจำนวนผู้ที่ขอรับคำปรึกษาจากกลุ่มทำทางในช่วง 9 เดือนหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ (1 มิ.ย.64-31 มี.ค.65) จำนวน 1,177 คน ในจำนวนนี้ 277 คน ระบุว่าอาศัยอยู่ใน กทม. สอดคล้องกับสายด่วนให้คำปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 เดือน ต.ค.64-มี.ค.65 มีผู้ขอรับบริการจากใน กทม. มากถึง 2,947 คน ซึ่งเป็นเขตสุขภาพที่มีผู้ขอรับบริการมากที่สุดในประเทศไทย
โดยในปัจจุบันทั้งกฏหมาย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยุติการตั้งครรภ์ครั้งละ 3,000 บาท โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้ตั้งงบประมาณส่วนนี้ใน รพ.เครือข่าย เป็นจำนวนถึง 12,000 ครั้ง แต่มีผู้รับบริการได้เพียง 5,294 เท่านั้น สาเหตุสำคัญมากจาก รพ.ทุกสังกัดใน กทม. 144 แห่ง มีเพียง 6 แห่ง ที่ให้บริการและเป็นแบบมีเงื่อนไข เช่น ตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ครรภ์มีความผิดปกติ ตัวอ่อนพิการ และมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าสมควรยุติการตั้งครรภ์พิจารณารายกรณีเงื่อนไขไม่ชัดเจน ทั้งที่ความจำเป็นของผู้ขอรับบริการส่วนใหญ่ มาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 75 และครอบครัวไม่ยอมรับ ร้อยละ 19.7 ทำให้ต้องพึ่งคลินิกเอกชน ซึ่งอยู่นอกสิทธิ สปสช. เสียค่าใช้จ่าย 3,500-4,900 บาท หรือเท่ากับ ประชากรใน กทม.ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยไปแล้วอย่างน้อยรวม 10 ล้านบาท ไม่นับรวมผู้ที่หันไปทำแท้งผิดกฎหมายซึ่งอาจหมายถึงการเสียชีวิตด้วย
กลุ่มทำทาง และตัวแทนผู้ที่ผ่านประสบการณ์ยุติการตั้งครรภ์ในกทม. จึงเรียกร้องให้ผู้ที่จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป เห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของประชาชน ดังนี้
1.จัดให้มีสถานบริการสุขภาพของรัฐที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างน้อยที่สุด 1 แห่ง
2.มีนโยบาย แผนงาน โครงการ และงบประมาณที่ชัดเจนในการสนับสนุนการจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และการเพิ่มจำนวนสถานบริการให้บริการที่ปลอดภัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ใน กทม. เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงในอนาคต
“ ค่าบริการ 4,000 บาทขึ้นในคลินิกเอกชน เป็นเงินจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน เพราะอะไรคนในกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิทำแท้งตามกฎหมายถึงไม่สามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลออกให้ได้ นั่นเป็นเหตุผลที่เราอยากจะเรียกร้องผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จะต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ ว่า รพ.ภายใต้สังกัด กทม. ยังไม่ให้สิทธิตรงนี้ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน”
สุไลพร ชลวิไล
กลุ่มทำทาง ยังเดินสายหาผู้สมัครผู้ว่ากทม. เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง โดยคนแรกคือ น.ต. ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หมายเลข 11 ยืนยันว่า จะทำให้ รพ.ทุกแห่งในสังกัด กทม. ต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันผู้หญิงที่ต้องไปทำแท้งแบบด้อยคุณภาพ ซึ่งจะเกิดผลต่อสุขภาพในระยะยาว รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตของประชากรใน กทม.