‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’ ขอ กทม.เปิดพื้นที่ชุมนุม – หนุนองค์กรเยาวชนยั่งยืน

ครั้งแรกของ ปี 2567 กทม. เปิดประชุม ‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’ ย้ำการรับฟังต้องเกิดขึ้นทั้งใน และนอกสภา โอบรับทุกความหวังของทุกคนในเมือง

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) ได้จัดประชุม ‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’ กระบวนการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงเมือง ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในปี 2567 และนับเป็นครั้งที่ 4 แล้วหลังจากที่ได้มีการดำเนินโครงการในสมัยนี้ โดยมีทีมเยาวชนร่วมเสนอนโยบายต่อผู้บริหาร กทม. 2 ทีมด้วยกัน เพื่อร่วมกันเปิดพื้นที่เมืองให้ลงมือทำ ทดลองแก้ปัญหา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ผลักดันข้อเสนอสู่การรับนโยบายและการปฏิบัติจริงของหน่วยงาน กทม.

ทีม “Be PSY You”

ทีมแรก ทีม “Be PSY You” ประกอบด้วย พา – พันธุ์ทิพา สุขสิริสรณ์, ปลายข้าว – ขนิษฐี สิงห์กุล และ พัชญ์ – พัชนิดา โสบุญ ได้เสนอนโยบายหน่วยสนับสนุนองค์กรเยาวชน (Youth Leader Support – YLS) ต่อทีมบริหารกรุงเทพมหานคร

“Be PSY You” สะท้อนว่า เยาวชนในยุคนี้มีความมั่นใจ และมีศักยภาพที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ เริ่มต้นจากประเด็นเล็ก ๆ รอบตัว ที่จะนำไปสู่การแก้ไขในภาพกว้างได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการดำเนินองค์กรเยาวชนมีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่

  • องค์กรเยาวชนที่ริเริ่มด้วยเยาวชนยังขาดแหล่งการเรียนรู้เพื่อการสร้างองค์กรของตนเอง

  • ขาดเครื่องมือในการพัฒนาคนและระบบการทำงานภายในองค์กร เช่น ความเข้าใจในการจัดการบุคคล การตลาด การพัฒนาทักษะการออกแบบสื่อ การติดต่อประสานงาน และภาวะผู้นำเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤต

  • องค์กรเยาวชนส่วนใหญ่จะมีสมาชิกวัยเรียนเป็นหลัก ซึ่งทำให้องค์กรจะอยู่ได้เพียงระยะสั้นเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยและต้องหางานประจำ

  • องค์กรเยาวชนบางที่มีปัญหาการเมืองภายใน และการไม่ลงรอยกัน รวมทั้งการเลือกพรรคพวก มากกว่าการประเมินสมรรถนะบุคคลและการให้โอกาสคนที่ต้องการแก้ไขปัญหาได้ฉายแสง
ทีม “Be PSY You”

พา-พันธุ์ทิพา สุขสิริสรณ์ สะท้อนว่า ที่ผ่านมาตนและทีมได้ริเริ่มพัฒนาตัวแทนผู้นำเยาวชน และจัดให้มีระบบพี่เลี้ยงให้กับเยาวชนที่สนใจขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพจิตและการส่งเสริมเยาวชน และในก้าวต่อไป จะเสนอให้มีนโยบายเปิดช่องทางการรับฟังปัญหาของเยาวชนที่ทำงานในองค์กรเยาวชน สร้างชุมชนแกนนำองค์กรต้นแบบเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาและแลกเปลี่ยนกรณีศึกษา เพื่อต่อยอดในการสร้างฐานข้อมูลให้กับองค์กรด้านการศึกษาและการพัฒนาเยาวชนที่นำไปขยายผลต่อเนื่อง เช่น พัฒนาหลักสูตรการสร้างภาวะผู้นำและการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในเยาวชน และเป็นแรงบันดาลใจที่เยาวชนจะนำไปเป็นไอดอลแห่งการลงมือทำในอนาคต ซึ่งนโยบายนี้จะเป็นจริงได้ ตนได้ขอความร่วมมือจากทาง กทม. 4 ข้อด้วยกัน คือ

  • ขอการสนับสนุนจากทางหน่วยงาน กทม. แนะนำให้เด็กและเยาวชนที่อยู่ในองค์กรเยาวชน ได้รับรู้ช่องทางการขอคำปรึกษาเพื่อการพัฒนาการขับเคลื่อนงาน

