เปิดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยบนพื้นที่ทับซ้อนชายแดนใต้

Kenduri Seni Nusantara เทศกาลศิลปะบนพื้นที่ทับซ้อนชายแดนใต้ เริ่ม 13 ส.ค.-30 พ.ย.นี้ หวังใช้ศิลปะเชื่อมโยงความเป็นพี่น้องทางวัฒนธรรม พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ

14 ส.ค 2565 วันที่สองของเทศกาลศิลปะ Kenduri Seni Nusantara 2022 เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด: Overlapping land ดินแดนแห่งการซ้อนทับ ซึ่งเป็นเทศกาลแสดงผลงานศิลปะที่ชวนผู้ชมเข้าไปสํารวจพื้นที่ของการซ้อนทับ ตั้งแต่การทับซ้อนของที่ดินหลังบ้าน การทับซ้อนกันของขอบเขตระหว่างดินแดน ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงความทับซ้อนของเชิงชั้นทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ เพศสภาพ ศาสนา ชาติพันธุ์ ภายใต้การปกคลุมของรัฐชาติ ผ่านผลงานศิลปะหลากหลายประเภทที่จะถูกติดตั้งบนทุ่ง นา ป่า เมือง และพื้นที่ศิลปะในจังหวัดปัตตานี โดยการสะท้อนและการตั้งคําถามของศิลปินกว่า 50 คน เพื่อค้นหาจุดร่วม ที่ จะทําให้เขตแดนที่ปิดกั้นซึ่งกันและกันนี้ พังทลายลง เหลือเพียงความเป็นพี่น้องทางวัฒนธรรม และการเห็นผู้อื่นเป็นเพื่อนมนุษย์บนโลกสมมตินี้เช่นกัน

ผลงานของ : Muhammadsuriyee Masu

อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ภัณฑารักษ์ และเป็นหนึ่งในศิลปินที่จัดแสดงงานในครั้งนี้ ระบุถึง เป้าหมายงานนี้ว่า “นูซันตารา (Nusantara)” เป็นคําที่ไม่ค่อยถูกใช้หรือได้ยินมากนัก เป็นคําภาษาชวาโบราณ ที่ใช้เรียกดินแดนที่เคยรุ่งเรืองในยุคสมัยมัชปาหิต (ค.ศ. 1293 – 1520) อาณาจักรสําคัญแห่งคาบสมุทรมลายู ที่ซึ่งการแปรเปลี่ยนของรัฐชาติและ ศาสนา เข้ามาซ้อนทับในบริบทของความสัมพันธ์ใหม่ ทั้งการเป็นชาติในอาณานิคม การถูกหลอมรวมกันกับชาติอื่น และการก่อตัวเป็นชาติใหม่ เหล่านี้ผันตามความเป็นไปของโลก ที่มนุษย์ไม่เคยหยุดสร้างความเป็นเจ้าของในพื้นที่เหล่านั้น

“หากจะรื้อฟื้นดินแดนเก่าเก็บอย่าง นูซันตารา ขึ้นมาใหม่ อาจพบว่าเส้นแบ่งเขตแดนของพื้นที่ที่ว่านั้น ได้ถูกกลบลบหายไปกับการเขียนแผนที่ฉบับใหม่แล้ว แต่สิ่งที่ยังคงเหลือให้เราได้เห็น คือความเป็นอาณาบริเวณทางวัฒนธรรมเดียวกัน ที่มีภาษาที่เป็น
สะพานข้ามทะเลเชื่อมถึงกัน มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ ความเชื่อ คตินิยม ในถิ่นฐานบ้านเกิดเดียวกัน รวมไปถึงรอยร้าว
จากปัญหาของการซ้อนทับอันไม่จบสิ้น”

อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ภัณฑารักษ์

โดยธงหลักแรกของกิจกรรมนี้ คือการแสดงศิลปะร่วมสมัยที่พยายามนำเสนอการยกระดับของคนทำงานศิลปะ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ศิลปะร่วมสมัยเชื่อมโยงกับความเป็นศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น

ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้ก่อตั้ง Patani Artspace ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมจัดงาน กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะสะท้อนจากกิจกรรมครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย หรือต่างประเทศ กว่า 19 ปีที่ผ่านมา ความเป็นสังคมของที่นี่ ยังคงดำเนินไป ไม่ใช่แค่ความรุนแรงเท่านั้นที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะสร้างความเป็นสังคม 

ความหมาย คือ พื้นที่ชายแดนใต้มีประเด็นเรื่องของความหวาดระแวงหรือความกลัวต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เพียงคนในพื้นที่เท่านั้น ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ สร้างให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างกัน คนในศาสนาเดียวกัน หรือแม้กระทั่งคนต่างศาสนา รวมถึงคนนอกพื้นที่ที่มีความหวาดระแวงคนในพื้นที่ ทำให้ไม่กล้าที่จะเดินทางไปในพื้นที่ และไม่สามารถมองสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่แบบปกติเหมือนที่มองที่อื่น ๆ ที่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง

“แน่นอนเราไม่ปฏิเสธว่าเหตุการณ์ ก็ยังคงดำเนินไปของมันแต่อีกนัยยะหนึ่งผมอยากจะให้สังคมเห็นว่า มันเป็นปกติของมนุษย์ที่ต้องการความรื่นเริง ที่ต้องการความบันเทิงต้องการความสุขในการใช้ชีวิต ก็ยังคงดำเนินเช่นเดียวกันไม่ใช่เพียงความขัดแย้งหรือความรุนแรงเท่านั้น”

ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

ซึ่งนอกจากการทำงานของศิลปินแล้ว ยังมีการดึงชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ผศ.เจะอับดุลเลาะ กล่าวว่า ศิลปินเป็นตัวแทนในการส่งข้อความ ส่งสาร ในสภาวะการณ์ที่มันเกิดขึ้นที่นี่ สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ชุมชนไม่สามารถที่จะแสดงออกได้อย่างเสรีภาพ อาจจะด้วยความกลัว แม้กระทั่งบางทีเพียงการ พูด ก็อาจจะยังทำไม่ได้ แม้เป็นความจริงที่เกิดขึ้น การทำหน้าที่ของศิลปิน จึงมีความสำคัญ ด้วยการเอาคำพูด ความรู้สึกนั้นมาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะ สะท้อนย้อนความคิดให้คนได้รับรู้ และตีความ

ผลงานของ : ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี

“ศิลปะที่คนมักจะเรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์ สำคัญมากกับการที่เราแสดงออกมา อย่างงานของผมเอง ชาวบ้านดูผมแทบไม่ต้องอธิบาย เพราะเขาดูแล้วรู้เลยว่าผมต้องการจะสื่ออะไร ซึ่งมันตรงกับที่เขาอยากจะสื่อสาร ภาพรถถังที่อยู่ในบ้านไม่มีแม้กระทั่ง พื้นที่ให้กับเจ้าของบ้านอยู่นี่มัน รู้สึกอึดอัดมากเลยซึ่งนี่คือสภาวะการณ์ 19 ปีที่ผ่านมา ที่พวกเขารู้สึกหรือหลายหลายชิ้นงาน อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงแต่มันเกี่ยวกับ เรื่องของรากทางวัฒนธรรม ที่สามารถแสดงออกมาแล้วทำให้ เขาภาคภูมิใจในวัฒนธรรมได้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราพยายามจะส่งให้กับคนในพื้นที่” 

ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี

ผศ.เจะอับดุลเลาะ กล่าวต่อว่า หากดู ค่าGDP หรือ Gross Domestic Product (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ เป็นมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของประเทศนั้น ๆ) จะเห็นว่า เรื่องของเศรษฐกิจพื้นที่ปัตตานี หรือรวมถึงชายแดนใต้ภาพรวม ประชาชนจะมีฐานะยากจนติดอันดับต้นของประเทศ ด้วยระบบความเหลื่อมล้ำทางด้านระบบการจัดการของโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่สามารถ เอื้อในทางเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ได้ และวาทกรรมสนับสนุนได้แต่อย่าให้โต เป็นบาดแผลที่อาจทำร้ายคนในพื้นที่มาก ๆ ครอบคลุมไปทั้งด้านเศรษฐกิจและจิตวิญญาณของคนที่นี่

