ชาวบ้าน ดีใจได้สะพาน หลังรอคอยมานานนับ 10 ปี ขณะที่ ภาคประชาชน ยอมรับ “ถ้าไม่เป็นข่าวคงไม่ได้สร้าง” หวัง ครม. ไฟเขียวสร้างสะพานคอนกรีตให้เสร็จ พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาสัญชาติให้กับชาวบ้านที่ยังตกหล่น
สืบเนื่องจากกรณีโลกออนไลน์เผยแพร่ความยากลำบากของนักเรียน ซึ่งเป็นลูกหลานกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมอแกน ในพื้นที่เกาะพยาม จ.ระนอง ซึ่งต้องไปโรงเรียนด้วยการเดินเท้า และใช้แพ ข้ามน้ำในจุดที่การก่อสร้างสะพานยังสร้างไม่เสร็จ และถูกปล่อยทิ้งไว้นานหลายปี
ก่อนหน้านี้จึงเกิดคำถามอย่างมาก โดยเฉพาะการที่ จ.ระนอง คือจุดหมายสำคัญของการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อย่าง ‘แลนด์บริดจ์’ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ และระดับสากล แต่กลับพบว่า ยังมีชาวบ้านบางกลุ่มในพื้นที่ของการพัฒนา ยังไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นกับการใช้ชีวิตที่ดีมากพอ
ล่าสุดวันนี้ (30 ม.ค. 67) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความใน X ระบุว่า ดีใจกับน้อง ๆ นักเรียนที่เดินทางไปโรงเรียนได้สะดวก และปลอดภัย ต้องขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่ช่วย ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน และอนุมัติให้ก่อสร้างชั่วคราว พร้อมจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่ง วันนี้กระทรวงมหาดไทยกำลังนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อขอก่อสร้างสะพานจริงต่อไป
สมโชค ทะเลลึก ชาวเลมอแกนเกาะพยาม จ.ระนอง เปิดเผยกับ The Active ว่า ดีใจที่ได้เห็นเด็ก ๆ มีสะพานใช้ หลังรอคอยมานานนับ 10 ปี โดยสะพานที่ทำขึ้นมาเป็นสะพานชั่วคราว หน้ากว้างประมาณ 1.2 เมตร สร้างเสร็จมาแล้ว 2 วัน ส่วนอีกเรื่องที่คาดว่าจะได้รับเร็ว ๆ นี้ คือ ‘สัญชาติ’ เนื่องจากทางอำเภอ ได้เข้ามาสำรวจข้อมูล มีชาวบ้านมากกว่าครึ่ง ที่ยังไม่มีบัตรประชาชน
สมโชค ทะเลลึก
“ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับอะไรจากภาครัฐเลย ชาวมอแกนรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมมาตลอด”
ขณะที่ สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) บอกว่า สะพานชั่วคราวนี้ทราบมาว่าก่อสร้างด้วยงบประมาณจากอาสาสมัครชาวต่างชาติ ที่มีเจตนาดีไม่อยากให้เด็ก ๆ ต้องข้ามฝั่งแล้วเสี่ยงอันตราย แน่นอนว่าการสร้างสะพานชั่วคราว ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะชาวบ้านยังรอคอยความหวังการก่อสร้างสะพานคอนกรีตที่สร้างค้างเอาไว้เข้าที่ประชุม ครม.
“สะพานนี้ สำนักงานโยธาธิการ จ.ระนอง เริ่มโครงการเมื่อปี 2557 แต่ถูกระงับ เพราะต้องทำหนังสือขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน และต้องได้รับการลงมติจากที่ประชุม ครม. หากไม่เป็นข่าวก็ไม่มีการผลักดัน”
เช่นเดียวกับ เรื่องสัญชาติ เพราะหลังคนไทยพลัดถิ่นไปยื่นเรื่องที่ระนอง ทำให้เห็นว่ายังมีคนตกหล่นจำนวนมาก แม้กฎหมายจะออกมาตั้งแต่ปี 2555 แต่ด้วยขั้นตอนที่ต้องตรวจดีเอ็นเอ ต้องมีบุคคลยืนยัน ทำให้เกิดเงื่อนไข และการได้สัญชาติได้ยากขึ้น แล้วถูกผลักดันต่อในที่ประชุม ครม.
“หวังให้การเดินหน้าสร้างสะพานนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้คุณภาพชีวิตของชาวมอแกนที่เกาะพยามดีขึ้น”
สมบูรณ์ คำแหง