เครือข่ายสภาองค์กรผู้บริโภค ฟังเสียงประชาชนผ่าน แคมเพน “ขนส่ง ขนสุข สาธารณะ”ส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาราคาแพง รถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะและควรเปิดสัญญารถไฟฟ้า เตรียมส่งรายละเอียดให้ผู้ว่าฯ กทม. ศุกร์นี้
ระยะเวลากว่า 1 เดือน ที่สภาองค์กรผู้บริโภคร่วมกับ เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหภาพคนทำงาน กลุ่มดินสอสี และเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จัดแคมเพน “ขนส่ง ขนสุข สาธารณะ” เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางตั้งแต่สถานีคูคต จนถึง สถานีเคหะ ตลอดจนการรับฟังเสียงสะท้อนจากคนในชุมชนทั่วไป เพื่อรวบรวมความคิดเห็นแล้วยื่นต่อ กทม.
วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ กลุ่มดินสอสี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า วันศุกร์ ที่ 5 ส.ค. นี้ ภาคีที่ทำงานจะเข้าพบ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อนำผลโพลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมกับนำคำบอกเล่าที่ได้รับฟังมาจากเสียงคนธรรมดาสามัญ ที่ต้องใช้ชีวิตกับการเดินทางและขนส่งสาธารณะ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
ทั้งนี้ กลุ่มดินสอสี ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น ผ่านปฏิบัติการทำโพลสำรวจความคิดเห็น ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในระยะเวลา 7 วัน กับ 21 สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีประชาชนหลากหลายเพศวัย สถานะ อาชีพ ภูมิลำเนา ถิ่นอาศัย เข้ามามีส่วน่วม จำนวนกว่า 3,204 คน 9,574 ความคิดเห็น
สำหรับ การตั้งโจทย์คำถาม 3 ข้อที่ได้จากการระดมความคิดเห็น คือ รถไฟฟ้าราคาแพงไหม? รถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะ? และควรเปิดสัญญารถไฟฟ้าหรือไม่?
โดยกว่า 96% เห็นด้วยว่า รถไฟฟ้าราคาแพง (รถไฟฟ้าประเทศไทย ค่าใช้จ่ายปัจจุบัน คิดเป็น 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่ต่างประเทศ ค่าใช้จ่าย คิดเป็น 3% ของค่าแรงขั้นต่ำ) 97% เห็นด้วยว่า รถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะ (ระบบขนส่งสาธารณะสำหรับทุกคน รัฐควรสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม) และ 99% เห็นด้วยว่า ควรเปิดสัญญารถไฟฟ้า (สัญญาว่าจ้างบีทีเอสซี เดินรถและซ่อมบำรุง ระยะเวลา30 ปี คู่สัญญาคือ บริษัทกรุงเทพธนาคม กับ บีทีเอสซี)
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเก็บข้อมูล และรวมรวมความคิดเห็น ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 3 วิธีการหลัก ๆ คือ กลุ่มแรก คนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไป สำรวจด้วยกันทำโพลตามสถานีรถไฟฟ้ากว่า 21 สถานี กลุ่มที่สอง กลุ่มคนวันทำงาน ที่ใช้ บริการรถโดยสารสาธารณะในการเดินทางไปทำงาน สำรวจผ่านการจัดกิจกรรมปิกนิกในสวนเพื่อระดมความคิด และกลุ่มที่สาม กลุ่มคนชายขอบ หรือกลุ่มคนจนเมือง สำรวจด้วยการนำลิเกเข้าไปเร่ในชุมชนนอกจากสร้างความบันเทิง ยังชวนชาวชุมชนพูดคุยปัญหาระหว่างการแสดง เพื่อนำเสียงและความคิดเห็นเหล่านั้นมารวมกัน
ทั้งนี้ วรพจน์ ยังระบุว่า หากพูดคุยกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ แล้วมีความคืบหน้าอย่างไร จะมีการแถลงการณ์หลังจากออกจากห้องประชุม