“ผมคิดว่างานศิลปะสามารถเป็นตัวแทนในการสื่อสาร อาจจะไม่ใช่ตัวแทนในการสร้างความมั่งคั่งให้กับพวกเขา แต่นี่อาจจะเป็นการสร้างความรู้สึกแทนเขาได้ หรืออาจจะเรียกว่านี่เป็นความมั่งคั่งของความรู้สึกแต่ไม่ใช่เศรษฐกิจที่เป็นตัวเลข ตัวเงินซึ่งผมมองว่ามันสำคัญพอ ๆ กัน  ผมคิดว่าทุกพื้นที่ทุกชุมชน ลำดับแรกคือเขาต้องการความมั่งคั่งทางความสุขก่อน แต่ที่นี้ผมมองว่าความสุขนั้นจะนำไปสู่ความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจ  ต่อให้เขามีเงินแต่ไม่มีความสุข เขาก็อาจใช้ชีวิตอย่างไม่ราบรื่น  ยิ่งในพื้นที่ตรงนี้ยิ่งเป็นสองเท่าเลย มันทำให้เห็นภาพความมั่งคั่งทางด้านความรู้สึกและความมั่งคั่งด้านเศรษฐกิจ”

ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี

ผศ.เจะอับดุลเลาะ เสนอว่า หากจะสนับสนุนด้านวัฒนธรรมหรือแม้กระทั่งทางด้านเศรษฐกิจก็ต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ เนื่องจากชายแดนใต้มีทรัพยากรมากมายทั้งคน ทั้งเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ แต่ไม่สามารถที่จะแปรรูปให้เกิดเศรษฐกิจ และสร้างความมั่งคั่งได้

ทั้งนี้มองว่า ในพื้นที่อาจจะโดนคูณสอง ทั้งเศรษฐกิจที่ไม่ดีเหตุการณ์บ้านเมืองไม่ดี ฉะนั้นการจัดเทศกาลแบบนี้ในพื้นที่ นอกจากจะสร้างความมั่งคั่งทางความรู้สึกให้กับคนในพื้นที่แล้ว ยังรวมไปถึงการสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจจากการให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนรวม เอาคนที่มีความสามารถหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในท้องถิ่น อย่างเช่นอาหารท้องที่ มาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม มีการเปิดพื้นที่ขายของโดยไม่เก็บค่าเช่าหรือหักค่าหัว สินค้าที่ขายได้ชาวบ้านจะได้เงินไปแบบ 100%

“เราไม่ได้เก็บค่าเช่าจากเขา เราเปิดโอกาสให้เขาได้มีพื้นที่ ในการขายของหรือแสดง สินค้าของเขา เมื่อวานนั่งคุยกับชุมชน เขาเล่าให้ฟังว่าวันนี้ขายได้หกชิ้น เขาดีใจมากเพราะเงินที่ได้จากการขายสินค้านั้นมันสามารถทำให้เขาอยู่ได้หลายสัปดาห์ เรารู้สึกยินดีมากคนขายเขาต้องการพื้นที่ที่ไม่ได้กดทับเขา เขาสามารถขายไปเท่าไหร่ก็ได้กลับคืนมาเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่าเค้าต้องเสียภาษี หรือต้องจ่ายค่าส่วนต่างอย่างเช่นค่าเช่าที่ ผมคิดว่าถ้ารัฐเปิดพื้นที่ให้กับพวกเขา แบบ100 % แบบนี้ จะไม่มีความยากจนเกิดขึ้นในพื้นที่แน่นอน” 

ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี

อย่างไรก็ตาม ผศ.เจะอับดุลเลาะ ทิ้งท้ายว่า กำลังของประชาชนอาจทำได้เพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ 2-3 วัน ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่หากรัฐคิดประเด็นเหล่านี้โดยไม่ได้เอื้อให้กับนายทุน และสามารถเปิดพื้นที่ให้กับชาวบ้านได้ อาจส่งผลไปถึงการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น  และเป็นสิ่งที่ทีมจัดงานพยายามเชื่อมโยงกับชุมชน

ซึ่งกิจกรรม Kenduri Seni Nusantara 2022 ถูกจัดตั้งไว้ที่ Patani Artspace และบริเวณใกล้เคียงในจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ 13 ส.ค. – 30 พ.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