วอน กอ.รมน. เปลี่ยนเลนส์ มองผู้เห็นต่างแสดงความคิดเห็นสาธารณะ ไม่ควรผิดคดีความมั่นคง ขณะที่ “จาตุรนต์” ย้ำ ดำเนินคดีนักกิจกรรม ไม่เป็นผลดี ทำลายบรรยากาศสันติภาพที่กำลังไปได้สวย
วันนี้ (17 ม.ค. 67) คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เชิญตัวแทนผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของนักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิม จากกรณีการจัดกิจกรรม MELAYU RAYA 2022 ณ หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นกิจกรรมรวมกลุ่มกันของคนรุ่นใหม่ชาวมุสลิมจำนวนมาก พร้อมทั้งแต่งกายด้วยชุดมลายู เพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น โดยภายหลังหน่วยงานความมั่นคงแจ้งความดำเนินคดีกับนักกิจกรรม 9 คน ที่เป็นคณะผู้จัดงานดังกล่าว เกี่ยวกับคดีความมั่นคงอย่างน้อย 2 ข้อหา คือ ข้อหายุยง ปลุกปั่น และข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งทั้ง 9 คน ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน สภ.สายบุรี แล้วเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา
มะยุ เจ๊ะนะ ผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ในฐานะของกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาควมขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) ซึ่งถือเป็น 1 ใน 9 คน ที่ถูกออกหมายเรียก และถูกดำเนินคดีดังกล่าว ยืนยันว่า เจตนารมณ์การจัดงาน เพื่อส่งเสริม และอนุรักษ์ ฟื้นฟูการแต่งกายตามวิถีวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ท้องถิ่น พร้อมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ได้มีพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และรณรงค์สร้างบรรยากาศหนุนเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ พร้อมระบุว่าที่ผ่านมาได้ประสานทำความเข้าใจกับหน่วยงานความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมตามที่หน่วยงานความมั่นคงเกิดข้อกังวล เพราะเหตุใดจึงยังถูกดำเนินคดี
ขณะที่ มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา หนึ่งในผู้ที่ถูกดำเนินคดี เปิดเผยต่อกรรมาธิการฯ ว่า ฝ่ายความมั่นคงกังวลเรื่องธง BRN ที่พบถูกนำมาโบกภายในงาน แต่ยืนยันทางผู้จัดได้ขอความร่วมมือให้นำธงลง และในปีต่อมาที่จัดก็เข้มงวดไม่ให้มีนำธงลักษณะนี้เข้ามาในพื้นที่จัดกิจกรรมอีก นอกจากนั้นยังมีท่าทางตะเบ๊ะ เหมือนทหารซึ่งฝ่ายความมั่นคงก็ไม่อยากให้ทำ ซึ่งก็ได้ปฏิบัติตาม เพื่อย้ำเจตนาว่าไม่มีอะไรแอบแฝง
ส่วนเรื่องการปราศรัย ที่อาจเข้าข่ายปลุกระดม ก็ย้ำว่า ไม่มีคำไหนที่ทำให้มีปัญหา แต่อาจมีบางคำที่ติดใจหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งทางผู้จัดกิจกรรม ได้แปลส่งให้ทั้งหมดแล้ว
วอน กอ.รมน. เปลี่ยนมุมมอง แสดงความเห็นต่าง ไม่ใช่คดีความมั่นคง
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ (ทนายแจม) สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการกฎหมายฯ บอกว่า ที่ผ่านมาไม่เพียงแค่พื้นที่ชายแดนใต้เท่านั้นที่เกิดปัญหากรณีเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งความประชาชน นักกิจกรรม ตามมาตรา 116 และ ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งรัฐบาลที่แล้ว แจ้งความ เอาผิดประชาชนประเด็นนี้เยอะมาก และในฐานะของทนายความที่ช่วยทำคดีเหล่านี้ กลับพบว่า 3 ใน 4 ของผู้ที่ถูกดำเนินคดีถูกสั่งยกฟ้อง และสั่งไม่ฟ้อง จึงชัดเจนว่าการฟ้องร้องคดีเหล่านี้ เพียงเพื่อให้หยุดการกระทำเท่านั้น ดังนั้นมองว่า ฝ่ายความมั่นคง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ต้องเปลี่ยนเลนส์การมองผู้เห็นต่างทางการเมืองใหม่ ว่าเป็นแค่การแสดงความคิดเห็นสู่สาธารณะ ไม่ควรเป็นความผิดความมั่นคง
กัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม ยอมรับว่า ด้านหนึ่งก็เห็นใจฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพราะต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามก็อาจจะเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทีอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ แต่อีกด้านก็เห็นใจนักกิจกรรมที่แสดงออกตามสิทธิพลเมืองเหมือนกัน ซึ่งปัญหาหลัก ๆ คือ การปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน กรรมาธิการฯ จึงจำเป็นต้องมีข้อเสนอเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
“กรณีที่นักกิจกรรมถูกดำเนินคดี ถือเป็นการตบหน้าอย่างแรงในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ที่เราพยายามช่วยกันสร้างแนวทางไปสู่สันติภาพ แต่เรากลับไปใช้กฎหมายดำเนินคดีกับคนที่มาแสดงออก”
กัณวีร์ สืบแสง
กอ.รมน. แจงพบข้อบ่งชี้กิจกรรมกระทำผิดกฎหมาย
