หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จัดงาน “เล่าไว้..ฝากไปให้ประชา” ร่วมรำลึกคุณูปการที่มีต่องานด้านสังคมและพุทธศาสนาเพื่อสังคม
ประชา หุตานุวัตร นักคิด นักเขียน และนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่โดดเด่นในเรื่องพุทธศาสนากับการเปลี่ยนแปลงสังคม เสียชีวิตแล้วในวัย 70 ปี เมื่อช่วงสายของวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังเข้ารับการรักษาจากโรคมะเร็งลำไส้
เบื้องต้นครอบครัวระบุว่าจะมีพิธีรดน้ำศพและสวดพระอภิธรรม ณ วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กทม. ในวันที่ 14 พ.ค. และมีพิธีฌาปนกิจ ในวันที่ 20 พ.ค. ณ วัดปลักไม้ลาย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
ประชา หุตานุวัตร ถือเป็นนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางสังคมคนสำคัญ ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน ภายใต้กลุ่มยุวชนสยาม แม้จะเคยมีแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ แต่ภายหลังได้เข้าร่วมกลุ่มอหิงสา ที่เคลื่อนไหวทางสังคมด้วยแนวทางสันติวิธีและพุทธศาสนา
ส่วนบทบาทนักเขียน ในระหว่างที่เขาบวชเป็นพระภิกษุ ‘พระประชา ปสนฺนธมฺโม’ คือลูกศิษย์ใกล้ชิดพระธรรมโกศาจารย์ หรือพุทธทาสภิกขุ และเป็นผู้สัมภาษณ์และเขียนอัตชีวประวัติของท่านพุทธทาส เผยแพร่เป็นหนังสือเรื่อง เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา
ประชา ยังโดดเด่นเรื่องการนำพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในสังคม โดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาเขามีบทบาทเป็นอาจารย์ที่ถ่ายทอดการเรียนรู้วิธีการพัฒนาด้านในควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงโลกภายนอก
“ผมเป็นนักเรียน นักเขียน นักแปล และเป็นกระบวนกร หน้าที่หลักคือการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคมให้ก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์ยุติธรรมและยั่งยืน ผมทำงานนี้มาตลอดชีวิตตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย และตั้งใจที่จะตายคางานนี้”
ประชา หุตานุวัตร 27 พ.ย. 2562
หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จัดงานเสวนา “เล่าไว้…ฝากไปให้ประชา”
ก่อนหน้านี้ (12 พ.ค. 2566) ที่ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ) มีการจัดเสวนา เล่าไว้…ฝากไปให้ประชา ซึ่งมีบุคคลที่ทำงานด้านสังคมและศาสนาเข้าร่วม อาทิ ศ.นพ.ประเวศ วะสี, พระไพศาล วิสาโล, สันติสุข โสภณสิริ, อรศรี งามวิทยาพงศ์ และ บัญชา พงษ์พานิช ซึ่งเนื้อหาในการพูดคุยได้เล่าถึงบทบาทการทำงานของประชา หุตานุวัตร ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนจนถึงปัจจุบัน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวว่า ประชา มีคุณูปการ ต่อแนวคิดเรื่องสังคมเข้มแข็ง ที่เป็นปัจจัยนำไปสู่สังคมยุติธรรม หากช่วยกันขับเคลื่อนต่อ ก็เป็นโอกาสที่จะสร้างแผ่นดินสันติสุข และสังคมที่เป็นธรรมได้
ด้าน พระไพศาล วิสาโล ระบุว่า ประชา มีบทบาทสำคัญต่อแนวคิดทางด้านพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม คือพุทธศาสนาที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตและขับเคลื่อนสังคม โดยมีงานเขียนและงานแปลที่เกี่ยวข้องหลายชิ้น นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม (INEB) ที่ผลักดันให้เกิดพุทธศาสนาแนวใหม่ ที่เป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยอาศัยการฝึกฝนภายในให้มีกิเลศ มีอัตตาน้อยลง และมีเมตตา กรุณามากขึ้น