เดินหน้าค้าน ‘เหมืองอมก๋อย’ ชาวบ้าน งัดข้อมูลชุมชน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA

เตรียมเปิดตัวข้อมูลประเมินผลกระทบชุมชนกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ หลักฐานสำคัญ ใช้ยื่นฟ้องศาลปกครอง เชียงใหม่ ชี้ EIA ไม่สมบูรณ์ มีพิรุธ ร้องศาลสั่งเพิกถอน หวั่นสูญเสียวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม หากเหมืองเกิดขึ้น  

ภายหลัง ชาวบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมจัดกิจกรรม “อมก๋อยแดนมหัศจรรย์ ลมหายใจบนไหล่เขา รอยยิ้มของผืนดิน เสียงหัวเราะของสายน้ำ” บริเวณลานเอนกประสงค์ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนเรื่องราวปัญหาการขอสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหิน เนื้อที่ 284 ไร่ ในพื้นที่บ้านกะเบอะดิน โดยคัดค้านการขอสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งชาวบ้าน เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ วิถีชีวิต

พร้อมตั้งข้อสังเกตถึง รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA อาจมีข้อพิรุธ ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเชิงพื้นที่หลายอย่าง สำหรับโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย มีระยะเวลายื่นขอทำสัมปทาน 10 ปี มีปริมาณถ่านหินประมาณ 720,000 ตัน ซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานปูนซีเมนต์รายใหญ่ ใน จ.ลำปาง

ช่วงเย็นวันนี้ (3 เม.ย.65) จะมีกิจกรรมเปิดตัวหนังสือข้อมูลชุมชน CHIA หรือ ข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบโดยชุมชน ที่ชาวบ้าน และภาคประชาชน ร่วมกันจัดทำมาตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พร้อมด้วย วงเสวนาวิชาการ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อชี้ให้เห็นความกังวลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะถูกใช้เป็นหลักฐานยื่นฟ้องคดีที่ศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ ในวันจันทร์นี้ (4 เม.ย.65) เพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอน รายงาน EIA ฉบับดังกล่าว

จิรวัฒน์ รักชาติ อาจารย์คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนึ่งในนักวิชาการที่ทำวิจัยเกี่ยวกับพืชเศฐกิจ ใน อ.อมก๋อย บอกว่า เหมืองอมก๋อยไม่ใช่เพียงปัญหาของคนในชุมชนเท่านั้น แต่จะกระทบผู้คนอีกจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่กะเบอะดิน คือแหล่งปลูกมะเขือเทศชั้นดีของเชียงใหม่ ที่ส่งออกไปทั่วทั้งประเทศ หากพื้นที่ตรงนี้ถูกทำร้ายไป ก็อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารด้วย

สอดคล้องกับ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) บอกว่า ขบวนการขับเคลื่อนของชุมชนครังนี้ ไม่ใช่เพียงปัญหาของทรัพยากร วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ แต่ อ.อมก๋อย คือป่าผืนใหญ่ พื้นที่หนึ่งของ จ.เชียงใหม่ หากป่าที่นั่นถูกทำร้ายจากโครงการพัฒนา อาจส่งผลกระทบในเรื่องของอากาศ และปัญหาฝุ่น ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับประเทศ

ข้อมูลจาก GREENPEACE ประเทศไทย ระบุถึงข้อสังเกตของ รายงาน EIA โครงการเหมืองแร่ถ่านหินกะเบอะดิน ว่า อาจขัดต่อวัตถุประสงค์ตามหลัก EIA สากล ไม่ตอบโจทย์ข้อห่วงกังวลผลกระทบมลพิษจากโครงการฯ ที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพ การประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของชุมชน เช่น

ความกังวลเรื่องการขาดแคลนน้ำผิวดิน ด้วยสายแร่ถ่านหินที่พาดผ่านบริเวณห้วยผาขาว และห้วยมะขามทำให้โครงการวางแผนเบี่ยงทางน้ำอันอาจนำมาสู่การขาดแคลนน้ำในบริเวณที่ใช้ทำการเกษตรในปัจจุบันได้ ซึ่งอาจกระทบต่อพืชเศรษฐกิจสำคัญของชุมชน อย่าง มะเขือเทศ, ฟักทอง, กะหล่ำปลี และ พริก

ขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลต่อมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นจากโครงการเหมืองถ่านหิน, การขนส่งถ่านหิน รวมทั้งฝุ่น และมลพิษอากาศ ที่อาจเกิดจากการเผาไหม้ตัวเองของถ่านหิน

นอกจากนี้ยังรวมถึง ความกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารอันตราย เช่น โลหะหนักในน้ำผิวดิน ทั้งที่ไทยเคยมีบทเรียนมาแล้วจากกรณี เหมืองตะกั่วคลิตี้

ชุมชนจึงคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินและไม่ยอมรับกระบวนการทำ EIA เพราะเกรงว่าโครงการเหมืองถ่านหินจะเปลี่ยนวิถีชีวิต และกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กลุ่มค้านเหมืองอมก๋อย ประกาศเจตนารมณ์ ยืนยันไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน

 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active