เมื่อถูกถามถึงการตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีของ กอ.รมน. ได้คำนึงถึงความกังวลต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้หรือไม่ พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผอ.สำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน (ผอ.สกส.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ชี้แจงพร้อมยืนยันว่า ไม่เคยห้ามการชุมนุมชุดมลายู การแต่งกายมลายู ไม่ใช่ประเด็น แต่ในกิจกรรมที่เกิดขึ้น พบข้อบ่งชี้บางประการ ที่ส่อไปในการกระทำผิดกฎหมาย งานเหล่านี้เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน. ที่ต้องเฝ้าติดตาม ต้องรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมาย ทำตามระบบทุกอย่าง
ขณะที่ พ.ต.อ.จารุวิทย์ เรืองชัยกิตติพร รอง ผอ.สกส.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยัน การดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกรอบกฎหมาย โดยก็เคารพสิทธิมนุษยชน และพยายามหาแนวทางที่เติมเต็มที่สุดในการอยู่ร่วมกันในฐานะของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กรณีดังกล่าว เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมคือการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าผิดหรือถูก อย่างกรณีการโบกธง BRN ทำไมต้องมีธง BRN ทำไมไม่สามารถควบคุมธง BRN ได้ ซึ่งผู้ทำหน้าที่จัดกิจกรรม ต้องรับผิดชอบการดำเนินการของมวลชนทั้งหมด
ทางด้าน กรรมาธิการการกฎหมายฯ ระบุว่า ยังไม่สามารถชี้ได้ว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีเกินกว่าเหตุหรือไม่ จากนี้กรรมาธิการฯ จะมีข้อสรุปบางประเด็นเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ พร้อมทั้งรับฟังเหตุผลจากคนทุกกลุ่ม เพื่อจัดทำเป็นข้อสรุปต่อไป
“จาตุรนต์” ย้ำ คดีความมั่นคง ทำลายบรรยากาศสันติภาพ
ขณะเดียวกันในวันนี้ มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ และคณะ ยังได้ยื่นหนังสือต่อ จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) ขอให้มีข้อเสนอแนะหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาว่าด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อปิดปากนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม นักกิจกรรม นักศึกษา และนักสื่อสาร ไม่ส่งผลดีต่อการสร้างสันติภาพที่กำลังจะขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และปาตานี
จาตุรนต์ บอกว่า ประเด็นสำคัญต่อกรณีที่เกิดขึ้นคือการดำเนินคดีนักกิจกรรม จะไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งที่ผ่านมากรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลจากหลายภาคส่วน ได้พูดคุยกันในที่ประชุม และได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว ว่า การดำเนินคดีข้อหาความมั่นคงต่อนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหว ที่แสดงความเห็นด้วยวิถีทางสันติวิธี จะไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ
“รัฐบาลเพิ่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขชุดใหม่ที่นำโดยพลเรือน ขณะที่นายกรัฐมนตรี ก็ให้ความสำคัญและแสดงความสนใจกับเรื่องการแก้ปัญหาชายแดนใต้ เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย ก็เข้าพบกับรองนายกฯ พบ กับกรรมาธิการฯ เพื่อให้เห็นถึงขั้นตอน ความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุขที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงเห็นว่าภายใต้บรรยากาศแบบนี้ การดำเนินคดีข้อหาความมั่นคงกับนักกิจกรรมที่ดำนินการอย่างสันติวิธี อาจทำให้เสียบรรยากาศในกระบวนการสร้างสันติภาพ”
จาตุรนต์ ฉายแสง
จาตุรนต์ ยังบอกด้วยว่า ผู้ที่ต้องการให้เกิดความสงบในพื้นที่ มีความเห็นกันอย่างกว้างขวางว่า การส่งเสริมให้มีพื้นที่ทางการเมืองในชายแดนใต้ การสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้มีความเห็นต่างกับรัฐ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความสงบ และแก้ปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้ แต่หากดำเนินการตรงกันข้าม ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดความไม่สงบ บีบคั้นให้เกิดความรุนแรงไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดเลย เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยข้อมูล ข้อเสนอที่ได้รับ กรรมาธิการฯ จะศึกษาเรื่องนี้ เพื่อให้ความเห็น และรวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทำความเข้าใจปัญหาสำคัญในชายแดนใต้ หัวข้อ การสร้างบรรยากาศการเป็นประชาธิปไตย การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การมีกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะทำเป็นข้อเสนอต่อสภาฯ หวังว่าจะช่วยให้การสร้างสันติภาพเกิดผลสำเร็จจริงจัง