‘ความยั่งยืน’ โอกาสสร้างตัวตนเยาวชนรุ่นใหม่

สภาพัฒน์ จัดงาน ‘ก้าวพอดี’ เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่สะท้อนโอกาสการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน หัวใจสำคัญคือการเปิดโอกาส สร้างความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

วันนี้ (23 ก.ย. 65) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จัดงาน ก้าวพอดี 2565 A Bright Leap Forward พลิกโฉมประเทศ ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน และเสวนาในหัวข้อ “Youth In Charge, SDGs in Action” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

พชร เชิดชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Gen-A-Tech เล่าว่า ตนเองได้ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และพบว่าปัญหาเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ได้รับผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษส่งผลต่อการเติบโตของพืชพรรณ เป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อเยาวชนในอนาคต และบทบาทการเป็นครัวของโลก เรื่องมลภาวะ เป็นโอกาสที่จะทำให้เยาวชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาจัดการแก้ปัญหา มลภาวะที่เป็นพิษจึงเป็นทังข้อดีและข้อเสีย

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีนโยบายหรือการผลักดันให้เยาวชนได้มีโอกาสในการทำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้ในสังคม พร้อม ๆ กับความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ก็น่าจะช่วยทำให้นวัตกรรมของไทยเติบโต

แพรวา ไชยวุฒิ ประธานบริหาร Phenocov การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนหลายภาคส่วน ซึ่งต้องฟังเสียงของทุกคนว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร เป้าหมายที่จะไปถึงเป็นความเห็นชอบของส่วนรวมหรือไม่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างไร

นอกจากนี้ อยากให้สนับสนุนเรื่องข้อกำหนดการมีส่วนร่วมของเยาวชนในองค์กรต่าง ๆ เหมือนที่ประเทศฟินแลนด์ ทุกหน่วยงานกำหนดให้มีโควต้าที่จะให้เด็กเยาวชนได้มีส่วนร่วมในองค์กร ได้เรียนรู้งาน ฝึกงาน ทำให้มีทักษะในการทำงานจริงเหมือนกับผู้ใหญ่ บางคนมีตำแหน่งใหญ่ในองค์กรได้แม้จะอายุยังน้อย

ศรวดี ท่าเกษม ประธานบริหาร biozone สะท้อนว่า ที่ผ่านมายังมีเยาวชน อีกมากที่ต้องการนำเสนอ สื่อสารความคิดของตัวเองต่อการพัฒนาประเทศและการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ยังขาดพื้นที่ หากทำได้จะช่วยทำให้เยาวชนมีโอกาสมากขึ้น

ศ.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านมนุษยศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องการความร่วมมือ ทั้งการมีส่วนร่วมและการส่งต่อพลังกายพลังใจในการแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ ให้แก่กัน เรื่องที่สองคือ การส่งต่อองค์ความรู้ระหว่างรุ่นให้คนในรุ่นต่อไป กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำเองไม่ได้ เพราะความยั่งยืนเป็นคำใหญ่ partnership คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยตอบโจทย์ในอนาคต

”ผมว่าเอกชนตื่นตัวเรื่องนี้เยอะ เพราะต้องทำรายงานเรื่องความยั่งยืน รวมถึงการลงทุนในเรื่องนี้ด้วย คิดว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนได้เยอะ เพราะบางทีเขาก็คิดไม่ออก ปลูกป่า ทำอะไรแบบเดิม ๆ แต่ถ้าบทบาทน้อง ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยจะเปลี่ยนจาก CSR เป็น CSV มากขึ้น ก็ต้องหาช่องทางให้เข้าไปมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ในส่วนของภาคประชาสังคมที่ผ่านมามาช่องว่างเยอะ ดังนั้นบทบาทของคนรุ่นใหม่จะเป็นส่วนสะท้อนคุณค่าของสังคมชุมชนด้วย เพื่อช่วยเชื่อมภาคเอกชนกับท้องถิ่นเข้าด้วยกัน”

ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญที่ควรปลดล็อกเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ mindset สร้างความเข้าใจร่วมกันว่าความยั่งยืนคืออะไร อาจไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม แต่คือความมั่งคั่ง การมีส่วนร่วม ต้องสร้างหลักคิดที่ถูกต้องให้กับสังคม อีกเรื่องคือปัญหาอุปสรรคที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาที่ตอบโจทย์อนาคต ซึ่งตอนนี้ภาครัฐก็พยายามจะแก้ไขอยู่ สุดท้ายคือการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ คนเปราะบางทางสังคม ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา

“เทรนด์เรื่องความยั่งยืนตอนนี้ค่อนข้างให้ความสำคัญกับในวงกว้าง บทบาทของภาคประชาสังคมก็มีส่วนร่วมค่อนข้างเยอะ ภาคประชาสังคมและท้อนถิ่นมามีส่วนร่วม ทั้งจังหวัด อปท. พยายามทำให้ความยั่งยืนเป็นหลักคิดหนึ่งของการพัฒนา พยายามที่จะปรับให้เกิดความเข้าใจ ทั้งในกลุ่มเยาวชน ผู้ใหญ่และท้องถิ่นต่างๆ และเราพยายามทำให้เกิด Youth Policy เสนอต่อหน่วยงานต่าง ๆ ถ้าเป็นไปได้ก็ลองทำดู และสุดท้ายมันเป็นโอกาสที่จะเป็นนโยบายของประเทศที่เสนอโดยเยาวชน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active