สกน. บุกเวทีเอเปคป่าไม้ฯ หลังยื่น 7 ข้อเรียกร้อง ไม่ถูกตอบสนอง

ตั้งเวทีคู่ขนาน อ่านแถลงการณ์ ถึงผู้นำรัฐมนตรีเอเปค ในเวทีป่าไม้-ที่ดิน เรียกร้องฟังเสียงสะท้อนประชาชน ไม่ร่วมมือรัฐบาลไทย ละเมิดสิทธิประชาชน ชุมชนในเขตป่า 

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และภาคีเครือข่าย รวมตัวกันที่บริเวณลานอเนกประสงค์ ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เคลื่อนขบวนไปโรงแรม เลอ เมอริเดียน ที่ประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ที่มีการประชุมระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 

ระหว่างเคลื่อนขบวน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ปิดถนนและตั้งแนวแผงเหล็กเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่บริเวณหน้าโรงแรม โดยผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นรั้วเหล็กที่เจ้าหน้าที่เอามากั้นไว้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอม จึงเกิดกันปะทะกันเล็กน้อย 

จากนั้นเวลาประมาณ 10.58 น. ผู้ชุมนุมรื้อรั้วที่เจ้าหน้าที่นำมากั้นออกไปไว้ด้านข้าง เพื่อให้ขบวนสามารถเคลื่อนต่อได้ และเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง ​

กระทั่งเวลา 11.22 น. จงคล้าย วรพงศธร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงมาเจรจาบริเวณสะพาน แต่ทางผู้ชุมนุมยืนยันให้ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ APEC ลงมาเจรจาด้วยตัวเอง บริเวณ 4 แยกหน้าโรงแรม เลอ เมอริเดียนเท่านั้น โดยมีการจัดเวทีคู่ขนานบริเวณสะพานแม่ข่า ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบขึ้นปราศรัยเพื่อส่งเสียงเรียกร้องไปให้ผู้นำนานาชาติและมีการแปลภาษาอังกฤษตลอดทั้งการปราศรัย

​11.51 น. หลังจากการปราศรัยของประชาชนเสร็จ ผู้ชุมนุมทราบข่าวว่า นายวราวุธ จะเดินทางออกจากโรงแรมในเวลา 12.00 น. จึงมีความพยายามจะเคลื่อนขบวนไปบริเวณ 4 แยกหน้าโรงแรมอีกครั้ง แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอม จึงเกิดการปะทะกันขึ้นอีกครั้ง  กระทั่งแกนนำบอกให้ชาวบ้านหยุด หลังเจ้าหน้าที่ประสานต้องการออกมาคุยกันแบบสันติ 

เวลา 11.57 น. สถานการณ์คลี่คลายลง กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้ทำพิธีกรรม โดยนำภาพของนายวราวุธ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาใช้ในการทำพิธีกรรมในวาระครบ 8 ปี การดำรงตำแหน่งและการบริหารงานที่พวกเขาเห็นว่าสร้างความเสียหายให้กับประชาชนหลายนโยบาย รวมถึงนโยบายทวงคืนผืนป่า พร้อมกล่าวเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า สิ่งไหนที่ทำไม่ดีไว้ ก็จะตอบสนอง พวกเราไม่ได้สาปแช่ง แต่เราขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงช่วยดลบันดาลให้ปัญหาของพวกเราเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก

อ่านแถลงการณ์ 2 ภาษา ถึงผู้นำชาติเอเปค

จากนั้น เวลาประมาณ 12.06 น.  สกน. ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ถึงผู้นำระดับรัฐมนตรีเอเปคเรื่อง ผู้นำเอเปคจะฟังเสียงประชาชน หรือจะร่วมมือรัฐไทยละเมิดสิทธิผู้คนในเขตป่า ทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษ

