ร้อง กสม. – สผ. ตรวจสอบ “แลนด์บริดจ์ระนอง – ชุมพร” ทั้งระบบ

“เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ” อ้างกระบวนการศึกษาผลกระทบพบข้อบกพร่อง วอนเดินหน้ากระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนต้องทำอย่างถี่ถ้วน ครอบคลุม หวั่นกระทบฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม

วันนี้ (28 พ.ย.66) ตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เข้ายื่นหนังสือต่อ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ขอให้ตรวจสอบการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงระนอง – ชุมพร โดยอ้างตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษา สำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง โดยจะศึกษาต่อยอดจากผลการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมของ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ที่เคยศึกษาไว้เมื่อปี 2561 ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (MR-MAP) ทั้งนี้ รฟท. ตั้งเป้าว่าจะดำเนินการศึกษาทั้งหมดให้แล้วเสร็จตามกระบวนการในช่วงปลายปี 2566 

โดยเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ได้เฝ้าติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ปรึกษาฯ มาอย่างต่อเนื่อง มีข้อค้นพบว่า งานศึกษาดังกล่าวมีข้อบกพร่องในกระบวนการ และเนื้อหาของการศึกษาที่ยังไม่ครบถ้วน ประกอบด้วย

  1. กระบวนการจัดเวทีไม่ได้เชิญ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเข้าร่วมอย่างทั่วถึง และบางเวทีเป็นการเชิญประชาชนทั่วไปที่ไม่เข้าใจสภาพพื้นที่ อีกทั้งในการจัดเวทียังไม่ได้อธิบายรายละเอียดการดำเนินงานอย่างครบถ้วน จึงทำให้บริษัทที่ปรึกษาฯ ไม่สามารถได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนเพียงพอที่จะนำไปประกอบการจัดทำรายงานอย่างมีคุณภาพได้

  2. โครงการก่อสร้างทางระไฟระหว่างจังหวัดชุมพร และระนอง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งทะเล และระหว่างทางที่จะพาดผ่าน อ.พะโต๊ะ นั้นมีฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย มีความละเอียดอ่อนที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงได้ ทั้งกับชายหาด ทะเลชายฝั่ง อันเป็นแหล่งทำการประมงของชาวประมงพื้นบ้านทั้งที่อ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และที่แหลมริ่ว   จ.ชุมพร ซึ่งจะต้องศึกษาผลกระทบการทำกินของคนในพื้นที่อย่างละเอียดและรอบครอบ

  3. พบว่าป่าชายเลน จ.ระนอง ตั้งแต่อุทยานแห่งชาติแหลมสน ปากคลองกะเปอร์ ไปจนถึงปากน้ำกระบุรี ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่แรมซาไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลก ที่ประกาศตามภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ ลำดับที่ 1183 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 ซึ่งถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตป่าชายเลนแห่งแรกของโลก และบางส่วนของป่าชายเลนผืนนี้ได้ถูกประกาศให้เป็น “เขตสงวนชีวมณฑล” ภายใต้สาขาวิทยาศาสตร์ของยูเนสโก้ ด้วยเหตุผลเพราะป่าชายเลนแห่งนี้มีความสำคัญทางด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ซึ่งพบว่าบริษัทที่ปรึกษาฯ ยังไม่มีการนำข้อมูลที่ต่าง ๆ เหล่านี้มาพิจารณาและวิเคราะห์เพื่อให้เห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน

  4. การเจาะอุโมงค์ที่ลอดผ่านภูเขาที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ได้ศึกษาเรื่องการย้ายของสัตว์ป่าที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างครบถ้วนหรือไม่

  5. ลักษณะภูมิประเทศของเส้นทางรถไฟในโครงการที่เป็นภูเขา และเป็นลำห้วยสาขานับร้อยสายตลอดเส้นทาง แม้จะออกแบบด้วยการยกระดับบางส่วน แต่จะมีพื้นที่ไม่น้อยต้องถมดินและรองหินเพื่อเป็นทางรถไฟจะทำให้เกิดการปิดทางน้ำเหล่านั้นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศทั้งระบบ

“พวกเราในนามเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ขอเป็นตัวแทนของพี่น้องชาว จ.ระนอง และชุมพร ขอให้ สผ. ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบและให้ความเห็นชอบ EIA กำลังจัดทำ ได้ตรวจสอบข้อสังเกตดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อให้มีกระบวนการรับฟังอย่างถี่ถ้วน และเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องจากการศึกษาดังกล่าว ไม่ให้เกิดความเสียหายกับฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอันคงคุณค่า”

ร้อง กสม. ตรวจสอบ “โครงการแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร”

ขณะเดียวกัน เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ยังได้ยื่นเรื่องต่อ ปรีดา คงแป้น และ ศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้ตรวจสอบโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง – ชุมพร (ทั้งระบบ) โดยเฉพาะการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA และ EHIA) ทั้งที่โครงการท่าเรือน้ำลึก และเส้นทางรถไฟ ที่จะพาดผ่านพื้นที่ อ.พะโต๊ะ ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ อ้างว่าหลายเวทีที่จัดขึ้น ทำให้เกิดความสับสน และความไม่เข้าใจของประชาชนชาวระนอง – ชุมพรจำนวนมาก เพราะชาวบ้านแทบไม่ได้รับรู้เลยว่ากระบวนการจัดเวทีที่ผ่านไปแล้ว และที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะส่งผลอะไรตามมา ในขณะที่รัฐบาล โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ พร้อมกับการเดินสายเชิญชวนผู้ประกอบการจากต่างประเทศมาลงทุน เชื่อว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จึงขอให้ กสม. ตรวจสอบในประเด็น ดังนี้

  1. รัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินการอะไรบ้าง ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ระนอง – ชุมพร และมีแผนดำเนินการในเรื่องเหล่านั้นอย่างไรบ้าง แต่ละเวทีนั้นอยู่ในกระบวนการศึกษาของโครงการอะไรบ้าง และทั้งหมดนั้นอยู่ในขั้นตอนไหน อย่างไร

  2. เมื่อโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และจะเกิดผลกระทบในวงกว้างกับประชาชนในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด ทำไมรัฐบาลจึงไม่ศึกษาผลกระทบในเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อทำให้เห็นภาพรวมทั้งระบบ เพราะแม้แต่โครงการเล็กกว่านี้อย่างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเห็นชอบให้จัดทำ SEA ก่อนการอนุมัติโครงการ

  3. ในขณะที่การศึกษาต่าง ๆ ภายใต้โครงการนี้ยังไม่แล้วเสร็จ แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจ และเดินหน้าขายโครงการให้ผู้ประกอบการต่างชาติมาร่วมลงทุนแล้วนั้น เท่ากับเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายศึกษาที่จะต้องดำเนินการตามที่รัฐบาลต้องการ โดยไม่สนใจข้อเท็จจริง และความคิดความเห็นของประชาชนที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดเวทีต่าง ๆ ในพื้นที่แม้แต่น้อย และเมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการศึกษาดังกล่าวจะดำเนินไปอย่างตรงไปตรงมา และถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ อย่างไร


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active