พีมูฟ จับตา ผลประชุมครม.เคาะ แนวทางแก้ปัญหา 6 ข้อ

นักนโยบาย แนะ ภาคประชาชน ออกแบบระบบติดตามนโยบาย ความคืบหน้ากลไกกรรมการต่าง ๆ กสม.ย้ำ การมาชุมนุมเป็นสิทธิของชาวบ้านที่ต้องการความเป็นธรรม หนุนยกระดับแก้ปัญหาเชิงระบบ

เมื่อวันที่ (15 ต.ค.66) ในเวทีสาธารณะ “เดินหน้า 10 ข้อเรียกร้องพีมูฟทวงสิทธิ“ ที่จัดขึ้นบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล  โดยมีตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ นักวิชาการที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ รวมถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าร่วม

เวทีเริ่มต้นจากการทบทวน ย้อนมองการเคลื่อนไหวต่อสู้ตลอด 13 ปี ของกลุ่มพีมูฟ ในหลายรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลโดยการนำของ  อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์,  ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย,  พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา ยุค คสช. จนถึงยุครัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ที่ล้วนเป็นการนำเสนอข้อเรียกร้องแนวทางการแก้ไขปัญหารายกรณี และพบว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา ติดขัดในเชิงระบบ เชิงโครงสร้าง  ทั้งกฎหมาย ระเบียบ ตลอดจนไม่มีนโยบายที่ยังไม่ครอบคลุมปัญหา ทำให้ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร 

ดังนั้นการเคลื่อนไหวของประชาชนรอบนี้ จึงให้ความสำคัญกับการยกระดับเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย 10 ด้าน ที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน  ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มพีมูฟ ประกอบด้วย ด้านสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย,  ด้านการกระจายอำนาจ, นโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม,  นโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม, นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ, นโยบายด้านการป้องกันภัยพิบัติ, นโยบายการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์, นโยบายสิทธิของคนไร้สถานะ, ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ และการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นนโยบายสาธารณะที่มาช่วยเติมให้กับรัฐบาล 

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาต่างมองในทิศทางเดียวกันว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นความหวัง หลังจากล่าสุด คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟและมีการประชุมนัดแรก ซึ่งมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (16 พ.ค.66) เพื่อพิจาณาเห็นชอบ ทั้งหลักแนวทางการแก้ไขปัญหาของ ขปส. 6 ประการสำคัญ  ประกอบด้วย

1.ยุติการคุกคามพื้นที่สมาชิกของ ขปส. ด้วยการหยุดการแจ้งความดำเนินคดีในทุกพื้นที่  

2.รัฐบาลต้องยึดปัญหาความเดือดร้อน ข้อมูลและข้อเท็จจริงปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. และนโยบายที่เป็นอุปสรรคให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา

3.กรณีชุมชน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐ

4.ปัญหารายกรณีและกรณีปัญหาเร่งด่วนที่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และเมื่อได้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้วให้รายงานให้คณะกรรมการทราบ หากยังไม่ได้ข้อยุติให้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหารายกรณีอย่างเป็นรูปธรรมแล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ให้ความเห็นชอบและนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบแล้วแต่กรณี

5.ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานแก้ไขปัญหาของ ขปส. โดยมีสัดส่วนระหว่างหน่วยงานของรัฐกับผู้แทนภาคประชาชนที่เท่ากัน โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

6.ให้นำข้อเสนอเชิงนโยบายของ ขปส. 10 ด้าน ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องรับข้อเสนอของ ขปส. ไปดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยเร็ว

รวมทั้ง แต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการ ที่ครอบคลุม 10 ด้าน ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ, คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม, คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ, คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะบุคคล, คณะอนุกรรมการสิทธิที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน, คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย  และ คณะกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ การกระจายอำนาจ และการการจัดการภัยพิบัติ และมอบหมายให้อนุกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณากรณีเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับ ขปส. 21 กรณี

ขณะที่ประเด็นสำคัญที่พวกเขาเฝ้าติดตาม ไม่ใช่แค่การจับตาผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้  เพื่อให้มีมติเห็นชอบตามข้อสรุปดังกล่าว ของคณะกรรมการพีมูฟ แต่เป็นการประเมินและมองต่อถึงก้าวย่างของการขับเคลื่อนยกระดับนโยบายภาคประชาชน นโยบายสาธารณะให้เกิดขึ้นจริงได้ 

โดย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์  ที่ปรึกษากลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) กล่าวว่า แม้พรุ่งนี้จะมีมีมติครม.รับรองตามข้อเสนอของพีมูฟ แต่ประชาชนต้องรวมตัวให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการติดตามความคืบหน้าของอนุกรรมการแต่ละชุด ไปพร้อมๆกับการขับเคลื่อนคู่ขนานกลไกต่าง ๆ ทั้งเวทีพรรคการเมืองต่อนโยบายประชาชนหลังการเลือกตั้ง กลไกกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องรวมถึงการติดตามในระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมติครม. ข้อเสนอให้กระทรวงต่างๆรับทราบ นำไปปฏิบัติ

