เตรียมเปิดคู่มือพื้นที่สร้างสรรค์ปลอดภัย เด็กชายแดนใต้

เครือข่าย LEAP คาด ‘คู่มือสร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัย’ และ ‘เอกสารว่าด้วยสิทธิเด็กในหลักของศาสนาอิสลาม’ จะช่วยลดช่องว่าง “เด็ก-ผู้ใหญ่” ผ่านการเปิดพื้นที่ให้เด็กและชุมชนทำงานร่วมกัน และนำไปสู่กระบวนการสันติภาพที่ยังยืนได้

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 สภาประชาสังคมชายแดนใต้ สมาคมประชาสังคมนราธิวาส และมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย (Save the Children Thailand) ร่วมกับเครือข่ายเด็กและหน่วยงานภาคประชาสังคมกว่า 10 องค์กร ที่ร่วมผลักดันโครงการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและชุมชน เพื่อสนับสนุนส่งเสริมกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ LEAP (Local Engagement to advocate for Peace) ภายใต้ LEAP Network ได้เปิดเผยถึงแนวทางในการส่งเสริมให้เด็กและชุมชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่สร้างสรรค์ และสร้างเครื่องมือเพื่อผลักดันสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย

โดยการทำงานระยะแรก คือการสร้างการปกป้องคุ้มครองเด็กภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมระหว่างเด็กและชุมชนผ่านกลไกการทำงานของหน่วยงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ LEAP มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างความยั่งยืนขององค์กรในการทำงานร่วมกับเด็ก เช่น ความรู้ด้านการจัดการองค์กร ความรู้ด้านการเงินองค์กร เทคนิคการทำงานร่วมกับเด็ก กลไกการปกป้องคุ้มครองเด็ก

ส่วนระยะที่ 2 หนึ่งในเครือข่าย LEAP ระบุว่า จะผลักดันในเชิงนโยบายในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัยให้กับเด็ก กับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่ม คือ 1) หน่วยงานราชการ 2) องค์กรศาสนา และ 3) องค์กรภาคประชาสังคม ด้วยการทดลองรูปแบบของพื้นที่สร้างสรรค์ 15 ชุมชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อีกทั้งให้การสนับสนุนคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการพัฒนายุวนักวิจัยจำนวน 5 กลุ่ม และดำเนินงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมจากเด็กจำนวน 5 ฉบับเพื่อเป็นฐานข้อมูลสนับสนุนการผลักดันเชิงนโยบาย  ด้วยการสร้าง คู่มือการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัย, กติกาว่าด้วยพื้นที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัยระดับจังหวัดนราธิวาส, ข้อเสนอเพื่อการปกป้องและพัฒนาเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้, ข้อปฏิบัติในการสื่อสารเพื่อการปกป้องคุ้มครองเด็กในพื้นที่สื่อออนไลน์ชายแดนใต้ และเอกสารว่าด้วยหลักการสิทธิเด็กในศาสนาอิสลาม

ชายแดนใต้

ฟาเดล หะยียามา เจ้าหน้าที่ Child Protection Coordinator กล่าวว่า ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีผลให้ความสัมพันธ์ของเด็กและชุมชนเป็นสุญญากาศ เด็กและชุมชนไม่มีมนุษยสัมพันธ์กัน การคุ้มครองเด็กในพื้นที่มีความสุ่มเสี่ยง มีปัญหาซับซ้อน รวมถึงเด็กไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกในสังคมที่เขาอยู่ จึงได้มีความพยายามในการให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน รวมถึงสันติวิธี จึงได้ร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อแก้ปัญหา

หนึ่งในข้อค้นพบคือการเริ่มสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่สร้างสรรค์ให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในชุมชน คาดว่าการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัยจะเป็นนโยบายที่ทำให้ชุมชนสามารถทำงานกับเด็กได้ และดำรงไว้ซึ่งสิทธิที่เด็กควรจะได้ และควรมีกระบวนการมีส่วนร่วมที่เด็กควรมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็จะไม่เกิดการละเมิดต่อเด็ก และผู้ใหญ่ไม่ละเมิดเด็กโดยที่ไม่ตั้งใจ

