เปิดโอกาส ร่วมเสนอกฎหมายหลายฉบับ เข้าไปพิจารณาพร้อมกัน เพื่อให้ได้กฎหมายชาติพันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุด
ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เสนอ
วันนี้ (7 ก.พ. 67) ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ เปิดเผยกับ The Active ว่า มติ ครม. อนุมัติหลักการ กม.ชาติพันธุ์ ฉบับรัฐบาล ถือเป็นโอกาสของประเทศ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ คือฉบับของสภาชนเผ่าฯ ที่วิปรัฐบาล ขอสภาฯ นำมาศึกษา
และอีก 2 ร่าง คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่ฟีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์เสนอ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดย พรรคก้าวไกล ซึ่งถูกตีเป็นกฎหมายทางการเงินต้องอาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรี จึงเรียกร้องให้นายกฯ เร่งลงนามรับรอง
“เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตอบเรามา 6 เดือนที่แล้วว่า อยู่ในระหว่างที่รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานเพื่อประกอบการพิจารณาของ นายกฯ แต่ว่ามาถึงวันนี้ 6 เดือนกว่าแล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ตอนแรกเราคาดว่า ร่างฯ ของประชาชนอาจจะถูกสกัดโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อวานนี้ท่านพัชรวาท รองนายกฯ และ รมว.ทส. ก็ยืนยันแล้วว่าถ้าร่างฯ ของรัฐบาล ผ่าน ครม. ซึ่งจริง ๆ ผ่านไปแล้ว ก็จะนำเรียนนายกฯ ให้เร่งรัดรับรองร่างฯ เพื่อให้ร่างฯ ของประชาชนไปประกบกับร่างฯ ของรัฐบาลในสภาฯ ได้โดยเร็ว “
ประยงค์ ดอกลำใย
ประยงค์ ยังย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.ของพีมูฟ เป็นร่างฯ ที่ได้รวบรวมข้อดี และแก้ไขข้อจำกัดที่มีในทุกฉบับ ดังนั้นจึงเป็นร่างฯ ที่ถือว่ามีความสมบูรณ์ เมื่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไฟเขียว รับปากจะเสนอแนะนายกฯ ให้รีบลงนามรับรอง ก็จะเป็นโอกาสนำไปพิจารณาพร้อมกันในสภาฯ ตั้งกรรมาธิการพิจารณาให้กฎหมายนี้ เป็นกฎหมายที่มีความสมบูรณ์ที่สุด
ขณะที่ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี ก็มองว่า การผ่านร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ฉบับรัฐบาล เป็นความหวังที่จะทำให้พวกเขาสามารถดำรงวิถีดั้งเดิม ที่ถือเป็นความมั่นคงในชีวิต
“เรามีความหวัง ในส่วนของเรื่องการใช้ชีวิตในพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมของเรา เช่น เรื่องไร่หมุนเวียนคุ้มครองวิถีชีวิตเรา เรามีความหวังว่า จะครอบคลุมทุกชาติพันธุ์ ไม่ใช่แค่เราชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือชาวเล”
พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร
สำหรับการนำร่างกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กลับมาศึกษา พร้อมด้วยเงื่อนไขการนำร่างกฎหมายทุกฉบับกลับเข้าไปพิจารณาพร้อมกันในสภาฯ ภายใน 60 วัน จะครบกำหนดประมาณ วันที่ 20 ก.พ.นี้