  • ขอให้หน่วยงานใน กทม. ส่งช่องทางประชาสัมพันธ์โครงการในมิติต่าง ๆ ที่ต้องการการขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่

  • ขอให้หน่วยงานรายประเด็นส่งข้อมูล ภารกิจในอนาคตที่ต้องการการมีส่วนร่วมจากเยาวชนที่ขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ให้เยาวชนแต่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  • ขอให้หน่วยงานภาครัฐเปิดพื้นที่ให้เยาวชนที่มีประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ได้ร่วมนำเสนอปัญหาพร้อมหลักการ แนวคิดและเหตุผลมาแล้วไปเป็นส่วนหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน

“สิ่งที่น่าเสียดายคือความมุ่งมั่น พลังใจของเยาวชน ที่เขาอยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยข้อจำกัดของการเป็นเยาวชนทำให้พวกเขาผลักดันองค์กรไปได้ไม่ยั่งยืนนัก ทำให้เราเสียพลังเหล่านี้ไป… ส่วนตัวพาก็อยากให้องค์กรของเยาวชนเหล่านี้สามารถเดินต่อไปด้วยพลังของพวกเขาเอง ดังนั้น การพัฒนาคนในองค์กร และการเชื่อมต่อกับหน่วยงานรัฐจึงสำคัญ”

พา-พันธุ์ทิพา สุขสิริสรณ์

ขณะที่ ทีม “Born to be rebellious” ประกอบด้วย อันนา – อันนา อันนานนท์ และ อ็อกฟอร์ด – ชาญชัย น้อยวงศ์ ได้เสนอนโยบายทวงคืนพื้นที่ชุมนุมต่อทีมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร “Born to be rebellious” ชี้ว่า การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งถูกระบุไว้ในทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ผลพวงจากการยึดอำนาจทำให้มีการออกพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ทำให้เสรีภาพในการชุมนุมนั้นเป็นไปได้อย่างจำกัด พื้นที่ในการสามารถใช้ชุมนุมอย่างเสรีในประเทศนี้ ไม่หลงเหลืออยู่เลย  

ทีม “Born to be rebellious”

อันนา-อันนา อันนานนท์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า นับตั้งแต่ปี 2564-2566 ในกรุงเทพมหานครมีการชุมนุมที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่ำ 1,500 ครั้ง โดยประเด็นการเรียกร้องมีความหลากหลายตั้งแต่เรื่องปากท้อง เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ไปจนถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อันนาชี้ว่า ข้อจำกัดที่ทำให้พลเมืองไม่สามารถชุมนุมได้อย่างอิสระ คือนิยามของ “ชุมนุมสาธารณะ” ที่กำกวม ทำให้ผู้ใช้กฎหมายตีความคลาดเคลื่อน รวมไปถึงเรื่องการกำหนดให้ “แจ้ง” ว่าจะชุมนุมก่อนเพื่อขออนุญาต ซึ่งขัดกับหลักสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ ตามข้อที่ 21 ของอนุสัญญา ICCPR 

“ทำไมเราต้องแจ้งว่าเราจะขอใช้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการชุมนุมด้วย ทั้งที่เราก็ไม่ต้องเดินทางไปโรงพักเพื่อแจ้งว่าเราขอมีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ …หรือบางครั้งแจ้งแล้ว ก็ไม่อนุญาต เพราะ พ.ร.บ. ชุมนุมฯ กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจระงับการชุมนุมได้”

อันนา – อันนา อันนานนท์
ทีม “Born to be rebellious”

อ็อกฟอร์ด – ชาญชัย น้อยวงศ์ ย้ำว่าพวกตนเข้าใจถึงข้อจำกัดของทางหน่วยงานอย่างกรุงเทพมหานคร แต่ถึงอย่างนั้น กทม. ก็มีอำนาจในการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะได้ (อาศัยความในมาตรา 9 ของพ.ร.บ. ชุมนุมฯ) จึงเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศให้สถานที่สาธารณะทุกแห่ง เช่น สนามหลวง สวนสาธารณะในสังกัด ถนนทุกสายในสังกัด เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ชุมนุม โดยยึดหลักสิทธิในการชุมนุมตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้ เพียงแค่ผู้ว่าฯ ลงนามประกาศ