“คาดหวังว่ามันจะถูกยกระดับเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มีรายละเอียดอยู่ในข้อเสนอนั้น และผลักดันต่อไปถึงผู้ที่มีอำนาจอย่างหน่วยงานภาครัฐ ที่จะนำกระบวนการและนโยบายเหล่านี้ไปใช้ และสนับสนุนให้ชุมชนได้ทำงานกับเด็ก เป็นเป้าหมายหลัก”

ฟาเดล กล่าวต่อว่า สถาบันทางศาสนาโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นสถาบันที่มีอิทธิพลต่อชุมชนเป็นอย่างมาก จะเห็นว่า องคาพยพเกือบจะทั้งหมดของชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะยึดโยงกับองค์กรศาสนาแทบทั้งสิ้น แม้กระทั้ง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

“กระทั่งโรงเรียนที่สอนศาสนา เด็กเกือบ 80% ในช่วงอายุ 13-18 ปี อยู่ในโรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนาเกือบ 80% สถาบันทางศาสนามีอิทธิพลต่อประชากรเด็กและผู้ใหญ่สูงมาก เราเลยคิดว่า ถ้าเราสามารถไปคลายความกังวลกับกลุ่มที่ทำงานด้านศาสนา หรือกับกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถาบันทางศาสนา จะช่วยให้เราขับเคลื่อนประเด้นเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น”

ฟาเดล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการสันติภาพค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ ต้องใช้เวลาและใช้กระบวนการมีส่วนร่วมค่อนข้างสูงมาก ไม่สามารถที่จะมีใครคนใดคนหนึ่งทำงานเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แคบ ๆ ได้ และหากต้องใช้เวลานาเป็น 10-20 ปี ก็จำเป็นต้องอาศัยพลังของเด็กในวันนี้เพื่อขับเคลื่อน

“เขามีความรับผิดชอบต่ออนาคตของเขา เขายังมีแรงในการใช้ชีวิต เราเลยคิดว่า การมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมให้เขาสามารถเชื่อมโยงกับสังคมได้ มันสำคัญมาก หากเขาเชื่อมโยงไม่ได้ อะไรดี ๆ ในตัวเขาจะไม่สามารถส่งผ่านเข้าไปยังสังคมได้เลย เรามองว่าสังคมเป็นเกม ๆ หนึ่ง แล้วตอนนี้สังคมผลักดันให้ให้เขาอยู่นอกเกม แม้จะมีความคิดดีแค่ไหม อัจฉริยะขนาดไหน ถ้าเขาไม่อยู่ในเกมเขาก็ไม่สามารถไปต่อได้ เราจึงพยายามสร้างจุดเชื่อมโยงระหว่างตัวเด็กกับเกม ซึ่งเกมที่พูดถึงคือ สังคม ถ้าเมื่อไรก็ตามที่จุดเชื่อมมันเกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาส เราก็เชื่อว่าศักยภาพของเขาก็ไหลเข้าไปสู่เกมเช่นกัน กระบวนการสันติภาพคือส่วนหนึ่งของเกม เราเลย เชื่อว่าสมมติฐานเหล่านี้ อาจนำไปสู่กระบวนการสันติภาพที่ยังยืนได้”

ฟาเดล หะยียามา มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย)

สำหรับชุดเครื่องมือและแนวทางในการผลักดันเชิงนโยบายในการสร้าง พื้นที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัย เกิดขึ้นภายใต้นิยาม พื้นที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก หรือ Child Safe Space (CSS) หมายถึง พื้นที่ ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความปลอดภัย การมีส่วนร่วมและปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ตามกรอบวิถีวัฒนธรรมและบริบทพื้นที่และหลักการสิทธิเด็ก โดยพื้นที่นั้นไม่ได้จำกัดแค่พื้นที่ทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงพื้นที่ในโลกไซเบอร์ โซเชียลมีเดีย และพื้นที่สื่อสารสารสนเทศ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวคาดว่าจะเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

โดยในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 เครือข่าย LEAP จะเดินทางไปแถลงการณ์เจตนารมณ์ต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าจะผลักดันเชิงนโยบาย ที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งระบุว่า จะทำเรื่องนี้ให้เป็นที่ยอมรับของภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ อาทิ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พม.) และกรมกิจการเด็ก เพื่อหาแนวทางการผลักดันให้เป็นนโยบายต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active