ค้าน ร่าง ก.ม. ควบคุมการรวมกลุ่มฯ ‘ภาคประชาชน’ ปักหลักหน้า พม.

“ขบวนการประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน” ห่วง กระบวนการรับฟังความเห็นที่จัดโดย พม. ไม่นำข้อเห็นต่าง-คัดค้านของภาคประชาชนเสนอต่อ ครม. ด้าน ‘กสม.’ สังเกตการณ์ พร้อมให้ความเห็น การผลักดันร่างกฎหมายฯ ต้องส่งเสริม ไม่ควบคุม

วันนี้ (24 มี.ค. 2565) เครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ ที่รวมตัวกันในชื่อ “ขบวนการประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน” รวมตัวที่กันที่หน้าบ้านมนังคศิลา ถนนหลานหลวง ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. บริเวณสะพานขาว พร้อมนำพวงหรีดมีข้อความยุติร่างกฎหมายฯ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และจุดยืนในการต่อต้าน “ร่างกฎหมายการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร” ทุกฉบับ โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่กระทรวง พม. เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะครบกำหนดที่ต้องสรุปเสนอต่อรัฐบาลในวันที่ 25 มีนาคม 2565

สำหรับการรวมตัวในวันนี้ ถือเป็นการรวมตัวเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก เหตุผลสำคัญคือพวกเขาเห็นว่าร่างกฎหมายฯ มีเนื้อหาที่กว้างและคลุมเครือ มีข้อจำกัด แทรกแซงการทำงานขององค์กรที่ทำงานประเด็นสังคมโดยไม่แสวงหารายได้ หรือการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้งยังกำหนดข้อหาความผิดที่อ้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี สร้างความแตกแยก หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เป็นเหตุในการสั่งให้หยุดดำเนินการหรือยุติการดำเนินงานขององค์กรได้ พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษในอัตราสูง เป็นต้น

ควบคุม รวมกลุ่ม NGO
ควบคุม รวมกลุ่ม NGO

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิ ที่ร่วมเคลื่อนไหวในวันนี้ ระบุว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ที่จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อบทบาทของภาคประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการมีส่วนร่วมสนับสนุน ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในประเด็นนโยบายสาธารณะต่าง ๆ การทำงานของภาครัฐ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ

“กฎหมายนี้แฝงไปด้วยความต้องการและเป็นความตั้งใจของรัฐที่จะทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนอย่างชัดเจน ทั้งที่การรวมกลุ่มเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีเหตุสืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งอาจมีช่องว่างพอสมควรที่รัฐไม่สามารถควบคุมการร่วมกลุ่มของประชาชนได้ทั้งหมด ขณะเดียวกัน ต้องการทำลายความชอบธรรมของกระบวนการออกกฎหมาย ซึ่งมีความเร่งรีบมากเกินไป“

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน

นอกจากนี้เขายังเห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จะสิ้นสุดในวันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.) ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวง พม. ไม่ได้รับฟังความเห็นอย่างครอบคลุม และกังวลจะมีการสรุปที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เพราะกว่า 90% ประชาชนในเครือข่ายร่วมเวทีรับฟังสะท้อนปัญหาไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ แต่รัฐอ้างว่าเบื้องต้นเห็นด้วยถึง 65% จึงเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ออกมารับฟังข้อเรียกร้องและต้องยุติการดำเนินการจัดทำข้อสรุปการรับฟังความเห็น ที่พวกเขาเชื่อว่าจะออกมาในทางที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงและยุติการเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว

ด้าน อนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. ที่ออกมาสังเกตการณ์ชุมนุม เปิดเผยว่า พม. เป็นหน่วยงานกลาง ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายดังกล่าว ยืนยันว่าจะไม่มีการปิดกั้นการแสดงออกของภาคประชาชนที่เดินทางมาวันนี้ และพร้อมรับฟังความเห็นข้อกังวลต่าง ๆ

ควบคุม รวมกลุ่ม NGO


ขณะที่ ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมสังเกตการณ์ชุมนุมที่กระทรวง พม. ระบุว่า การชุมนุมของเครือข่ายฯ ในวันนี้เป็นไปอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ บนหลักการแสดงออกตามสิทธิมนุษยชนในรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามมาตรการคุมโรค พร้อมกำชับตำรวจระมัดระวังไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง และเห็นว่าการผลักดันร่างกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่เป็นกฎหมายควบคุม

ขณะที่ เครือข่ายภาคประชาชน ได้มีการตั้งเวทีหน้ากระทรวง พม. จัดกิจกรรมแสดงละครที่สะท้อนผลกระทบร่างกฎหมายดังกล่าว และสับเปลี่ยนหมุนเวียนปราศรัยปัญหาและผลกระทบร่างกฎหายดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ออกมาฟังเสียงประชาชน และรับหนังสือข้อเรียกร้องยุติร่างกฎหมาย ดังกล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