เพื่อยืนยันในจุดยืน ว่า สกน. ในนามเครือข่ายเกษตรกรและกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านที่ดิน-ป่าไม้ ของรัฐบาลไทย นำโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา​ ขณะที่กำลังประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ พูดคุยกันถึงนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รู้หรือไม่ว่าตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ ประชาชนต้องถูกกดขี่มานับครั้งไม่ถ้วน รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่า กล่าวหาว่าประชาชนเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติ ทั้งที่พวกเราอยู่อาศัยและทำกินมาแต่บรรพบุรุษ แต่ถูกรัฐไทยประกาศเขตป่าทับซ้อนโดยไม่สนใจวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของประชาชนผู้เดือดร้อนโดยในระยะเวลาเพียง 8 ปี มีประชาชนต้องถูกดำเนินคดีมากกว่า 34,692 คดี ต้องเสียที่ดินเหมือนตายทั้งเป็น ​

ขณะที่ท่านกำลังรับฟังรัฐบาลไทยแถลงนโยบาย รู้หรือไม่ว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ต้องถูกฆาตกรรม อุ้มหายอยู่ในอุทยานแห่งชาติที่กลายเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติไปแล้ว เพียงเพราะเขาออกมาเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของบรรพชน รู้หรือไม่ว่ามีผู้ถูกตัดสินให้ต้องจำคุกและรื้อถอนบ้านออกจากแผ่นดินถิ่นเกิด พร้อมเรียกค่าเสียหายหลักแสนบาท กล่าวหาว่าทำให้โลกร้อนขึ้น รู้หรือไม่ว่าโครงการปลูกป่าและแผนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์มากมายกำลังจะเกิดขึ้น โดยการอ้างความชอบธรรมเรื่องแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในขณะที่โครงการพัฒนาของรัฐและเอกชนที่เผาผลาญพลังงานฟอสซิล และทำลายพื้นที่ป่ายังคงผุดขึ้นมาทั่วประเทศอย่างไม่เป็นธรรม​ 

“รัฐไทยกำลังใช้กฎหมายด้านทรัพยากร ที่เสนอโดยหน่วยงานราชการผ่านสภาของคณะรัฐประหารที่มาจากการยึดอำนาจ โดยปิดกั้นเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่เคยนำหลักสิทธิมนุษยชนและปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองมาปฏิบัติ ซ้ำร้ายรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ยังเคยเอ่ยว่า ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง​ พวกเราถูกทำให้เป็น “แพะรับบาป” สังเวยนโยบายด้านที่ดิน-ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นี่คือเสียงจากพวกเราผู้ถูกกดขี่“ 

แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ ยังระบุข้อเรียกร้องถึงผู้นำนานาชาติ ว่าพวกเขาต้องการอำนาจในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ขอให้ผู้นำนานาชาติกดดันให้รัฐบาลไทยรับรองสิทธิของประชาชน ปฏิรูปการจัดการป่าไม้โดยกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น รับรองสิทธิทางกฎหมายของชุมชนในการดูแลพื้นที่ป่า และยุติโครงการพัฒนาทั้งหลายที่ทำลายผืนป่าโดยทันที ซึ่งจะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ควบคู่กับการคืนสิทธิมนุษยชน

“ท่านผู้นำทั้งหลาย เราขอประกาศให้ท่านทราบว่า พวกเรามีเลือดเนื้อ มีชีวิต มีจิตใจ เราคือประชาชนที่มีความเป็นคนไม่ต่างไปจากท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย เรามาเพื่อถามหาจิตสำนึก ถามหามโนธรรม มาเพื่อบอกว่ารัฐบาลไทยไม่เคยเป็นฮีโร่ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีแต่ประชาชนทั้งนั้นที่ช่วยกันดูแลทรัพยากร และหากท่านไม่รับฟังเสียงของพวกเรา ยังคงเชื่อคำลวงและเดินรอยตามนโยบายขายฝันของรัฐบาลไทย จงรู้ไว้เถิดว่าท่านทั้งหลาย คือผู้มีส่วนรู้เห็นในการเข่นฆ่าและละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเรา”​

แถลงการณ์ระบุ

สำหรับการเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลัง สกน. ได้ยื่นข้อเรียกร้อง ถึง รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมด 7 ข้อ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active