อันนา และ อ็อกฟอร์ด เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่พวกตนจะลงมาเรียกร้องบนถนน ตนก็เคยเคลื่อนไหวผ่านกลไกของรัฐสภา หรือกลไกของทางหน่วยงานราชการ แต่พบแล้วว่าโครงสร้างเหล่านั้นไม่ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนที่มีความซับซ้อนและหลากหลาย เหตุผลที่พวกตนอยากให้การชุมนุมสาธารณะเกิดขึ้นได้ ก็เพื่อให้เสียงของประชาชนและเยาวชนไม่ถูกรับฟังแค่ในสภา หรือแค่ในห้องประชุมนี้ แต่บนท้องถนนเองก็สามารถรับฟังได้เช่นเดียวกัน

“ก่อนจะไปต่อสู้บนท้องถนน เราก็เคยเคลื่อนไหวในระบบมาก่อน เข้าใจว่าในระบบมันไม่ตอบโจทย์ จนไปสู่การลงถนนและถูกละเมิดคุกคาม ก็อยากขอบคุณที่แห่งนี้ (สภาเมืองคนรุ่นใหม่) ที่สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยกับเราครับ”

อ็อกฟอร์ด – ชาญชัย น้อยวงศ์
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.

ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปว่า ข้อเสนอทางนโยบายของทั้ง 2 ทีม รวมถึงทีมก่อนหน้านี้ที่เคยเสนอมาก่อนในสมัยที่แล้ว จะถูกนำไปขยายไปผลต่อในแต่ละสำนักของกทม. จะมีขั้นตอนของการอัพเดตและรับฟังเช่นนี้อยู่เรื่อย ๆ เพื่อเป็นการยืนยันว่ากรุงเทพฯ นั้นพร้อมมีพื้นที่ให้เยาวชนได้ออกมามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมืองอยู่เสมอ เพราะเด็กและเยาวชนจะเป็นผู้อยู่อาศัยในเมืองนี้นานกว่าใคร ๆ พร้อมฝาก “สภาเมืองคนรุ่นใหม่” และ “สภาเด็กและเยาวชน” ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นของทุกคนอย่างแท้จริง

“ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจประเด็นเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ถ้าเรามีไอเดียอยากทำอะไร กรุงเทพฯ มีพื้นที่นี้ ที่เปิดรับทุกความ สนใจถ้ามีอะไรที่อยากปรับปรุง พัฒนา ขอให้นึกถึงสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ไอเดียของทุกคนไม่ว่าคนจะมองว่าดีหรือไม่ดีก็ตาม พื้นที่นี้ก็พร้อมที่จะรับทุกความหวัง และความฝันของทุกคน”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ส่วนการลงสมัครแคนดิเดตสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครในระดับเขตนั้น ศานนท์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้มาลงสมัครแล้วทั้งสิ้น 110 คน จากทั้งหมด 30 เขต โดยเขตที่มีผู้ลงสมัครมากที่สุดคือ เขตดอนเมือง 13 คน รองลงมาคือเขตบางนา และภาษีเจริญ 8 คน

พร้อมเชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ตั้งแต่อายุ 15 – 25 ปี ลงสมัครแคนดิเดต ซึ่งจะปิดรับภายในวันที่ 31 มกราคมนี้ โดยรายละเอียดของเขตที่เหลือมีดังนี้

  • เขตที่มีผู้ลงสมัคร 6 คน ได้แก่ เขตบางขุนเทียน และเขตคลองเตย

  • เขตที่มีผู้ลงสมัคร 5 คน ได้แก่ เขตประเวศ และเขตบางเขน

  • เขตที่มีผู้ลงสมัคร 4 คน ได้แก่ เขตพระนคร, เขตลาดกระบัง, เขตบางแค และเขตวัฒนา

  • เขตที่มีผู้ลงสมัคร 3 คน ได้แก่ เขตบางบอน, เขตลาดพร้าว, เขตคลองสามวา, เขตจอมทอง, เขตบางคอแหลม, เขตจตุจักร, เขตดินแดง, เขตบึงกุ่ม และเขตบางกะปิ

  • เขตที่มีผู้ลงสมัคร 2 คน ได้แก่ เขตพระโขนง, เขตคลองสาน, เขตบางกอกน้อย, เขตตลิ่งชัน, เขตมีนบุรี และเขตดุสิต

  • เขตที่มีผู้ลงสมัครเพียงคนเดียว ได้แก่ เขตหนองแขม, เขตห้วยขวาง, เขตสัมพันธวงศ์ และเขตบางซื่อ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active