“อังคณา” เรียกร้อง ผู้ว่าฯ นราธิวาส คุ้มครองเด็ก

จากเหตุฝึก รด. บาดเจ็บสาหัส ต้องใช้อำนาจ คกก.คุ้มครองเด็ก สอบสวน และคุ้มครองพยาน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ทหาร ชี้เด็กอายุ 15 ปี ฝึก รด. กระทำผิดกฎหมาย 

จากกรณีที่มีนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) หรือ นักเรียน รด. ปีที่ 1 ที่จังหวัดนราธิวาส ล้มป่วยหนัก จนถึงกับต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล ด้วยอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง ไตวายเฉียบพลัน มีภาวะกล้ามเนื้อสลาย ยังคงรักษาตัวอยู่ถึง 23 คน ในจำนวนนี้มีถึง 6 คนที่ต้องฟอกไตหรือล้างไต ซึ่งแพทย์ระบุสาเหตุว่าเกิดจากการฝึกโดยที่ร่างกายเด็กไม่มีความพร้อมต้องเผชิญสภาพอากาศที่ร้อน รวมไปถึงภาวะขาดน้ำด้วย

สำหรับความคืบหน้าทางคดีนั้น ทางมณฑลทหารบกที่ 46 ยืนยันว่ากำลังทำการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ เพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องและเป็นธรรม และการลงโทษจะทำตามข้อเท็จจริงนั้น ยังสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ปกครองของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บ ว่าจะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ เกรงว่าเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะเงียบไป และไม่มีใครได้รับการลงโทษ

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เปิดเผยผ่านการให้สัมภาษณ์สำนักข่าว The Reporter ว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่แสดงความรับผิดชอบครั้งนี้ คือ กระทรวงกลาโหม และกองทัพบก ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด สิ่งที่ทำได้ในระยะสั้นที่สุด คือ การขอโทษจากกระทรวงกลาโหม ควรมีการขอโทษจากกองทัพสู่สาธารณชน และยืนยันว่าจะอำนวยความสะดวกกับผู้เสียหายอย่างไร และต้องระวังการออกมาสื่อสาร ที่อาจทำให้ผู้ปกครองรู้สึกไม่สบายใจด้วย

“ท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ออกมาแถลงว่าเด็กเพียงแค่กล้ามเนื้ออักเสบ ท่านอาจจะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน นี่คือภาวะกล้ามเนื้อสลาย ภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไตทันที การออกมาให้ข้อมูลของหน่วยงานต้องรอบคอบ และระมัดระวังด้วย เรื่องที่มีความร้ายแรง แต่ออกมาทำให้ไม่ร้ายแรง จะกระทบจิตใจของผู้เสียหาย” 

นอกจากนั้น อังคณา ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีของเด็กผู้เสียหาย บางรายมีอายุเพียง 15 ปี เท่านั้น ถือเป็นการทำผิดระเบียบว่าด้วยการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ที่ปรับปรุงระเบียบในช่วงปี 2555 โดยนศท. ที่จะเข้ารับการฝึกได้ ต้องไม่รับเด็กที่มีอายุ 15 ปี ตามข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ  แต่อย่างไรก็ตามการฝึก นศท. นั้น ยังเป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร ปี 2503 ที่ใช้มาอย่างยาวนาน และไม่มีการปรับปรุง ซึ่งควรมองในมิติของสิทธิเด็กมากยิ่งขึ้น

โดยในอดีตนั้น อังคณา ได้เคยทำรายงานวิจัย เรื่อง “ทหารเด็ก” ช่วงปี 2553 – 2554 โดยรวบรวมข้อมูลการรับเด็กเข้ามาเป็น ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาทำหน้าที่ใช้อาวุธ ฝึกฝนยุทธวิธี แม้ยังไม่ถึงขั้นใช้ทำร้ายใคร แต่การเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ของไทยก็ ถือว่าผิดแล้ว 

ในครั้งนั้นรัฐบาลตั้งใจอย่างมาก ที่จะปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว โดยกระทรวงมหาดไทยปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ ต้องให้คนที่มีอายุ 18 ขึ้นไปแล้วเท่านั้นเข้ามาทำหน้าที่ ชรบ. แต่ในส่วนของ นศท. นั้น พบว่าในปัจจุบันจังหวัดชายแดนใต้ มีการเรียน นศท. มากขึ้น เนื่องจากไม่อยากเข้ารับการตรวจคัดเลือกทหารประจำการ เพราะ กระทบต่ออนาคตการเรียนการศึกษา และการทำงาน

“ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมรวม เคยกล่าวไว้ถึงการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร นศท. ให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลง แต่จนถึงตอนนี้ พ.ร.บ. นศท. ปี 2503 ยังไม่มีการพิจารณาปรับปรุงอย่างแท้จริง ควรมีการแก้ไขโดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กมาปรับปรุงด้วย…”

เรียกร้อง “ผู้ว่าฯ นราธิวาส” ออกมาคุ้มครองเด็ก และตั้ง กก.สอบสวน

อังคณา กล่าวต่อว่า กลไกในระดับจังหวัด ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานทหารเท่านั้น “ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส” ต้องออกมาทำหน้าที่คุ้มครองเด็ก และผู้เสียหายด้วย โดยใช้อำนาจของ “คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก” ที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน กรณีเกิดเหตุที่กระทบสิทธิเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี คณะกรรมการชุดนี้ต้องเข้ามาทำหน้าที่ด้วย

“ผู้ว่าฯ ยังไม่ออกมาแสดงท่าทีในการคุ้มครองเด็ก อยากเห็นผู้ว่าฯ มาดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ที่ไม่ควรเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการคุ้มครองพยานด้วย ผู้ว่าฯ ไม่น่าเกรงใจใคร และยึดถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก” 

เนื่องจาก อังคณา มองว่าคณะกรรมการคุ้มครองเด็กนั้น สามารถดำเนินการเรื่องการสอบข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเอง ตามหลักการรัฐต้องแยกเด็กออกมาทันที เมื่อเกิดเหตุกระทบสิทธิ “เป็นหน้าที่ของรัฐ” ที่ต้องเข้ามา ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือให้ความคุ้มครองแก่พยาน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจทำให้ประชาชน สูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐมากขึ้น หากยังไม่เร่งดำเนินการนำความจริง และความเป็นธรรมมาสู่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้องสังเกตจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำเรื่องสิทธิเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ด้วยว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง “ที่ไม่มีองค์ประกอบของทหาร” แต่ต้องมีอำนาจเรียกทหารมาให้ข้อมูลได้ ประกอบการมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สิทธิเด็ก ที่เป็นพลเรือนเข้ามาทำหน้าที่ และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ต้องประเมินผลกระทบร่างกาย และจิตใจ มีการเยียวยาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงต้องดำเนินการทางทหารต่อผู้เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม และประกาศต่อสาธารณะจะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และป้องกันเพื่อให้เกิดความเสียหายลักษณะนี้อีกอย่างไรภายใต้ระบบการทำงานของทหาร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active