เครือข่ายแรงงานเคลื่อนไหว ชี้ ค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องเท่ากันทั้งประเทศ

สสรท. – สรส. ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ และรัฐบาล ระบุ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม เลี้ยงคนในครอบครัวได้ ชู เหตุผลต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศ เหตุ กลไกอนุฯ ค่าจ้างประจำจังหวัดมีปัญหา ส่งผลให้ค่าจ้างเหลื่อมล้ำมากเกินไป

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2566สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล กรณีนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ต้องเป็นธรรม เลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล และต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมมาตรการควบคุมราคาสินค้า โดยระบุเหตุผลว่าทำไมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ โดยอ้างถึง 1) ปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 23 (3) ที่ระบุว่า “ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วย”

2) อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 131 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ถึงองค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดระดับของค่าจ้างขั้นต่ำ ตราบเท่าที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับแนวปฏิบัติและสภาวการณ์ภายในประเทศต้องรวมถึงความจำเป็นของคนงานและครอบครัวของคนงาน โดยคำนึงถึงระดับค่าจ้างทั่วไปในประเทศ ค่าครองชีพ ประโยชน์ทดแทนต่าง ๆ จากการประกันสังคมและมาตรฐานการครองชีพโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มสังคมอื่น ๆ

และ 3) รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ดูเหมือนจะเข้าใจสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และได้เสนอนโยบายเร่งด่วนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เช่น แจกเงินผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป พร้อมกับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 600 บาท จ้างงานในวุฒิปริญญาตรี 25,000 บาท เป็นต้น

เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก ยังระบุอีกว่า ขณะนี้นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้นมีปัญหา รวมทั้งเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ก่อนหน้านี้ระบุว่าต้องไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท ล่าสุด กระทรวงแรงงานได้แถลงต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด วันละ 370 บาทเท่านั้น และอัตราต่ำสุดอยู่ที่ 330 บาท ซึ่งปรับเพิ่มเพียง 2-16 บาทเท่านั้น ท่ามกลางราคาสินค้าอุปโภค บริโภค น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ได้ปรับราคาขึ้นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาได้

ค่าจ้างขั้นต่ำ
แฟ้มภาพ

สำหรับข้อเรียกร้องให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ จดหมายเปิดผนึกระบุว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มประกาศเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรก เมื่อปี 2516 วันละ 12 บาท และมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเรื่อยมา กระทั่งปี 2537 รัฐบาลในเวลานั้นประกาศให้ค่าจ้างลอยตัวแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดสามารถปรับขึ้นค่าจ้างเองได้โดยผ่านคณะอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด แล้วส่งมาให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดสิน แต่ในต่างจังหวัดแทบไม่มีองค์กรหรือบุคคลที่เป็นผู้แทนของคนงานอย่างแท้จริงร่วมพิจารณาการปรับค่าจ้าง จึงทำให้ค่าจ้างเหลื่อมล้ำกันมาก บางพื้นที่รอยต่อจังหวัดต่อจังหวัดค่าจ้างต่างกัน แต่ต้องซื้อสินค้าในราคาเดียวกัน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงเกิดการอพยพแรงงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เมืองใหญ่ที่มีค่าจ้างสูงทำให้เกิดเมืองแออัดทั้งสภาพแวดล้อม วิกฤตการจราจร การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ เกิดปัญหาคนจนเมือง ในขณะที่ชนบทล่มสลาย ไม่มีคนหนุ่มสาว ภาคเกษตรไม่มีคนทำงาน ที่ดินถูกยึดครอง ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข คุณภาพของประชากร เรื่องทรัพยากร ที่ดิน 

ส่วนข้อดีหากปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมตามหลักการสากลและเท่ากันทั้งประเทศ ประการแรก จะทำให้แรงงานลดการอพยพคนงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เขตค่าจ้างสูง เพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายกระจายงานกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาค บริหารจัดการเรื่องการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ให้คล่องตัว ดูเรื่องสภาพแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมให้ดี ไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้คนงานสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้และสามารถอยู่กับท้องถิ่นชนบท ออกจากโรงงานก็ยังสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเสริมได้ ที่ดินก็ไม่ถูกยึดครอง ครอบครัวไม่แตกสลาย

และสอง เมื่อปรับค่าจ้างให้คนงานมีกำลังซื้อ สินค้าที่ผลิตออกมาก็สามารถขายได้เกิดการจ้างงาน เมื่อคนงานมีรายได้จากค่าจ้างแรงงาน สถานประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้า รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล และการส่งออก รัฐก็มีรายได้มีเงินจัดสรรเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ อีกด้านหนึ่งเมื่อคนงานมีรายได้เพียงพอก็สามารถวางอนาคตตนเองและครอบครัวได้เช่น การศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ค่าจ้างขั้นต่ำ
แฟ้มภาพ

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ระบุในช่วงท้ายว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่จะพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกระทรวงแรงงานจะนำเสนอ ขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศและนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน จะต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ 3 คน ตามหลักการของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมแรงงานในทุกภาคส่วน รวมทั้งพนักงานและลูกจ้างภาครัฐซึ่งยังรับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 

พร้อมย้ำว่า สสรท. และ สรส. ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างให้แตกต่างกันเป็นระดับท้องถิ่น และรัฐบาลควรกำหนดให้แต่ละสถานประกอบการจัดทำ โดยให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้าและปรับค่าจ้างทุกปีตามดัชนีค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ โครงสร้างค่าจ้างจะทำให้คนงานสามารถวางแผนอนาคตได้ ผู้ประกอบการก็สามารถวางแผนธุรกิจได้

“พรรคการเมืองจะได้ไม่ต้องนำเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไปหาเสียงและจะได้เลิกถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับเท่าใด พร้อม ๆ กับการปรับค่าจ้าง ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง”

จดหมายเปิดผนึก ระบุ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active