เครือข่ายชาวบ้าน ร่วมจัดทำรายงานประเมินผลกระทบโดยชุมชน(CHIA) คาดใช้เป็นเครื่องมือ คัดค้านการทำเหมืองแร่ถ่านหิน และใช้สิทธิทางกฎหมายต่อสู้
วันนี้ (30 มี.ค. 2565) ชาวบ้านกะเบอะดินจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “อมก๋อย” แดนมหัศจรรย์: ลมหายใจบนไหล่เขา รอยยิ้มของแผ่นดิน เสียงหัวเราะของสายน้ำ เพื่อแสดงเจนารมณ์ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน โดยหนังสือแสดงเจตนารมณ์ ระบุว่า บนขุนเขามีป่าไม้มีอากาศสะอาดสดใสให้เราได้หายใจ ผืนดินทำกินและที่อยู่อาศัยสร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับพวกเรา เสียงสายน้ำที่ไหลอย่างอิสระกระทบหินผาราวกับเสียงหัวเราะกลางหุบเขา คือสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดสำหรับชุมชนเรา กะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
นับตั้งแต่เราทราบถึงการจะดำเนินการทำเหมืองแร่ถ่านหินในชุมชน พวกเราทำทุกวิถีทางเพื่อคัดค้าน เพื่อให้ยุติ เพื่อให้ยกเลิกโครงการทำเหมืองแร่ถ่านหินในชุมชนของพวกเรา เราค้นพบข้อพิรุธหลายอย่างในกระบวนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ อีไอเอ (EIA) ที่ไร้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไร้การเคารพซึ่งสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน จุดยืนเดียวของพวกเราคือไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน
คำประกาศเจตนารมณ์ : “อมก๋อย” แดนมหัศจรรย์ ลมหายใจบนไหล่เขา รอยยิ้มของผืนดิน เสียงหัวเราะของสายน้ำ
ทั้งนี้ การต่อสู้กว่า 3 ปีที่ผ่านมาของชาวบ้านกะเบอะดิน จนมีนักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ลงไปทำงานในพื้นที่ อีกทั้งยังมีความพยายามรื้อความไม่เป็นธรรมในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่นำมาใช้ในการขอใบทำประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่หมู่บ้านกะเบอะดิน พบข้อเท็จจริงหลายอย่าง เช่น การระบุพื้นที่ป่าในบางส่วนของชุมชนว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม รายมือชื่อที่บางคนที่เขียนหนังสือไม่ได้แต่มีลายเซ็น ย้อนแย้งกับคนที่เขียนหนังสือได้ กลับพบว่ามีการปั้มลายนิ้วมือแทน
จนนำมาสู่การสร้างเครื่องมือจากข้อมูลชุมชน เป็นรายงานการประเมินผลกระทบโดยชุมชน(CHIA) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการรณรงค์การคัดค้านการทำเหมืองแร่ถ่านหินและใช้เป็นเครื่องมือที่ประกอบการใช้สิทธิทางกฎหมาย
ซึ่งกิจกรรมนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. 2565 ที่หมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นการเปิดเจตนารมณ์จากขุนเขาเพื่อนำมาบอกเล่าในอำเภออมก๋อย และกิจกรรมจะยังคงเดินทางทางต่อไปจัดในเมืองเชียงใหม่