“อย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีเป็นตำรวจ เขาอาจไม่รู้ในรายละเอียด เราต้องเพิ่มเติมข้อมูลให้เขา  และที่สำคัญมองว่า ที่ผ่านมาเรารอการประชุม พอเขาไม่ประชุมก็เดินต่อไม่ได้ ผมคิดว่าเราต้องปรับตัวมากขึ้น ติดตามความคืบหน้าต่อเนื่อง มีเงื่อนระยะเวลาชัดเจน อย่างที่ไม่มีกฎหมายอันนี้ก็ให้เวลา 90 วัน แต่เรื่องอะไรที่มีกม.ประชาชนร่างไว้แล้ว หรือเรื่องเร่งด่วนต่อเนื่องทำได้เลย ต้องมีความคืบหน้าภายใน 30 วัน 60 วัน” 

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์  ที่ปรึกษากลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ จะมีการหารือกันในพีมูฟ อาจต้องมีปฏิทิน เชคลิสเลยว่าอนุกรรมการชุดแรกประชุมเมื่อไหร่ เช่นหลีเป๊ะต้องเสร็จเมื่อไหร่ ดูว่ากระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง รมว.ไหน ให้ความสำคัญมาร่วมแก้ปัญหากับพวกเราบ้าง

จรัสศรี จันทร์อ้าย กรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า ชาวบ้านเองต้องตื่นรู้ ทำกิจกรรมอะไรบางอย่างต่อเนื่องให้เห็นว่าติดตามตลอด เช่นนโยบายที่ดิน ถ้ายังจัดการแบบนี้ เป็นแบบปัจเจกแบบนี้ มันแก้ไม่ได้ ถ้าเปิดให้คนจนเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้ที่ดิน ต้องแก้กฎหมายที่ทางเราเสนอไป แน่นอนประชาชนส่วนหนึ่งที่มาที่นี่ล้วนแล้วแต่มีปัญหา ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มาก็อาจเผชิญปัญหาเหมือนกัน เขาก็ต้องตื่นรู้เหมือนกัน สังคมชุมชนอื่น ๆ ให้เข้าใจ ช่วยวิเคราะห์ให้ถึงปัญหา จริง ๆ มีความหวังอยากกลับบ้าน แต่ถ้าไม่ได้ก็คงไม่กลับ เพราะกลับไปก็ไม่ถูกแก้และคงวนอยู่ที่เดิม 

“ก็หวังอยากให้เขาเข้าใจเผื่อใจให้กับนโยบายคนจน  เอื้อแก้ปัญหาให้ประชาชน ทั้งนโยบาย และรายกรณีเราพยายามบอกว่า ถ้าท่านประชุม ทดลองซักอนุกรรมการ เรามีเรื่องเร่งด่วน มีกระบวนการทำงานในพื้นที่ เช่นหลีเป๊ะ บางกลอย คลองโยงรัฐบาลทำให้เราเห็นเลยได้ไหม อย่างเรื่องคลองโยงต้องมีนโยบายคมนาคมที่หาทางเลี่ยงอื่นตัดถนนไม่โดนคลองโยง ถ้าเคาะให้จบ อันนี้เห็นเลย ทดลองเลยได้ไหม“ 

จรัสศรี จันทร์อ้าย กรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ประธานมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า  ในฐานะผู้เดือดร้อน ในพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยงซึ่งก็ไม่ใช่เป็นปัญหาของคลองโยงอย่างเดียว  เพราะเป็นเรื่องปัญหาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินแปลงรวมแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของพี่น้องที่อยู่ในเมืองที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงด้วย หรือชุมชนในลักษณะอื่นๆแบบในเชิงสถาบันก็เจอปัญหาเดียวกัน นี่จึงเป็นตัวอย่างการเชื่อมโยงระหว่างปัญหากรณีหลายกรณี ที่ยกระดับไปสู่ปัญหาในในระดับนโยบาย

“สิ่งที่ผมยกตัวอย่างไปเมื่อสักครู่หรือแม้กระทั่งประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญเนี่ย มันนำไปสู่กระบวนการทางรัฐสภา  แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีกลไกที่เชื่อมเรากับนโยบาย รัฐบาล กระบวนการรัฐสภา จึงต้องอาศัยการชุมนุมเยอะ ๆ การสร้างพลังคนจนอำนาจ จนโอกาส การเดินทำเนียบแบบชนชั้นนำแบบนักธุรกิจคงไม่ได้ คิดว่าการสร้างพลังต่อรอง สื่อสารให้ผู้คนได้เห็นว่าเรามีปัญหา พลังตรงนี้ยังเป็นหัวใจสำคัญ  ตอนนี้การชุมนุมยังเป็นหัวใจหลักไม่ใช่เรื่องจำนวนอย่างเดียว แต่เป็นการสื่อสารสาธารณะ ก็ขยายมากขึ้น“ 

รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ประธานมูลนิธิชุมชนไท

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต  กล่าวว่า พีมูฟถือเป็นกลุ่มแรกที่มาทักท้วงรัฐบาลหลังการแถลงนโยบาย เป็นการส่งสัญญาณ ว่า ไม่ใช่แค่รัฐบาลแถลงฝ่ายเดียว และมีฝ่ายค้านอภิปรายเท่านั้น  แต่มีประชาชนที่เสนอ ดังนั้นหากมติ ครม.เป็นบวกตามที่เรียกร้อง ขอแนะนำ ให้เดินหน้า 3 เรื่อง ที่ทำได้ทันที  ส่วนแรกคือเรื่องอะไรที่ไม่ได้ติดขัดข้อกฎหมาย ติดขัดกระบวนการทำงาน เช่น ร่างนิรโทษกรรมประชาชน หรือเรื่องที่เห็นด้วยในเชิงนโยบาย ก็ทำได้ทันที อย่างสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า  คือเรื่องผู้สูงอายุอาจต้องรอพระราชบัญญัตติแต่เรื่องเด็กเล็กทำได้เลย รวมทั้งเรื่องการพิสูจน์สถานะเลยหรือไม่ คือถ้ารัฐบาลยอมรับ 6 ข้อ และอนุกรรมการ 10 ด้าน ก็ขอให้เดินหน้าเรื่องที่ทำได้ทันทีมี 3 เรื่องเลย 

ทั้งนี้ยังเห็นด้วยกับกลุ่มพีมูฟ ที่จะนำส่งมติไปทุกหน่วยงาน ทั้งฝ่ายราชการประจำ และการเมือง มารับเรื่องพร้อมกัน คือต้องรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชน รับไปทำด้วย  ที่สำคัญต้องวางว่าตัวแทนที่มารับ ทั้งในส่วนการเมือง และราชการ น้อยที่สุดจะอยู่ในระดับไหน เรื่องที่ 3 คณะกรรมการที่ตั้งขึ้น อันนี้ให้วางแพลตฟอร์มวิธีการติดตามความคืบหน้า  สิ่งที่อยากเห็นปลายทางมีอะไร 

“Policy tracking หรือระบบการติดตามนโยบาย ซึ่งต้องมาออกแบบ 3 ส่วนนี้  ทั้งการติดตามรัฐบาล กรรมการก็ต้องติดตาม ส่วนที่ 2 ที่ทำคู่ขนาน คือการแข่งกับรัฐบาล อย่างเรื่องที่มีคู่แข่งอยู่แล้ว คือรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐทำช้ากว่าคู่แข่ง ก็หมายถึงไม่ทำนั่นเอง หรือจะเป็นการยืมมือฝ่ายค้านเพื่อให้เห็นว่า อะไรที่รัฐไม่ทำ แปลว่าต้องเจอการถามในสภาฯ รวมทั้งเวทีพรรคการเมือง มาพูดหลังเลือกตั้ง พรรคไหนไม่มาไม่ตอบ ก็รู้กันเลย จะได้เป็นการกดดัน เป็นการแข่งขันกันทำ“

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต
ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ด้าน ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยืนยันว่า การมาชุมนุมของชาวบ้านมาชุมนุมถือเป็นสิทธิเต็มที่ และที่ชาวบ้านมาเรียกร้องก็เป็นปัญหาที่ต้องการความเป็นธรรม ที่ผ่านมาพีมูฟแก้ไขรายกรณีมา 200-300 กรณี เป็น 10 ปี จนตอนนี้ยกเป็นนโยบาย ซึ่งกรรมการสิทธิฯเองก็เจอปัญหาเดียวกัน เช่น เรื่องที่ดิน สิทธิสถานะ มีการร้องเรียนมาทุกสัปดาห์ปีที่แล้ว เป็น 1,000 เรื่อง ปีนี้ก็ 2,000 เรื่อง เจอปัญหาเดียวกันกลายเป็นการติดเชิงระบบ เชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ ดังนั้นการยกระดับเป็นการแก้ไขเชิงระบบ เชิงนโยบาย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ 

อีกทั้ง ตอนนี้กรรมการสิทธิฯ ก็สนใจขับเคลื่อนการแก้ไขเป็นนโยบาย เรื่องไหนเสนอแนะเชิงนโยบายได้ กรรมการสิทธิฯก็จะทำทันที และเป็นหน้าที่กรรมการสิทธิที่ต้องติดตามด้วยว่า หน่วยงานต่าง ๆ ได้แก้ปัญหาหรือไม่ เช่นกรณีปัญหาบางกลอย และอีกหลายกรณีที่เดือดร้อนหนักมาก ๆ ก็จะเสนอการคุ้มครองสิทธิ ในฐานะกรรมการสิทธิฯ ก็ยืนยันติดตามส่วนราชการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ทั้งตรวจสอบละเมิดสิทธิ ตรวจสอบการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active